รฟท.ฮึดรักษา ขุมทรัพย์เขากระโดง 5,083 ไร่แหล่งศก.ใหม่ -กรมที่ดินไม่ถอนโฉนด

14 พ.ย. 2567 | 23:02 น.
อัปเดตล่าสุด :15 พ.ย. 2567 | 13:58 น.

รฟท.ฮึดรักษา ขุมทรัพย์เขากระโดง 5,083 ไร่แหล่งเศรษฐกิจใหม่ ออกหสังสืออุทธรณ์ คำสั่งกรมที่ดินไม่เพิกถอนโฉนด ยันที่ดินเขากระโดงเป็นที่ดินรถไฟ ตามคำสั่งศาลปกครองกลางปี 66 ศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์ภาค3 สั่งเพิกถอน  

เขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ถูกพูดถึงเป็นวงกว้าง เมื่อกรมที่ดินสรุปผลการรังวัดเอกสารสิทธิ์ ที่ดินรถไฟเขากระโดงทั้ง 5,083 ไร่ จำนวน 995 ฉบับ ไม่ออกคำสั่งไม่เพิกถอน เอกสารสิทธิ์ที่ประชาชนถือเอกสารแนบท้ายของการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) (โจทก์ยื่นฟ้อง) มีเอกสารแจ้งประกอบการชี้แนวเขตไม่ชัดเจน เนื่องจากทั้งกรมที่ดินและการรถไฟฯใช้ หลักฐานคนละรูปแบบกัน โดยกรมที่ดินใช้แผนที่ระวางแนวเขตขณะการรถไฟใช้แผนที่กรอบอาณาบริเวณแนวเขตที่ดิน

 

ที่ดินเขากระโดง

 

กังขาที่ดินกลางแปลงถูกเพิกถอน

ทั้งนี้แม้ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 30 มีนาคม2566 ก็ตามว่าที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นของการรถไฟฯ พร้อมสั่งการให้อธิบดีกรมที่ดินแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน โดยศาลปกครองกลางได้ยืนตามคำพิพากษาของศาลฎีกา เมื่อปี 2560 และปี 2561

รวมถึงคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ในปี 2563 สั่งกรมที่ดินเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ 3บริเวณ ตั้งอยู่ใจกลางที่ดินเขากระโดง ว่าเป็นที่ดินของการรถไฟ และในเวลาต่อมากรมที่ดินได้เพิกถอนเอกสารสิทธิ์คืนการรถไฟฯ เป็นที่เรียบร้อย และจากข้อสรุปผลการรังวัด การชี้แนวเขตและ สั่งไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ของกรมที่ดินเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน2567 ผ่านมา ที่เอกสารสิทธิ์ทับที่ดิน เขากระโดงรถไฟทั้ง 5,083 ไร่ จำนวน 995ฉบับ ดังกล่าวนั้น

ส่งผลให้ รฟท. ยืนหนังสือด่วนอุทธรณ์คำสั่งกรมที่ดิน อย่างทันควันในวันรุ่งขึ้น หรือ วันที่ 12 พฤศจิกายน 2567 เพื่อนำไปสู่การต่อสู้ในศาลปกครอง และสร้างความเคลือบแคลงใจว่า เหตุใดที่ดินทั้ง 3 กลุ่มก่อนหน้านี้ ศาลจึงพิพากษาว่าออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบทำให้เชื่อได้ว่า ที่ดินโดยรอบดังกล่าวตามกรอบแนวเขตที่การรถไฟฯยื่นรังวัดตรวจสอบ เป็นที่ดินรถไฟ ด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตามมองว่า ทั้งกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงคมนาคมต้องหารือร่วมกันและนำหลักฐานที่ตรงกันมาพิสูจน์ เพื่อความชัดเจน เพราะการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ นับเป็นเรื่องใหญ่ ที่อาจทำให้ เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ และมีมูลค่าที่ลดลง กระทบต่อเศรษฐกิจในพื้นที่ประชาชนได้รับผลกระทบ รวมถึง เกิดการฟ้องร้องตามมาแบบไม่รู้จบ

