เปิดกฎเหล็ก ปรับครม.แพทองธาร รัฐธรรมนูญทุกมาตรา-มาตรฐานจริยธรรมต้องห้าม

19 ส.ค. 2567 | 06:04 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ส.ค. 2567 | 07:58 น.

เปิดกฎเหล็กรัฐธรรมนูญทุกมาตรา-มาตรฐานจริยธรรมต้องห้าม ปรับครม.แพทองธาร หลังศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัย-วางบรรทัดฐาน คดีถอดถอนเศรษฐา พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

เอฟเฟ็กต์จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ “เศรษฐา ทวีสิน” พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ปมจริยธรรม กรณีตั้ง “พิชิต ชื่นบาน” เป็นรัฐมนตรี ส่งผลกระเทือนรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำอย่างร้ายแรง ถึงขั้นต้องเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี 

เปิดกฎเหล็ก ปรับครม.แพทองธาร รัฐธรรมนูญทุกมาตรา-มาตรฐานจริยธรรมต้องห้าม

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญกลายเป็น “บรรทัดฐาน” กำกับนายกรัฐมนตรี ในการคัดสรรบุคคลให้เข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีนับจากนี้ รวมถึง “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี คนที่ 31 ที่กำลังฟอร์ม “ครม.แพทองธาร1”

หากแกะรอยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 21/2567 ให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีของนายเศรษฐา สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) 

รวมถึงกฎเหล็กของรัฐธรรมนูญมาตราอื่น ๆ ที่นายกรัฐมนตรีผู้เสนอชื่อบุคคลให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ดังนี้  

กฎหมายรัฐธรรมนูญ

มาตรา 160 

  • มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
  • มีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี
  • สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า 
  • รัฐมนตรีต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ 
  • ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง 
  • ไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท 

มาตรา 98 

  • ติดยาเสพติด 
  • เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต 
  • เป็นเจ้าหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ 
  • อยู่ระหว่างถูกระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราวหรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
  • ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล
  • เคยได้รับโทษจำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงสิบปีนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
  • เคยถูกสั่งให้พันจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่หรือถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ 
  • เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอันถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน เพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก เพราะกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 
  • เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่า กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทำความผิดต่อกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์สินที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน

กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า กฎหมายว่าด้วยการพนันในความผิดฐานเป็นเจ้ามือหรือเจ้าสำนักกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในความผิดฐานฟอกเงิน 

  • เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่า กระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง
  • เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำนอกจากข้าราชการการเมือง
  • เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น 
  • เป็นสมาชิกวุฒิสภาหรือเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกภาพสิ้นสุดลงยังไม่เกิน 2 ปี 
  • เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ 
  • เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ 
  • อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

มาตรา 144

  • เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุแปรญัตติ เปลี่ยนแปลง หรือแก้ไขเพิ่มเติมรายการหรือจำนวนในรายการร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม และร่างพ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย 

มาตรา 235 วรรคสาม

  • ศาลฏีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองประทับรับฟ้องให้ผู้ถูกกล่าวหาหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำพิพากษา เว้นแต่ศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น 

มาตรา 96 เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามไม่ให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ดังนี้ 

  • เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช 
  • อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่
  • วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ  

มาตรา 186 ไม่เป็นผู้เคยพ้นจากตำแหน่ง เพราะเหตุกระทำการอันเป็นการต้องห้ามมาแล้วยังไม่ถึง 2 ปีนับถึงวันแต่งตั้ง ดังนี้  

  • ไม่ดำรงตำแหน่งหรือหน้าที่ใดในหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ หรือตำแหน่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
  • ไม่รับหรือแทรกแซง หรือก้าวก่ายการเข้ารับสัมปทานจากรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเข้าเป็นคู่สัญญากับรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจอันมีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอน

หรือเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัที่รับสัมปทานหรือเข้าเป็นคู่สัญญาในลักษณะดังกล่าว ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม

  • ไม่รับเงินหรือประโยชน์ใด ๆ จากหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเป็นพิเศษ นอกเหนือไปจากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจปฏิบัติต่อบุคคลอื่น ๆ ในธุรกิจการงานปกติ 
  • ไม่กระทำการใด ๆ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม อันเป็นการขัดขวางหรือแทรกแซงการใช้สิทธิ หรือสื่อมวลชนโดยมิชอบ  

มาตรา 187 ไม่เป็นผู้เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะกระทำการอันเป็นการต้องห้าม มาแล้วยังไม่ถึง 2 ปีนับถึงวันแต่งตั้ง ดังนี้

  • ต้องไม่เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท หรือไม่คงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทต่อไปเกิน 5 %   
     

มาตรฐานจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ 256

  • ข้อ 7 ต้องถือประโยชน์ของประเทศชาติเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตน 
  • ข้อ 8 ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยตนเองและผู้อื่น หรือมีพฤติการณ์ที่รู้เห็นหรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ
  • ข้อ 11 ไม่กระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ส่วนรวม ทั้งนี้ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
  • ข้อ 17 ไม่กระทำการใดที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์การดำรงตำแหน่ง 
  • ข้อ 19 ไม่คบหาสมาคมกับคู่กรณี ผู้ประพฤติผิดกฎหมาย ผู้มีอิทธิพล หรือผู้มีความประพฤติ หรือผู้มีชื่อเสียงในทางเสื่อมเสียอันอาจกระทบกระเทือนต่อความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนในการปฏิบัติหน้าที่

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมญ

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในกิจการที่ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ 3 ประการ 

  • ความรับผิดชอบในความถูกต้องตามแบบพิธีหรือกระบวนการได้มาโดยถูกต้องและสมบูรณ์
  • ความรับผิดชอบในข้อความเอกสารที่นำขึ้นกล่าวบังคมทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย
  • ความรับผิดชอบในสารัตถะที่ถูกต้องและความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายในการบริหารราชการแผ่นดิน 

ทั้งนี้ “จุดใหญ่” ที่อยู่ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่เป็น “จุดดับ” ของนายเศรษฐาที่ทำให้ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมานตรี คือ การยินยอมให้ “ผู้อื่น” ใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยคำวินิจฉัยระบุว่า 

“เป็นพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าผู้ถูกร้องที่ 1 (นายเศรษฐา) ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์และฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง รวมถึงรู้เห็นหรือยินยอมให้ผู้ถูกร้องที่ 2 (นายพิชิต) หรือ ผู้อื่น ใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องที่ 1 ให้ได้ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีโดยมิชอบ เป็นการกระทำที่ถือเอาประโยชน์ส่วนตนเหนือกว่าประโยชน์ของประเทศชาติ และเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตน กับประโยชน์ส่วนรวม ทั้งนี้ไม่ว่าโดยทางตรง หรือทางอ้อม”