หนังสืออุทธรณ์ฉบับเต็ม รฟท. ยก“คำพิพากษาศาลฎีกา” ยืนยันสิทธิ์เขากระโดง(2)

14 พ.ย. 2567 | 22:39 น.
อัปเดตล่าสุด :15 พ.ย. 2567 | 09:18 น.

เปิดหนังสืออุทธรณ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. ที่ยื่นคัดค้านกรมที่ดิน โดยตอนหนึ่ง ได้ยก “คำพิพากษาศาลฎีกา” พร้อมหลักฐานประวัติศาสตร์ย้อนหลัง 90 ปี ตั้งแต่ "การปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์" ยืนยันกรรมสิทธิ์ที่ดินเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์

อ่านต่อฉบับเต็ม(2) “หนังสืออุทธรณ์” ที่ นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ส่งถึง “อธิบดีกรมที่ดิน” กรณีคดีที่ดินเขากระโดง เมื่อ 14 พ.ย. 2567 ซึ่งหนังสือมีทั้งหมดจำนวน 20 หน้า 

โดยเนื้อหาหนังสืออุทธรณ์ของรฟท.ฉบับดังกล่าว ท่อนหนึ่งได้ระบุถึง "คำพิพากษาของศาลฎีกา" เพื่อยืนยันกรรมสิทธิ์ที่ดินเขากระโดงของการรถไฟฯว่า 

หนังสืออุทธรณ์ฉบับเต็ม รฟท. ยก“คำพิพากษาศาลฎีกา” ยืนยันสิทธิ์เขากระโดง(2)

1.2 ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ปรากฏตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 842-876/2560 และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8027/2561 สรุปความได้ว่า จากแผนที่แสดงเขตที่ดินของกรมรถไฟแผ่นดินสายนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ตอนที่แยกออกจากเส้นทางแยกเขากระโดงใช้เป็นเส้นทางลำเลียงหินหรือศิลาที่ย่อยในพื้นที่เขากระโดง เพื่อนำหินไปใช้ก่อสร้างในทางรถไฟสายหลักในเส้นทางดังกล่าว

 

ซึ่งทางรถไฟที่แยกออกอยู่บริเวณกิโลเมตรที่ 375+650 มีความยาวแยกออกไป 8 กิโลเมตร การรถไฟแห่งประเทศไทย เข้าครอบครองถือกรรมสิทธิ์ในครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2462 ขณะนั้นประเทศไทยใช้ระบบการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

หนังสืออุทธรณ์ฉบับเต็ม รฟท. ยก“คำพิพากษาศาลฎีกา” ยืนยันสิทธิ์เขากระโดง(2)

ซึ่งที่ดินทั้งหมดรวมทั้งที่ดินในบริเวณพิพาทข้างต้นเป็นของพระมหากษัตริย์ (รัชกาลที่ 6) การรถไฟแห่งประเทศไทยได้เข้าครอบครองและใช้ประโยชน์ก่อนเกิดเหตุคดีนี้นานกว่า 90 ปี จึงเชื่อว่าที่ดินตามแผนที่ซึ่งมีความยาว 8 กิโลเมตร และความกว้างตามที่ระบุในแผนที่ คิดเป็นพื้นที่ 5,083 ไร่ 80 ตารางวา เป็นที่ดินที่ข้าหลวงพิเศษซึ่งเคยได้รับแต่งตั้งตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตสร้างทางรถไฟหลวงต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2462

 

ดำเนินการสำรวจและวางแนวการก่อสร้างทางรถไฟเพื่อเข้าไปลำเลียงหินที่บริเวณเขากระโดงและบ้านตะโก และดำเนินการจัดซื้อที่ดินในช่วง 4 กิโลเมตรแรก อันเป็นบริเวณที่มีเจ้าของรวม 18 ราย และเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินในช่วง 4 กิโลเมตรหลัง อันเป็นบริเวณที่ไม่มีเจ้าของและเป็นแหล่งหินที่ใช้ในการก่อสร้างทางรถไฟ

สำหรับการเข้าครอบครองที่ดิน 4 กิโลเมตรแรกนั้น ปรากฏว่ารายชื่อเจ้าของที่ดินทั้ง 18 รายที่ระบุในแผนที่ตรงกับรายชื่อเจ้าของที่ดินที่ลงลายมือชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วมือรับเงินค่าทำขวัญในใบสำคัญแสดงรายละเอียดแห่งค่าทำขวัญสำหรับทรัพย์ทุกประเภทที่กรมรถไฟแผ่นดินได้จัดซื้อใช้เพื่อประโยชน์รถไฟ ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2467

หนังสืออุทธรณ์ฉบับเต็ม รฟท. ยก“คำพิพากษาศาลฎีกา” ยืนยันสิทธิ์เขากระโดง(2)

และการที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตสร้างทางรถไฟหลวงฯ ระบุว่า ในช่วงเวลาสองปีที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตสร้างทางรถไฟหลวงฯ ห้ามมิให้ผู้ใดเข้าจับจองที่ดินซึ่งเป็นที่ว่างไม่มีเจ้าของ ย่อมเป็นการแสดงให้เห็นว่า ข้าหลวงพิเศษที่ได้รับการแต่งตั้งตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว และกรมรถไฟแผ่นดินมีอำนาจกำหนดพื้นที่ซึ่งเป็นที่ว่างเปล่าไม่มีเจ้าของเป็นที่หวงห้ามไว้เพื่อประโยชน์ในการก่อสร้างทางรถไฟได้

ข้าหลวงพิเศษและกรมรถไฟแผ่นดินจึงมีอำนาจเข้ายึดถือที่ดินที่ไม่มีเจ้าของในช่วง 4 กิโลเมตรหลังถัดไปด้วย

ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่ดินตามแผนที่แสดงเขตที่ดินของกรมรถไฟแผ่นดินสายนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ตอนแยกที่ย่อยศิลา ตำบลเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ กิโลเมตรที่ 375+650 เป็นส่วนหนึ่งของพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตสร้างทางรถไฟต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2462

หนังสืออุทธรณ์ฉบับเต็ม รฟท. ยก“คำพิพากษาศาลฎีกา” ยืนยันสิทธิ์เขากระโดง(2)

เมื่อกรมรถไฟแผ่นดินใช้ประโยชน์ในที่ดินโดยการก่อสร้างทางรถไฟเข้าไปลำเลียงหินที่บริเวณเขากระโดง และบ้านตะโก ทั้งยังใช้เป็นแหล่งวัสดุสำหรับการก่อสร้างทางรถไฟสายนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ย่อมถือได้ว่าที่ดินตามแผนที่แสดงเขตที่ดินของกรมรถไฟแผ่นดินดังกล่าวเป็นที่ดินที่จัดหามาเพื่อใช้ในกิจการรถไฟโดยชอบด้วยกฎหมาย

อยู่ในความหมายของคำว่า "ที่ดินรถไฟ" ตามมาตรา 3(2) แห่งพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟและทางหลวง พระพุทธศักราช 2464 ที่มีผลบังคับใช้อยู่ในเวลานั้น ย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของกรมรถไฟแผ่นดินตามมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว