เปิดใจ ผอ.สำนักงบ เบื้องหลัง เงินดิจิทัลวอลเล็ต “ใครไม่กลัวติดคุก”

16 มิ.ย. 2567 | 06:26 น.
อัปเดตล่าสุด :16 มิ.ย. 2567 | 07:39 น.

เปิดใจ เฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ก่อนเกษียณอายุราชการ 30 กันยายน 67 เล่าเบื้องหลังหาแหล่งที่มาของ เงินดิจิทัลวอลเล็ต 5 แสนล้าน ลึกสุดใจ หัวอกข้าราชการ "ใครไม่กลัวติดคุก"

KEY

POINTS

  • เปิดใจ เฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ทิ้งทวนภารกิจสุดท้าย ก่อนเกษียณอายุราชการ 30 กันยายน 67
  • เล่าเบื้องหลัง-อินไซด์ หาแหล่งที่มาของเงินดิจิทัลวอลเล็ต 5 แสนล้าน  
  • ลึกสุดใจ หัวอกข้าราชการ สนองนโยบายนักการเมือง "ใครไม่กลัวติดคุก" 

 

เงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท "นโยบายหาเสียง" ของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่มี "เศรษฐา ทวีสิน" เป็น "หัวหน้ารัฐบาล" วงเงินกว่า 5 แสนล้านบาท ยังไม่มีเงินมากองหน้าตักสักบาทเดียว

3 แหล่งเงินงบประมาณที่ผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ-อนุมัติ เป็นเพียง "กรอบวงเงิน" ไม่ใช่เม็ดเงินจริง เพราะต้องผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร ทั้งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 67 วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท และงบประมาณรายจ่ายประจำปี 68 ภายใต้งบกลาง วงเงิน 1.527 แสนล้านบาท 

ยังไม่นับรวม "เงินธ.ก.ส." วงเงิน 1.723 แสนล้านบาท ที่ ณ เวลานี้กระทรวงการคลังยังไม่ได้สอบถามความเห็นในเรื่อง "ข้อกฎหมาย" ไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า "ทำได้" หรือ "ทำไม่ได้"

โครงการจำนำข้าวหลอกหลอน

“เฉลิมพล เพ็ญสูตร” ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ คนใน “บอร์ดเงินดิจิทัลวอลเล็ต” ที่ร่วมหัวจมท้ายนโยบายเรือธงรัฐบาลเศรษฐา ตั้งแต่ day one เปิดใจกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ยอมรับว่า ในช่วงแรกมองไม่ออก นโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทจะเป็นความจริงได้อย่างไร และก่อนหน้าในช่วงหาเสียงของพรรคเพื่อไทยด้วยซ้ำ ถึงความเป็นไปได้ที่จะนำไปสู่การปฏิบัติ

เปิดใจ ผอ.สำนักงบ เบื้องหลัง เงินดิจิทัลวอลเล็ต “ใครไม่กลัวติดคุก”

“ครั้งแรกสุด ผมไม่คิดเรื่องนี้ด้วยซ้ำ ที่พูดตอนหาเสียง ผมคิดว่า ไม่ได้ใช้เงิน ผมคิดว่าเป็นสกุลเงินใหม่ เออ ดี เอาเงินไปซื้อของแล้วทำให้เงินหมุน แล้วเป็นสกุลเงินใหม่ ท้ายสุดค่อยเอามาแลกเงินทีหลัง”ผอ.สำนักงบเล่าย้อนกลับไปในช่วงที่พรรคเพื่อไทยชูเงินดิจิทัลวอลเล็ตหาเสียง-ขายนโยบาย  

เรื่องดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ถ้ามองเร็ว ๆ ผมไม่รู้ว่าจะใช้อย่างไร แต่พอไปมองลึก ๆ ลงไป เยอะๆ คนไม่มีเงิน คนที่มีเงินน้อย เขาอยากได้ทั้งนั้น และถ้าไปลงในละเอียดวิธีใช้ ถ้าทำแล้วไม่ผิดกฎหมาย เงิน 5 แสนล้าน จะเป็น 1.5 ล้านล้าน หมุนสามรอบ สุดท้ายภาษี VAT อย่างน้อยจะได้ 3.5 หมื่นล้านบาทต่อ 1 รอบ ถ้าหมุนสามรอบ อาจจะไม่ถึง 1.5 แสนล้านบาท แต่ 1 แสนล้านบาทน่าจะได้ 

ประกอบกับ "ตราบาป" จากโครงการรับจำนำข้าวที่เป็น "มลทิน" ติดตัวข้าราชการ-นักการเมืองในอดีต จนตามหลอกหลอนมาถึงปัจจุบัน ทำให้ "ข้าราชการซี11" ต้องฉุกคิดหลายตลบ   

“ไม่ใช่ไม่เห็นด้วย แต่ไม่รู้ว่าจะใช้อย่างไร คิดไม่ออก เอ๊ะ ให้ไป 5 แสนล้าน ผมไปคิดอยู่เรื่องหนึ่ง ผมรู้ว่า มันเศรษฐกิจดี แต่เกิดการทุจริต ตอนสมัยจำนำข้าว ใช้เงิน 5-6 แสน เกิดการรั่วไหล แต่ต้องแยกให้ออกระหว่างนโยบายกับการปฏิบัติ ก็ติดคุกกันไปสิ”

เบื้องหลังหาแหล่งที่มาของเงิน

“เฉลิมพล” เล่าเบื้องหลังการหาแหล่งเงินมาทำนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต 5 แสนล้านบาท โดยเฉพาะแหล่งเงินตามมาตรา 28 เช่น “ยืมเงินออมสิน” หรือ "เงิน ธ.ก.ส." จนเกิดกระแสตื่นตระหนกคนแห่ไปถอนเงิน ก่อนตกผลึกที่ 3 แหล่งเงิน ประกอบด้วย 

  • งบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2567 วงเงิน 175,000 ล้านบาท โดยส่วนหนึ่งมาจากงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม 1.22 แสนล้านบาท   
  • เงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณปี 68 ภายใต้งบกลาง "ค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ" วงเงิน 152,700 ล้านบาท 
  • การดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ ตามมาตรา 28 วงเงิน 172,300 ล้านบาท หรือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 

“ผมรู้เลยว่า ใช้ไม่ได้ มีคนค้าน และจะเอาเงินที่ไหนมาทำ 5 แสนล้าน ผมก็พยามยามคิดว่า เอ๊ะ ถ้าไม่ใช้งบประมาณ ทำมาตรา 28 ได้ไหม ให้รัฐจ่ายไปก่อน”

ถ้าเอาเงินธนาคารออมสินมาทำ แล้วค่อยทอยคืนต้นปีละ 1.5 แสนล้านบาท 3 ปีก็หมดแล้ว ออมสินได้ดอกเบี้ย ได้ค่าบริหารจัดการ และไม่ได้ใช้งบประมาณด้วย แค่ขยายเพดานหนี้ตามมาตรา 28 จาก 32 % เป็น 37-38 % ปีเดียวเท่านั้น แต่ธนาคารแห่งประเทศไทย ก็ไม่เอา กฤษฎีกาก็บอกว่า ไม่ใช่หน้าที่ของออมสิน  

จากคนที่ไม่คิดว่านโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ตจะเกิดขึ้นจริง จนเปลี่ยนความคิดเป็นเห็นด้วย ทว่า หน่วยงานที่นั่งอยู่ในวง “บอร์ดดิจิทัลวอลเล็ต” โดยเฉพาะ "แบงก์ชาติ" ยังคงยืนยันเสียงแข็ง “ไม่เห็นด้วย”

"ความเห็นส่วนตัวของผม ก็ต้องให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ทำตามอำนาจหน้าที่ ธ.ก.ส. ให้ไปซื้อก๋วยเตี๋ยว ซื้อสบู่ คงไม่ได้ แต่เขาก็ต้องไปซื้อในเรื่องที่ทำให้ลดต้นทุนการผลิตทางการเกษตร ซื้อปัจจัยการผลิตทางการเกษตร เหมือนโครงการมาตรา 28 โครงการอื่นๆ จำนำราคาสินค้า ประกันราคาสินค้า ไม่ต่างจากแจกไร่ละ 1,000 บาทเพื่อลดต้นทุนการผลิต"  

เกษตรกรเคยมีเงินในกระเป๋า 1,000 บาท แทนที่จะต้องแบ่งไป 500 บาท ไปซื้อปุ๋ย ซื้อยาฆ่าแมลง ซื้อพันธุ์พืช ก็สามารถใช้อย่างอื่นได้ 1,000 บาทเต็ม ๆ เพราะได้เงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทไปแทนแล้ว เพื่อไปใช้ลดต้นทุนการผลิต

"ผมการศึกษาไม่ดี ผมไม่เคยรู้จักท่าน (นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าแบงก็ชาติ) ผมไม่ค่อยรู้จักใคร ผมเป็นคนเรียนหนังสือไม่เก่ง ผมโดดเรียน แต่ผมสอบผ่านทุกวิชา ผมพูดเพราะผมไม่ได้เป็นด็อกเตอร์ ผมเรียนไม่เก่ง ผมคิดแบบบ้าน ๆ ของผม แต่ถ้าคิดเชิงวิชาการ เป็นทฤษฎีโน้น ทฤษฎีนี้ ขออภัย ผมความรู้ไม่มี” 

เปิดใจ เอกสารลั่น นำร้องแจกกลุ่มเปราะบาง

“เฉลิมพล” เปิดใจถึงเอกสารข้อสังเกตของสำนักงบประมาณที่ระบุว่า เงินดิจิทัลวอลเล็ตจะนำไปจ่ายให้ "กลุ่มเปราะบาง" ก่อน กลายเป็นพาดหัวหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ-กดแชร์บนสื่อออนไลน์ทุกแพลตฟอร์ม จนกระทรวงการคลังต้องออกมาสยบข่าว ว่า แจกพร้อมกัน 50 ล้านคนทุกคน-ครั้งเดียว 5 แสนล้านบาท  

สำนักงบประมาณใช้คำว่า "อาจจะ" ซึ่งเป็นเพียงแค่ความเห็นของสำนักงบประมาณเท่านั้น เพราะเราเห็นว่า เงินที่จะนำไปจ่ายในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยเงินดิจิทัลวอลเล็ตมีอยู่หลายก้อน เป็นเหตุผลหนึ่งที่เราต้องตั้งงบประมาณปี 67 เพิ่มเติม จึงมีความจำเป็นต้องจ่ายเนื่องจากงบประมาณในปีถัดไปไม่มีรองรับและปีปัจจุบันไม่เพียงพอ 

“สำนักงบประมาณจึงมองว่า ตามเป้าหมายนั้น แต่เงินก้อนนี้อาจจะจ่ายกับกลุ่มเปราะบางก่อน ใช้คำว่า อาจจะ ไม่ได้บอกว่า ต้องจ่ายกลุ่มเปราะบางก่อน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งของการตั้งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 67 และเป้าหมายของรัฐบาลไม่ได้เปลี่ยนแปลง เหมือนเดิมทุกอย่าง และระยะเวลาการใช้ก็จะใกล้เคียงกัน ไม่ต่างอะไรกันหรอก”

เนื่องจากเป็นงบประมาณปี 67 จึงต้องใช้จ่ายในปีงบประมาณ 67 พูดคำว่า "ใช้จ่าย" ไม่ได้พูดคำว่า "เบิกจ่าย" เพราะใน พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง มาตรา 21 บอกว่า มีความจำเป็นต้องใช้จ่ายในปีงบประมาณ เพราะฉะนั้นคำว่า ใช้จ่ายก็หมายถึง PO บวก เบิกจ่าย ถ้ามีการลงทะเบียนครบถ้วนแล้วก็เท่ากับเป็น PO แล้ว ก็สามารถทำได้ อย่างไรก็ตามสำนักงบประมาณก็จะอนุมัติจัดสรรเงินก่อนสิ้นกันยายน 67 

เปิดใจ ผอ.สำนักงบ เบื้องหลัง เงินดิจิทัลวอลเล็ต “ใครไม่กลัวติดคุก”

ลึกสุดใจข้าราชการ “ใครไม่กลัวติดคุก”

"เฉลิมพล" ตอบคำถามแบบ "ลึกสุดใจ" ในฐานะข้าราชการกังวลหรือไม่ว่า สุดท้ายต้องขึ้นโรงขึ้นศาลเหมือนกับโครงการรับจำนำข้าวที่มีข้าราชการติดคุก?

ผมก็ทำตามอำนาจหน้าที่ ในส่วนของผมก็เป็นกระบวนการงบประมาณ ผมไม่ได้เป็นผู้อนุมัติเงิน ผมเป็นคนทำตามนโยบายของรัฐบาล และผมทำตามข้อกฎหมาย ทุกอย่างตอบได้ทั้งหมด และทั้งหมดนี้จะเข้าสู่การพิจารณาของสภา 

คนที่อนุมัติ คือ สภา ไม่ใช่ผม กระบวนการงบประมาณขอผมอยู่ในขั้นจัดทำ อนุมัติคือฝ่ายนิติบัญญัติ ผมบริหารตามที่ฝ่ายนิติบัญญัติอนุมัติ บริหารและจัดทำตามกฎหมาย ถ้าผมทำผิด ฝ่ายนิติบัญญัติก็ไม่อนุมัติ 

“ถามว่ากลัวไหม ใครไม่กลัวติดคุก คนไม่ได้โกง ไม่ได้กิน”

อีกเพียง 4 เดือน “เฉลิมพล” จะเกษียณอายุราชการ โครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ตจึงเป็น “ภารกิจสุดท้าย” ในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงบ 

"ผมไม่ได้รู้จักใครในรัฐบาล และผมก็ไม่ได้ทำเพราะผมกลัวใคร ผมทำในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชาของท่านนายกรัฐมนตรี และผมก็มองว่า สิ่งที่ได้ คือ ประชาชน และรัฐบาลก็ประกาศกับประชาชนไปแล้ว 
ก็เป็นห่วงอยู่นิดหนึ่งว่าใช้เงินเยอะ และหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น ขาดดุลเพิ่มขึ้น แต่ทุกอย่างอยู่ในกรอบของกฎหมาย และรัฐบาลทำครั้งเดียว ต่อไปรัฐบาลก็มีแผนใช้หนี้ให้ลดลง"

หลังฉากสุญญากาศงบประมาณ-รอยต่อรัฐบาล

ในช่วง "รอยต่อ" ระหว่าง "รัฐบาลเก่า" กับ "รัฐบาลใหม่" ยังไม่มีความแน่นอนว่า พรรคการเมืองใดจะเป็นรัฐบาลและต้องจัดงบประมาณแบบไหนให้ตอบสนองนโยบายพรรคการเมือง ระหว่างนโยบาย "รัฐสวัสดิการ" แบบพรรคก้าวไกล หรือ "ประชานิยม" ของพรรคเพื่อไทย ซึ่งใช้เงินงบประมาณมากพอๆกัน  

“ผมรู้ว่า เป็นไปไม่ได้ เบี้ยอย่างเดียว เข้ามาก็จะรู้ว่า ทำไม่ได้ เข้ามาก็ทำไม่ได้ อย่างเบี้ยผู้สูงอายุ 3,000 บาท ท้ายสุดอาจจะทำได้กับคนจนจริง ๆ ที่มีบัตรสวัสดิการฯ หรือ อาจจะให้ถ้วนหน้าทุกคน คนที่ไม่มีบัตรสวัสดิการฯ ก็รับอัตราเดิมไป หรืออาจจะเพิ่มขึ้นแต่ไม่มาก แต่ท้ายที่สุดก็ไม่มีเงินพอจ่ายหรอก”  

มิหนำซ้ำยังต้องเตรียมพร้อมกับการต้องรื้องบประมาณปี 67 ใหม่ และยังต้องจัดทำงบประมาณปี 68 - งบประมาณสองปีซ้อน ช่วงนั้น “เฉลิมพล” ยอมรับว่า “เหนื่อยมาก” ต้องปรับวิธีการทำงาน

“พยายามเอาหลัก เอาข้อกฎหมายมาจับ ไม่เอาความรู้สึกตัวเองมาจับ ทำให้ทุกคนเตรียมความพร้อมในการตอบและอธิบายไปอย่างมีระบบมากขึ้น”

“ผอ.สำนักงบ” บอกเคล็ดลับการหั่นงบประมาณของหน่วยงานที่เสนอขอมาแต่ละปีให้ลงกรอบวงเงินงบประมาณ ว่า ในปี 68 มีคำขอมา 6.5 ล้านล้านบาท ต้องเอาออก 2.8 ล้านล้านบาท เพื่อตั้งได้ตามกรอบงบประมาณที่ให้มา 3.752 ล้านล้านบาท 

“เราใช้หมดอยู่แล้ว งบประมาณแบบฐานศูนย์ เราไม่ได้ดูว่า ปีนี้ได้ 100 ปีหน้าเอาไป 105 เราพิจารณาถึงเหตุผลและความจำเป็นของแต่ละโครงการที่เสนอมาใหม่ทุกครั้ง ว่า ทำแล้วได้ประโยชน์อะไร เป็นนโยบายของรัฐบาลหรือไม่ ถ้าไม่ใช่ก็ลดความสำคัญลง เพื่อเอาไปให้โครงการที่ตรงกับนโยบาย”

เราดูประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณ มีกองประเมินผลที่มีการตรวจสอบผลการใช้จ่ายงบประมาณ ผลการก่อหนี้ผู้พัน ผลการโอนเปลี่ยนแปลง พฤติกรรมของแต่ละหน่วยงานในการใช้จ่ายงบประมาณ เราเอามาทำสูตร คำนวณประสิทธิภาพออกมาเป็นเปอร์เซ็นต์ มีข้อมูลทุกหน่วยรับงบประมาณที่กองประเมินผล 

“ใครมาบอกว่า ได้รับงบประมาณน้อย สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณให้น้อย ผมสามารถเอาประสิทธิภาพให้ดูได้”

สำนักงบประมาณยังมาทบทวนโครงการว่า สำคัญต่อไปหรือไม่ ถ้าไม่สำคัญเราก็จะลดความสำคัญลงทันที ท้ายสุดจะมาเติมเงินสิ่งที่ตรงกับนโยบายของรัฐบาลให้มากขึ้น  

เทียบ 2 นายกฯ ใช้เงินเยอะทั้งคู่ 

เป็น "ลูกหม้อสำนักงบ" ทำงานคลุกคลีมาแล้วหลายรัฐบาล ก่อนจะขึ้นมาเป็น “ผู้อำนวยการสำนักงบคนที่ 20” ทำงานใกล้ชิดกับ 2 นายกรัฐมนตรีต่างที่มา-ต่างความคิด

“ผมเป็นผู้อำนวยการสองท่านนายกฯ ท่านนายกฯทุกคนตั้งใจทำงานเพื่อประเทศชาติจริง ๆ เพราะผมไม่ไปคิดว่า ผมเป็นคนรู้ทันว่าเขาคิดอย่างไร ผมมองแต่สิ่งที่ผมทำแล้ว ผมรู้ว่าประชาชนได้อะไร ผมไม่รู้หรอกว่าจะมีผลประโยชน์อะไร ผมไม่ใช่คิดไม่เป็น แต่ผมไม่คิด เพราะผมเห็นชัดว่า สิ่งที่เขาทำ ผมเห็น out come จริง ๆ ว่าประชาชนได้อะไร”  

คนหนึ่งเป็น “นายกฯนายพล” ยึดขนบราชการ-รักษาวินัยทางการเงินการคลังเคร่งครัด อีกคนหนึ่งเป็น “นายกฯเซลส์แมน” หัวนักธุรกิจ ทุกบาททุกสตางค์ใส่ลงไปแล้วต้องไม่ขาดทุน-หวังผล 

ถาม “ผอ.สำนักงบ” ทำงานอยู่กับนายกฯ ถึง 2 คน นายกฯคนไหนใช้เงินแผ่นดินคุ้มค่าภาษีประชาชนมากที่สุด ในฐานะที่ต้องหั่นงบประมาณที่เป็นภาระงบประมาณ-ไม่ให้เข้าเนื้อท้องพระคลัง เขาจึงตอบทันควัน “ใช้เยอะทั้งคู่” 

“คนก่อนใช้เงินเยอะกว่า เพราะต้องแก้ปัญหาโควิด-19 แต่ก็พาประเทศไปได้และเป็นที่รักของประชาชนได้ในระดับหนึ่ง ส่วนนายกฯคนนี้ยังไม่เห็นผล แต่หลายคนพยายามห้ามไม่ให้ทำ แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าดีหรือไม่ดี ทุกคนบอกทำไม่ได้ เขาจะเสนออะไร ก็มีบางหน่วยงานปฏิเสธ ไม่ได้หมด ยังไม่ได้พูดอะไรเยอะแยะเลย” 

"เฉลิมพล" ทิ้งท้ายการให้สัมภาษณ์บนตึกชั้น 30 สำนักงบประมาณแห่งใหม่ ปากซอยพหลโยธิน 3 ก่อนกล่าวลา

"ผมทำงานในหน้าที่นี้ ไม่ได้เอาความรู้สึกส่วนตัวมาทำ ผมเอาสิ่งที่สัมผัสได้และเข้าใจอย่างมีเหตุผลตามกฎหมาย โดยคำนึงถึงสิ่งที่ประชาชนจะได้รับ"