นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี และโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “เสียงจากใจ ไทยคู่ฟ้า” ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์ หลัง ครม.เห็นชอบเรื่องการให้สัญชาติไทยกับกลุ่มตกสำรวจในประเทศไทย ว่า ในอดีตคนอพยพ ทั้งคนจีนอพยพ หรือจีนโพ้นทะเล เข้ามาในไทยเมื่อ 50-60 ปีที่แล้ว
นอกจากนั้นยังมีเรฟูจี เช่น ไซง่อนอพยพ อินเดียอพยพมาตั้งถิ่นฐาน มีลูกหลาน และได้ลงทะเบียนขอรับสัญชาติไทย ไม่น้อยว่า 10 ล้านคน ทางสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) จึงเสนอเรื่องนี้เพื่อลดขั้นตอนและแก้ปัญหาที่คนกลุ่มนี้รอคอยเป็นเวลานาน
โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก คือกลุ่มที่อพยพและชาติพันธุ์ ที่มีใบสำคัญถิ่นที่อยู่ กว่า 3.5 แสนคน ที่อยู่ชายขอบทุกภาคของไทย ที่ลงทะเบียนมาแล้วเป็นเวลานาน เข้าขั้นตอนการแปลงสัญชาติแล้ว มีเลขประจำตัว 13 หลัก แต่ไม่ได้รับสัญชาติ กลุ่มนี้กระทรวงมหาดไทยต้องออกประกาศออกมา โดยมีเงื่อนไขว่าเมื่อรับสัญชาติไทยแล้ว จะไม่มีสิทธิทางการเมือง ไม่สามารถลงคะแนนเลือกตั้งได้ ไม่สามารถลงสมัครทางการเมืองเช่น สส.ได้
กลุ่ม 2 คือลูกหลานของกลุ่มแรกกว่าแสนคน ซึ่งรัฐบาลพิสูจน์และอยู่ระหว่างทยอยให้สัญชาติไทย กลุ่มนี้เกิดในประเทศไทย ได้สัญชาติไทยโดยกำเนิด มีการลงทะเบียนแล้ว ตั้งแต่ปี 2535-2566 แต่ได้รับสัญชาติไทย ปีละประมาณ 1 หมื่นคน หากใช้ขั้นตอนเดิมจะใช้เวลา 44 ปี ถึงจะทำจบ
“ทั้งหมดเป็นการแก้ปัญหาความล่าช้า ยืนยันว่าการเมืองไม่เกี่ยวข้อง และเมื่อได้สัญชาติไทยแล้ว จะรู้ว่าคนเหล่านี้มีแหล่งที่อยู่ที่ไหน ประกอบอาชีพอะไรฯ ขออย่ากังวลเรื่องกลุ่มเทา ที่จะมาภายหลังจากช่วงปีที่ระบุไว้ จะแอบเข้ามาภายหลัง เพราะไม่สามารถขอสัญชาติได้ เพราะจะมีขั้นตอนตรวจสอบย้อนประวัติการลงทะเบียน เป็นไปตามเงื่อนไขหรือไม่”