เรื่องราวข้อตกลง MOU 44 พื้นที่ทับซ้อนของไทยและกัมพูชา สังคมยังคงติดตามให้ความสนใจอย่างต่อเนื่อง จากกรณีที่ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย บรรยายเรื่อง MOU 44 โดยกล่าวถึงประเด็นพื้นที่ทับซ้อนไทย
ดร.ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ที่ปรึกษาศูนย์นโยบายและวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ ได้แสดงความกังวลโดยตั้งข้อสังเกตโต้แย้งข้อมูลของ ดร.สุรเกียรติ์ ในหลายประเด็นด้วยกัน สำหรับโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก "คุยกับหม่อมกร" มีใจความ ดังนี้
ผมได้อ่านข่าวที่ท่านอาจารย์ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย บรรยายเรื่อง MOU 44 โดยกล่าวถึงประเด็นพื้นที่ทับซ้อนกัน ไทย กับ กัมพูชา จัดโดย THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2024 เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน ผมเห็นว่า การบรรยายของท่านทำให้สังคมเข้าใจผิดเกี่ยวกับ MOU 44 จึงขออภัยท่านอาจารย์ และขอโต้แย้ง ดังนี้
ดร.สุรเกียรติ์ กล่าวว่า สาเหตุของการทับซ้อนนั้นเนื่องจากกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยทะเลให้ประกาศเขตเศรษฐกิจออกไปได้ 200 ไมล์ทะเลแต่อ่าวไทยมีความกว้างไม่ถึง 200 ไมล์ทะเล เพราะฉะนั้นเมื่อไทยประกาศเขตเศรษฐกิจ 200 ไมล์ทะเล จึงทับซ้อนกับกัมพูชาที่ประกาศเขตเศรษฐกิจ 200 ไมล์ทะเลเช่นกัน (ผมตั้งข้อสังเกตว่า คำพูดเดียวกับ รมว.ภูมิธรรม แทบทุกคำ)
คำกล่าวนี้ทำให้ผมเข้าใจทันทีว่า ข้อผิดพลาดที่นำประเทศไทย 🇹🇭 ไปสู่ความเสี่ยงเกิดจากขณะที่ท่านเซ็นต์ MOU 44 กับกัมพูชา 🇰🇭 นั้น ท่านยังไม่เข้าใจกฎหมายทะเลสากล 🇺🇳 ดังนี้
1. อนุสัญญาเจนีวา ว่าด้วยกฎหมายทะเล 1958 ข้อ 12
2. อนุสัญญาสหประชาชาติ 🇺🇳 ว่าด้วยกฎหมายทะเล 1982 (UNCLOS 3) ข้อ 15
กฎหมายสากลทั้งสองระบุว่า "กรณีที่ฝั่งทะเลสองรัฐประชิดกัน ถ้าไม่ได้ตกลงเป็นอย่างอื่น รัฐใดย่อมไม่มีสิทธิขยายทะเลอาณาของตนเลยเส้นมัธยะ"
กรณีไทย 🇹🇭 -กัมพูชา 🇰🇭 เส้นมัธยะ คือ เส้นที่ทั้งสองประเทศลากจากหลักเขตที่ 73 แบ่งกึ่งกลางระหว่างเกาะกูด กับ เกาะกง เพื่อความเป็นธรรมในการเดินเรือ
ดังนั้น การขีดเส้น 200 ไมล์ทะเลจึงต้องลากออกจากเส้นมัธยะนี้ มิใช่ดังที่ ดร.สุรเกียรติ์ อธิบาย ทำให้ผู้ฟังเข้าใจผิดได้ว่า ทุกประเทศมีสิทธิไปลากเส้นจากฝั่งทะเลไปทิศทางใดก็ได้ 200 ไมล์ ตามอำเภอใจแบบกัมพูชาทำ พื้นที่ทะเลรอบเกาะกูดของไทยจึงถูกกัมพูชาลากเส้นทับซ้อนตั้งแต่ชายฝั่งไปชนเกาะกูดซึ่งกรณีแบบนี้ไม่ปรากฏแบบนี้ที่ใดในโลก
