ไม่บ่อยนักที่จะมีคดีทางการเมืองถึง 4 คดี มาให้ได้ลุ้นในเวลาเดียวกัน แต่ในปี 2567 ณ เดือน มิ.ย. - ส.ค.นี้ จะมีคดีสำคัญให้ต้อง “นับถอยหลัง” ซึ่งล้วนมีผลกระทบต่อการเมืองไทย
แยกเป็น 3 คดีอยู่ในมือ “ศาลรัฐธรรมนูญ” และ 1 คดีกำลังจะเข้าไปสู่ระบบของ “ศาลอาญา”
18 มิ.ย. ชี้ขาดกฎหมาย สว.
ปรากฏการณ์ทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นและน่าสนใจ เริ่มจากคดีที่อยู่ใน “ศาลรัฐธรรมนูญ” ซึ่งจะมีคำวินิจฉัยออกมาในวันอังคารที่ 18 มิ.ย. 2567 นั่นคือ คดีที่ศาลปกครองกลางส่งคำโต้แย้งผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา (สว.) รวม 2 คำร้อง มาขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 ว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 มาตรา 36 มาตรา 40 มาตรา 41 และมาตรา 42 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 หรือไม่
โดยคดีนี้ศาลเห็นว่า เป็นปัญหาข้อกฎหมาย และมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวน และกำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติในวันอังคารที่ 18 มิ.ย. เวลา 19.30 น.
สำหรับแนวทางของศาลที่จะวินิจฉัยออกมามีได้ 3 แนวทางคือ
1.ทั้ง 4 มาตรา “ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ” อันจะทำให้การเลือก สว.ระดับประเทศ วันที่ 26 มิ.ย. เดินหน้าต่อไปได้ และได้ ส.ว. 200 คน สำรองอีก 100 คน ตามไทม์ไลน์ 2 ก.ค. 2567
2. ทั้ง 4 มาตรา “ขัดรัฐธรรมนูญ”
และ 3. มาตราใดมาตราหนึ่ง “ขัดรัฐธรรมนูญ”
หากผลออกมาอย่างใดอย่างหนึ่ง อาจจะเป็น “สารตั้งต้น” นำไปสู่การ “ฟ้องร้อง” ให้การ เลือก สว. ที่เกิดขึ้นเป็น “โมฆะ” ได้
ขณะเดียวกัน จะนำไปสู่การแก้ไข พ.ร.ป.การได้มาซึ่ง สว. ในมาตราที่เป็นปัญหา ซึ่งอาจจะใช้เวลานานพอสมควร และจะทำให้ “สว.ชุดปัจจุบัน” อยู่รักษาการต่อไปอีกนาน
ลุ้นวันไต่สวนคดียุบก้าวไกล
คดีที่ 2 เป็นคดี “ยุบพรรคก้าวไกล” ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้วินิจฉัย จากกรณีการเสนอนโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และศาลได้วินิจฉัยไปแล้วว่า มีกระทำการล้มล้างการปกครองฯ และเข้าลักษณะกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองฯ
กกต.ยังได้ขอให้ศาลเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรค และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง 10 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งยุบพรรค
โดยศาลได้มีคำสั่งให้ กกต. ยื่นบัญชีระบุพยานหลักฐาน ภายในวันที่ 17 มิ.ย. และกำหนดนัดพิจารณาต่อไปในวันที่ 18 มิ.ย. ซึ่งคาดว่าในวันดังกล่าว จะได้ทราบว่าศาลจะเปิดบัลลังก์ไต่สวนพยานหรือไม่ ในวันใด
คดีนี้หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า พรรคก้าวไกล “ไม่น่ารอด” และหากถูกยุบพรรคจริง จะนำไปสู่การตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล ที่ดำรงตำแหน่งในช่วงที่มีพฤติการณ์ตามข้อกล่าวหา ประมาณ 11 คน ซึ่งมีทั้ง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และ ชัยธวัช ตุลาธน รวมอยู่ด้วย
ที่สำคัญจะเป็น “สารตั้งต้น” อีกดอก ที่จะไปยื่นต่อ ป.ป.ช.ให้เอาผิดจริยธรรมกับ ส.ส. 44 คน ที่ร่วมลงชื่อเสนอแก้ไข ม.112
จ่อไต่สวนปมถอดถอนนายกฯ
เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. ที่ผ่านมา “ศาลรัฐธรรมนูญ” ยังได้พิจารณากรณีประธานวุฒิสภาส่งคำร้องของ 40 สว. ขอให้วินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ นายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญหรือไม่
ศาลมีคำสั่งให้ “คู่กรณี” ยื่นบัญชีระบุพยานหลักฐานต่อศาลภายในวันที่ 17 มิ.ย. พร้อมกำหนดนัดพิจารณาต่อไปในวันที่ 18 มิ.ย. คาดว่าวันดังกล่าว จะได้ทราบว่าศาลจะเปิดบัลลังก์ไต่สวนพยานหรือไม่ ในวันใด
คดีนี้ ถ้า “เศรษฐา ทวีสิน” หลุดจากตำหน่งนายกฯ คนที่ 30 จะส่งผลให้ “ครม.” ไปทั้งคณะ ต้องเลือกนายกฯ ใหม่ ในสภาฯ ส่วนจะมีการเขย่าพรรคร่วมรัฐบาลเกิดขึ้นหรือไม่ ต้องรอดูกันต่อไป
นัดทักษิณส่งฟ้องศาลคดีม.112
ไปต่อกันที่คดีสุดท้าย ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 18 มิ.ย. เช่นกัน คือ คดีที่อัยการสูงสุด (อสส.) สั่งฟ้อง ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
กรณีให้สัมภาษณ์สื่อเกาหลีใต้ เมื่อปี 2558 โดยมีเนื้อหาพาดพิงสถาบัน ซึ่งอัยการนัดหมายนำตัวทักษิณ ส่งฟ้องศาลอาญา
โดยเมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2567 ทีมกฎหมายของนายทักษิณ ได้ยื่นคำร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการ โดยท้าวความว่า คณะกรรมการสอบสวนขณะนั้นถูกข่มขู่จากรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) จนขาดความเป็นอิสระในการรวบรวมพยานหลักฐานทางคดี ทำให้ ทักษิณ ไม่ได้รับความเป็นธรรมการพิจารณาสั่งคดี จึงขอให้ทบทวนใหม่อีกครั้ง เพื่อความยุติธรรม
วันที่ 18 มิ.ย.นี้ หาก ทักษิณ ไปพบอัยการ และนำตัวส่งฟ้องศาลอาญา ต้องลุ้นว่า ศาลจะให้ประกันตัวหรือไม่
ต้องยอมรับว่า ทักษิณ เป็นผู้มีบารมีที่อยู่เบื้องหลังพรรคเพื่อไทย หากต้องถูก “จองจำ” อีกครั้ง ย่อมมีผลกระทบกระเทือนต่อรัฐบาลปัจจุบันแน่นอน...