ขุมทรัพย์เขากระโดงหมื่นล้าน

อย่างไรก็ตาม เขากระโดง ในปัจจุบันกลายเป็นขุมทรัพย์ทำเลไข่แดงย่านธุรกิจการค้าของบุรีรัมย์ หรือย่านเศรษฐีใหม่ ที่มี การลงทุนในหลายกิจการ ทั้งโรงแรม ย่านแหล่งงาน การท่องเที่ยว สนามแข่งรถ สนามฟุตบอลขนาดใหญ่ ศูนย์การค้าแหล่งงาน ส่งผลทำให้มีโครงการที่อยู่อาศัยเกิดขึ้นตามแนวเขตทาง จุดประกายสร้างเป็นเมืองใหม่ที่น่าจับตา อีกทั้ง ผู้ประกอบการนักธุรกิจ นักลงทุน หมายตา อยากเป็นเจ้าของ

ขณะราคาที่ดินที่มีนักการเมืองท่านหนึ่งนำไปอ้างอิงในการอภิปรายในสภา ว่าราคาซื้อขายตลาด เมื่อปี 2565 อยู่ที่ 1.5 หมื่นบาทต่อตารางวา และเมื่อรวมมูลค่าที่ดินทั้งผืน อยู่ที่กว่า 10,000 ล้านบาทถือว่าค่อนข้างสูง ในทางกลับกัน ที่ดินดังกล่าว และมีแนวโน้มปรับขึ้นสูงอย่างต่อเนื่อง

“ฐานเศรษฐกิจ” ลงพื้นที่ตรวจสอบพื้นที่บริเวณโดยรอบ เขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งชาวบ้านสะท้อนเป็นสองกลุ่มคือเป็นที่ดินของการรถไฟ เนื่องจากมีร่องรอยของเขตทางรถไฟ ลากเข้าเหมืองหิน เพื่อขนย้ายหินออกไปสู่โรงงาน ขณะอีกกลุ่มยืนยันว่า หากเป็นที่ดินของการรถไฟจริง เหตุใดจึงไม่มีการก่อสร้างและให้บริการเชื่อมไปยังพื้นที่อื่นๆเหมือนกับหลายเส้นทางเดินรถของการรถไฟ แต่กลับใช้เป็นเส้นทางสั้นๆ เพื่อขนหินภายในเหมืองเท่านั้น

ปลุกย่านเศรษฐกิจใหม่

แหล่งข่าวจากแวดวงอสังหา ริมทรัพย์ในจังหวัดบุรีรัมย์ ระบุว่า พื้นที่ส่วนใหญ่บริเวณเขากระโดง เป็นชุมชนหนาแน่นปานกลาง และมีความเจริญแผ่ขยายออกไปเป็นบริเวณกว้าง ส่งผลดีต่อพื้นที่โดยรอบ เนื่องจาก มีศูนย์ราชการเกิดขึ้น และมีโรงพยาบาลอยู่ระหว่างก่อสร้างจำนวน 2 แห่ง ซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้เคียง เขากระโดง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ราชพัสดุ ของกรมธนารักษ์ ที่ถอนสภาพพื้นที่รัฐออกทั้งหมดแล้วและให้ประชาชนจับจองอยู่อาศัย เป็นที่ตั้งของศูนย์ราชการและโรงพยาบาลดังกล่าว ที่จะสร้างการเจริญเติบโตให้กับพื้นที่

อย่างไรก็ตาม พื้นที่เขากระโดงและพื้นที่โดยรอบ กลายเป็นเขตเศรษฐกิจใหม่ ที่รองรับคนได้มากถึง 1 ล้านคน ซึ่งเน้นชุมชนที่จะเกิดขึ้น และขยายพื้นที่ ไปยังอุตสาหกรรมเหมืองหินเนื่องจาก ปัจจุบันไม่ทำกิจการก็จะขยายการพัฒนาออกไป เพราะบุรีรัมย์ปัจจุบันไม่ระเบิดภูเขา มลพิษต่างๆจะลดน้อยลงซึ่งสามารถขยับเป็นชุมเมืองในอนาคต บริบทพื้นที่อนุรักษ์ ไม่ใช่จะทำได้โดยไม่มีการควบคุม สิ่งที่จะเดินหน้าต่อคนบุรีรัมย์จะดูแลพื้นที่เหมาะสม

ทั้งนี้ เขากระโดงถูกกำหนดด้วยผังเมืองส่วนใหญ่ความเจริญอยู่แนวถนน มีชาวบ้านอยู่อาศัยมานานและอยู่ในโซนที่มีโฉนดมีมาตั้งแต่เก่าก่อน อีกทั้งต้องเข้าใจว่า สนามฟุตบอลช้างอารีน่า เกิดจากชาวบ้านขายที่นาเพื่อก่อสร้าง และปัจจุบัน มีความเจริญอย่างมาก ให้กับชุมชนรอบข้าง