นอกจากนี้ ท่านยังขาดข้อมูลประวัติในการเจรจาระหว่าง ไทย 🇹🇭 กับ มาเลเซีย 🇲🇾 พม่า 🇲🇲 และเวียตนาม 🇻🇳 ที่ใช้กฎหมายทะเลสากลเป็นกรอบในการเจรจาทุกกรณีตามที่นายกรัฐมนตรีรับสนองพระบรมราชโองการ ส่วน MOU จะเกิดขึ้นเป็นขั้นตอนเกือบสุดท้าย เพื่อบันทึกผลสำเร็จของการเจรจานั้นๆ
กรณี ไทย 🇹🇭 กัมพูชา 🇰🇭 ก็ควรยึดถือหลักการเดิมที่ใช้ในการเจรจาสำเร็จแล้วกับทุกประเทศ (ตามที่ดร.ประจิตต์ โรจนพฤกษ์ อดีตอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ให้ผมฟัง) คือ
1) คณะรัฐมนตรีตั้งคณะเจรจาขึ้นก่อน
2) กรอบการเจรจา คือ กฎหมายสากลระหว่างประเทศทั้งอนุสัญญาเจนีวา 1958 และอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล 1982
3) ทำ MOU เพื่อบันทึกผลสำเร็จของการเจรจา (MOU ไม่ใช่กรอบการเจรจา)
4) ประกาศพระบรมราชโองการ รองรับเส้นเขตแดนใหม่ที่เป็นผลของการเจรจา
การเจรจาทุกประเทศมีเป้าหมาย คือ การกำหนดเส้นเขตแดนให้ถูกต้องเป็นอันดับแรก ไม่ใช่คิดเรื่องขุดปิโตรเลียม ร่วมกับใคร เพราะทุกประเทศต้องการมีอำนาจอธิปไตยโดยสมบูรณ์เพราะบริหารจัดการง่ายกว่าและเป็นอิสระกว่า
กรณีของไทย🇹🇭 มาเลเซีย🇲🇾 การพัฒนาร่วมเกิดขึ้นด้วยปัญหาทางกายภาพ คือ เมื่อเจรจาจนเหลือพื้นที่เล็กที่สุดแล้วยังหาข้อสรุปไม่ได้เรื่องเกาะโลซินของไทย ทางมาเลเซียสำรวจแล้วพบว่ามีบ่อน้ำมันอยู่ตรงกลางหากแบ่งพื้นที่คนละครึ่งก็จะมีปัญหาแย่งกันสูบน้ำมันในบ่อเดียวกันจึงเสนอการพัฒนาปิโตรเลียมร่วมกัน
กรณี ไทย กัมพูชา ภายใต้ ดร.สุรเกียรติ์ จึงผิดแผกแตกต่างจากทุกกรณีที่เคยมีมา เรียกว่า เกิดขึ้นแบบย้อนเกล็ด คือ เกิด MOU ขึ้นก่อน แล้วอ้างว่า MOU เป็นกรอบการเจรจา (ผมคาดว่า เป็นแผนที่กัมพูชาวางร่วมกับนักการเมืองไทยที่ไม่ใช่ ดร.สุรเกียรติ์)
โดยมีเป้าหมาย คือ การลดสถานะความสำคัญของเส้นพระราชอาณาเขตที่ประกาศตามพระบรมราชโองการของในหลวงรัชกาลที่ 9 ให้เท่ากับเส้นเขตแดนทางทะเล (ที่ผิดกฎหมายสากล) ของกัมพูชาที่ขีดขึ้นตามอำเภอใจ และที่เสียเหลี่ยมการเมืองระหว่างประเทศที่สุด คือ การนำมาใส่ไว้ในแผนที่แนบท้ายคู่กัน ทั้งที่ เส้นที่ผิดกฎหมายของกัมพูชานี้ ไทยไม่เคยแสดงการรับรู้จึงไม่เคยปรากฏเอกสาราชการไทยมาก่อนปี 2544
แม้จะเขียนไว้ในข้อ 5 ว่า ไม่ได้ยอมรับเส้นของกัมพูชาแต่การรับรู้ถึงเส้นอ้างสิทธิที่ผิดกฏหมาย ก็ถือว่า ขัดกับหลักการเดิมโดยสิ้นเชิง เพราะพระบรมราชโองการของในหลวงรัชกาลที่ 9 ประกาศว่า การกำหนดไหล่ทวีปกับประเทศใกล้เคียงให้ ยึดถือกฏหมายทะเลสากลเจนีวา 1958 ซึ่งกัมพูชาเจตนาละเมิดกฎหมายอย่างแจ้งชัด
ดร.สุรเกียรติ์ ยังกล่าวว่า MOU 44 มีข้อดี 3 ข้อ ซึ่งผมจะแย้งทีละข้อ ดังนี้
1. ท่านกล่าวว่า เป็นครั้งแรกที่ตั้งคณะกรรมการเจรจา ไม่มีการเสียดินแดน
