วันนี้ (17 กันยายน 2567) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงความคืบหน้าการยกร่างแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญรายมาตราเกี่ยวกับประเด็นจริยธรรม และความซื่อสัตย์สุจริต ว่า ขณะนี้พรรคเพื่อไทยเป็นเจ้าภาพ กำลังยกร่างอยู่ เข้าใจว่าใกล้จะเสร็จแล้ว โดยการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญคิดว่าเร็วที่สุดอาจจะภายในสัปดาห์หน้า โดยการดำเนินการจะทำในนามพรรคการเมืองไม่ใช่รัฐบาล
ทั้งนี้ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมีทั้งหมด 4-5 มาตรา โดยจะกำหนดกรอบกฎหมายให้มีความชัดเจน ไม่ต้องตีความอะไรมาก ขณะที่ฝ่ายค้านก็กำลังพิจารณายกร่างกฎหมายเรื่องนี้เช่นกัน โดยแต่ละพรรคจะต่างคนต่างยื่นร่างเข้าสภาแล้วจึงไปว่ากันในการพิจารณาของรัฐสภา
“สมมติว่าคุณอ่านรัฐธรรมนูญ ไม่มีพฤติกรรม ฝ่าฝืนประมวลจริยธรรมอย่างร้ายแรง ซึ่งไม่ทราบว่าตีความอย่างไร จึงอยากกำหนดให้หากใครถูกร้องหรือระหว่างถูกฟ้องในชั้นศาลว่าฝ่าฝืนจริยธรรม ซึ่งจะทำให้การตีความชัดเจนขึ้น” นายชูศักดิ์ กล่าว
ทั้งนี้หากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รับเรื่องร้องเรียนหรือชี้มูลว่าฝ่าฝืนจริยธรรมแล้ว จะถือว่ายังไม่มีความผิดใช่หรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ใช่ เพราะการร้องไปที่ ป.ป.ช. ยังไม่รู้ว่ามีความผิดแล้วหรือยัง ดังนั้น ถ้าจะสกัดกั้นคนด้วยวิธีการนี้ก็เป็นเรื่องง่าย คือมีคนไปร้องป.ป.ช. ทำให้คนที่ถูกร้องได้รับผลกระทบและจบเลย
เมื่อถามว่า แสดงว่าเส้นตัดที่จะพิจารณาว่าใครเข้าข่ายขัดจริยธรรมหรือไม่ซื่อสัตย์สุจริต คือศาลฎีกาต้องรับฟ้องในคดีจริยธรรมใช่หรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า เราคิดเช่นนั้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนขึ้น
เมื่อถามว่า มองอย่างไรที่สังคมมองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้นักการเมืองเป็นฝ่ายที่ได้ประโยชน์ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า คิดว่าเราไม่ได้ประโยชน์อะไร และเราก็ระมัดระวังไม่ให้เป็นการแก้เพื่อประโยชน์ตัวเอง
ดังนั้นพรรคเพื่อไทย จึงขอแก้แค่พอดี ๆ ให้มีเกณฑ์มาตรฐานรับได้ ไม่ใช่เราไปยกเลิกเขาทั้งหมด และต้องการแก้ไขให้เกิดความชัดเจน ทำให้การปฏิบัติหน้าที่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และป้องกันไม่ให้การบริหารประเทศลำบาก ซึ่งเรามองว่ามีความจำเป็นไม่ใช่ทำเพื่อให้เราได้รับประโยชน์ และเพื่อให้บ้านเมืองมีกฎหมายที่เป็นธรรมยุติธรรมมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่
ขณะที่การแก้ไขประเด็นเสียงข้างมากของรัฐธรรมนูญในการลงมติเรื่องสำคัญ เช่นการยุบพรรคหรือเอาคนออกจากตำแหน่ง จะต้องใช้เสียงข้างมากเด็ดขาด แทนการใช้มติเสียงข้างมากธรรมดา นายชูศักดิ์ กล่าวว่า เรื่องนี้จะเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราเช่นกัน โดยความคิดเรื่องสำคัญใหญ่ ๆ ใช้เสียงข้างมากธรรมดาทั่วไป
“ตัวอย่างกรณีของนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ที่พ้นจากตำแหน่งด้วยมติศาลรัฐธรรมนูญ 5-4 เสียง ซึ่งเราก็ใช้วิจารณญาณคิดดูว่าเรื่องใหญ่แบบนี้ควรหรือไม่ จึงมีแนวความคิดว่าให้มติมากขึ้นหน่อยดีหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ กับเรื่องจริยธรรม ให้ชัดเจน จะทำไปพร้อมกัน”
ส่วนการแก้ไขกฎหมายเพื่อเอาผิดนักร้องนักยื่นตรวจสอบนั้น มีกฎหมายอยู่แล้ว ส่วนจะทำให้เข้มขึ้นหรือไม่ก็ต้องมีการพิจารณาต่อไป โดยเฉพาะกลุ่มนักร้องที่หวังผลทางการเมือง แต่ขอยืนยันว่าขณะนี้มีกฎหมายควบคุมเรื่องนี้อยู่แล้ว