“เป็นเรื่องที่คุยกันยาวๆ เพราะทางรถไฟไม่ได้จอดรถรับส่งผู้โดยสาร แต่เป็นทางรถไฟขนหินมีบ่อหิน ที่ผ่านมาเป็นป่ารกทึบเดินทางหรือใช้รถเข้าไปไม่ได้ จึงสร้างทางรถไฟ เพื่อเข้าไปแค่ขนหิน”

แหล่งข่าวกล่าวว่า ที่ดินเขากระโดงมีโฉนด และหากศาลมีคำสั่งให้เพิกถอน จะเพิกถอนอย่างไร เพราะหลักฐาน ที่ได้มาซึ่งเอกสารสิทธิ์ ตกมาหลายทอด หลายช่วงอายุคน และคนที่ถือปัจจุบันยอมรับว่าหากถูกเพิกถอกโฉนด เขาเดือดร้อน เพราะไม่ใช่ที่ป่า แต่ถือครองทำไร่ทำนา มาจากรุ่นปู่ย่า ขายทอดต่อๆ กันมา อย่างไรก็ตามมองว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อน

ที่ดินบุรีรัมย์ยันไม่กล้าเปลี่ยนมือ

“ฐานเศรษฐกิจ” สอบถามไปยัง สำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ ระบุว่า การซื้อขายเปลี่ยนมือ ที่ผ่านมา ช่วงที่อยู่ระหว่างฟ้องร้องเป็นคดีความระหว่างกรมที่ดินและการรถไฟ พบว่า การทำนิติกรรม ในพื้นที่ดังกล่าวค่อนข้างเงียบเหงาไม่มีการซื้อขายเพราะต่างไม่มั่นใจว่าจะได้รับผลกระทบหรือไม่ ขณะเดียวกัน ยังถือว่าเป็นที่ดินมีเอกสารสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย และสามารถซื้อขายได้แต่ต้อง สลักหลังโฉนดว่าเป็นที่ดินอยู่ระหว่างมีคดีฟ้องร้อง และแม้ว่ากรมที่ดินจะมีคำสั่งล่าสุดว่าไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ แต่เชื่อว่ามีหลายรายยังไม่กล้าซื้อขาย ในทางกลับกันชาวบ้านเองก็ไม่ต้องการขายที่ดิน

อย่างไรก็ตามที่ดินเขากระโดงมีความเจริญค่อนข้างมากเนื่องจากติดกับเขตทางสายหลัก บุรีรัมย์-ประโคนชัย และอยู่จากตุวเมืองบุรีรัมย์เพียง 2-3 กิโลเมตรเท่านั้น ที่นี่มีจุดขายที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจคือ สนามแข่งรถสนามกีฬาขนาดใหญ่ที่แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวเข้าจังหวัดบุรีรัมย์จำนวนมาก

แนวโน้มราคาที่ดินขยับ

ขณะแนวโน้มราคาที่ดินขยับสูงต่อเนื่องจากการใช้ประโยชน์ที่ดิน เนื่องจากที่ดินเขากระโดงส่วนใหญ่มีหลักฐานโฉนด และหากกรมที่ดินมีคำสั่งไม่เพิกถอนเชื่อว่าราคาที่ดินจะขยับสูงขึ้น แต่ในช่วงนี้เชื่อว่าทุกคนรอดูท่าทีให้แน่ชัดก่อนเนื่องจากการรถไฟฯทำเรื่องอุทธรณ์คำสั่งกรมที่ดินและเตรียมเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้องต่อศาลต่อไปโดยราคาประเมินที่ดินในเขากระโดงอยู่หลักพันบาทต่อตารางวา ขณะราคาซื้อขายอยู่ที่กว่า1หมื่นบาท ต่อตารางวา

กรมที่ดินแจงคำสั่งไม่เพิกถอน

ที่ผ่านมา กรมที่ดิน ได้มีคำสั่งที่ 1195-1196/2566 ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2566 ตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เป็นการดำเนินการตามคำพิพากษาศาลปกครองกลาง โดยคณะกรรมการสอบสวนฯ ตาม ม.61 ได้กำหนดกรอบแนวทางในการรังวัดเพื่อตรวจสอบหาแนวทางเขตที่ดินของทางรถไฟแห่งประเทศไทยบริเวณเขากระโดง ในการประชุมครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2567 โดยที่ประชุมได้ข้อยุติว่าการดำเนินการรังวัดทำแผนที่ดังกล่าว

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ยื่นหนังสืออุทธรณ์ถึงอธิบดีกรมที่ดิน กรณีมีคำสั่งไม่เพิกถอนเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินที่ทับซ้อนกับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย บริเวณทางแยกเขากระโดง ตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ โดยเห็นว่า คำสั่งของอธิบดีกรมที่ดินและมติคณะกรรมการสอบสวนดังกล่าว เป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ถูกต้องตามรูปแบบ ขั้นตอน และเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ

หนังสือฉบับดังกล่าว ระบุว่า ตามหนังสือที่อ้างถึง อธิบดีกรมที่ดินได้แจ้งความเห็นของอธิบดีที่เห็นชอบตามมติของคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งตั้งขึ้นตามคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ 1195-1196/2566 ว่า ไม่เพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่ทับซ้อนกับที่ดินของการรฟท. บริเวณทางแยกเขากระโดง ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ จึงเห็นควรยุติเรื่องในกรณีนี้ หากรฟท.เห็นว่า มีสิทธิในที่ดินกว่า ก็เป็นเรื่องที่ผู้มีสิทธิในที่ดินจะต้องไปดำเนินการเพื่อพิสูจน์สิทธิในกระบวนการยุติธรรมต่อไปนั้นรฟท.จึงขออุทธรณ์คำสั่งของอธิบดีกรมที่ดินและมติของคณะกรรมการสอบสวน ตามประเด็นข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ดังนี้

ข้อ 1. เหตุผลและวัตถุประสงค์ที่อธิบดีกรมที่ดินต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 ทั้งสองฉบับ ระบุว่า ด้วยความปรากฏว่า หนังสือแสดงสิทธิในที่ดินซึ่งเป็นโฉนดที่ดิน 44 ฉบับ และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) จำนวน 6 ฉบับ ซึ่งออกสืบเนื่องจากหลักฐานแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) จำนวน 18 ฉบับ ซึ่งออกโดยการเดินสำรวจ เป็นหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่ออกไป โดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากออกในเขตที่ดินของการรฟท.

ต่อมาหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินจำนวน 68 ฉบับดังกล่าว บางฉบับได้มีการรังวัดแบ่งแยกออกเป็นหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินจำนวน 222 ฉบับ เป็นผลให้หนังสือแสดงสิทธิในที่ดินแปลงแบ่งแยกดังกล่าวคลาดเคลื่อนและไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย และด้วยความปรากฏว่า โฉนดที่ดินจำนวน 61 ฉบับ และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) จำนวน 28 ฉบับ ซึ่งออกสืบเนื่องจากหลักฐานแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1)เป็นหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่ออกไปโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย

เนื่องจากออกในเขตที่ดินของรฟท. และต่อมาหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินจำนวน 83 ฉบับ บางฉบับได้มีการรังวัดแบ่งแยกออกเป็นหนังสือแสดงสิทธิในราชอาณาจักรไทยเป็นการทั่วไป และกฎหมายดังกล่าว ยังเป็นพยานหลักฐานยืนยันการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ของที่ดินรฟท.ตลอดจนตำแหน่งที่ตั้ง ซึ่งมีความชัดเจนเป็นที่ยุติแล้ว และมีความแน่นอนในนิติ ฐานะยิ่งกว่า เอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ประเภทใด ๆ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งบัญญัติขึ้นภายหลัง

รฟท.จึงขอให้อธิบดีกรมที่ดินและผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจวินิจฉัย อุทธรณ์ ได้โปรดมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งของอธิบดีกรมที่ดินตามหนังสือกรมที่ดินที่ มท 0516.2(2)/22162 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2567 เรื่อง การเพิกถอนหนังสือการแสดงสิทธิในที่ดินที่ทับซ้อนกับที่ดินของ รฟท.และเพิกถอนมติของคณะกรรมการสอบสวนตามคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ 1199-1196/2566 ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2566

ที่ได้มีความเห็นและมติไม่เพิกถอนเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินที่ ออกทับซ้อนกับที่ดินของรฟท.และมีคำสั่งให้กรมที่ดินและอธิบดีกรมที่ดินปฏิบัติให้ เป็นไปตามคำพิพากษาของ ศาลฎีกาที่ 842-876/2560 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8027/2561 คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 คดีหมายเลขดำที่ 111/2563 หมายเลขแดงที่ 1112/2563 และ คำพิพากษาศาลปกครองกลางคดีหมายเลขดำที่ 2494/2564 คดีหมายเลขแดงที่ 582/2566

ข่าวหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4045