ผมเห็นว่าข้อนี้ไม่ถูกต้องเพราะเคยมีการตั้งคณะเจรจามาก่อนแล้วตั้งแต่พ.ศ. 2513 ในรัฐบาลจอมพลถนอม พ.ศ. 2535 และพ.ศ. 2538 ในรัฐบาลนายชวน หลีกภัย ไทยยึดกรอบกฎหมายสากลทางทะเลในการเจรจา กัมพูชาเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่ไม่ปฏิบัติตามกฏหมายสากลจึงเจรจาไม่ได้ หากไทยอ่อนข้อให้กัมพูชาละเมิดกฎหมายสากล ไทยมีแต่จะเสียเปรียบ
2. ท่านกล่าวว่า จะเจรจาผลประโยชน์อย่างเดียวไม่ได้ ต้องเจรจาไปพร้อมกับเรื่องเส้นเขตแดนทางทะเลที่ทับซ้อนกันอยู่ เป็น Indivisible Package ที่แบ่งแยกไม่ได้
ผมเห็นว่าข้อนี้ก็มีความอันตรายอยู่ดี สุดท้าย กัมพูชายอมเจรจาเส้นเขตแดน 11 องศาเหนือบริเวณเกาะกูด(ทั้งที่ตามกฎหมายทะเลเป็นของไทยอยู่แล้ว) และ ใต้เส้น 11 องศาเหนือก็ขุดปิโตรเลียมไปพร้อมกัน แบ่งเงินค่าภาคหลวงกันคนละคนละครึ่ง
หากทำเช่นนี้เมื่อใด กัมพูชาจะเอาหลักฐานการแบ่งค่าภาคหลวงนี้ขึ้นศาลโลกและแบ่งพื้นที่ทางทะเลใต้เส้น 11 องศาเหนือครึ่งหนึ่งในอนาคต เรียกว่าเสียทั้งปิโตรเลียมเสียทั้งดินแดน ไปพร้อมกัน Indivisible Package เรียบร้อยโรงเรียนกัมพูชา
3. ท่านกล่าวว่า MOU จะไม่กระทบต่อการอ้างสิทธิของไทยและกัมพูชา หากการเจรจาล้มเหลว ก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อการอ้างสิทธิใด ๆ ของไทย
ผมเห็นว่าข้อนี้ เป็นการเสียเหลี่ยมให้กัมพูชาอย่างยิ่งเพราะเส้นเขตแดนทางทะเลของกัมพูชานั้นนำไปอ้างที่ไหนในโลกไม่ได้ เพราะผิดกฎสากลทางทะเลแต่กลับปรากฏขึ้นในเอกสารราชการไทยที่ลงนามโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศและให้สัตยาบันโดยนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย กลายเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่บ่งชี้ว่า ไทยอาจไม่แน่ใจในเส้นเขตแดนของตนเอง
ประเด็นเดียวที่ผมเห็นด้วยกับ ดร.สุรเกียรติ์ คือ MOU ยกเลิกได้ ส่วนที่ท่านมีคำถามว่า ยกเลิกแล้วจะได้ความตกลงที่ดีกว่านี้หรือไม่ ขอตอบว่ามีครับ คือใช้กฎหมายสากลระหว่างประเทศเป็นกรอบในการเจรจา เหมือนกับกรณีที่เจรจากับมาเลเซีย เวียดนาม และพม่า จนประสบความสำเร็จมาแล้ว
สุดท้ายนี้ ผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า ท่านอาจารย์ ดร.สุรเกียรติ์ ทำเรื่องนี้ด้วยใจสุจริต และหวังดีต่อชาติบ้านเมือง แต่ข้าราชการบางคนกลับให้ข้อมูลท่านไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วนในการตัดสินใจในครั้งนั้น
ผมในฐานะอดีตนิสิตต้องกราบขออภัยท่านอาจารย์เป็นอย่างสูงที่จำเป็นต้องโต้แย้งเพราะหากให้ MOU 2544 เดินหน้าต่อไปจะเป็นเรื่องอันตราย เป็นภัยต่อบ้านเมืองในอนาคต
กราบขออภัยท่านอาจารย์มา ณ ที่นี้ และขอแสดงความนับถือ
ดร.ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี