thansettakij
อดีตตุลาการแนะศาลรัฐธรรมนูญชุดใหม่ปลดล็อกประกาศคณะปฏิวัติ

อดีตตุลาการแนะศาลรัฐธรรมนูญชุดใหม่ปลดล็อกประกาศคณะปฏิวัติ

10 เม.ย. 2568 | 08:53 น.
อัปเดตล่าสุด :10 เม.ย. 2568 | 09:15 น.

อดีตตุลาการแนะศาลรัฐธรรมนูญชุดใหม่ “ปลดล็อกประกาศคณะปฏิวัติ” พ้นสถานะกฎหมาย นักวิชาการประเมินภาพรวมให้คะแนนเต็ม 10% ด้านความอดทน แนะเร่งปรับการสื่อสาร

วันที่ 10 เม.ย. 2568 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ จัดสัมมนาวิชาการ “ศาลรัฐธรรมนูญกับการก้าวสู่ทศวรรษที่ 4 บทบาทและความคาดหวัง” โดยมีอดีตตุลาการ นักวิชาการด้านกฎหมายและรัฐศาสตร์ รวมถึงสื่อมวลชนร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง โดยช่วงแรกของเวทีเปิดให้วิทยากรร่วมให้คะแนนการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญตลอดที่ผ่านมา

                           อดีตตุลาการแนะศาลรัฐธรรมนูญชุดใหม่ปลดล็อกประกาศคณะปฏิวัติ

ศ.ดร.จรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ย้ำว่า ตนทำหน้าที่ในองค์กรนี้ถึง 12 ปี และเห็นว่าศาลได้แสดงบทบาทในการคานอำนาจบริหารและนิติบัญญัติได้อย่างเป็นรูปธรรม 

พร้อมเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญยุคปัจจุบัน "ตัดสถานะความเป็นกฎหมายของประกาศคณะปฏิวัติ" ที่หมดภารกิจไปแล้ว โดยเสนอให้ใช้ดุลพินิจในฐานะตุลาการกำหนด “ช่วงเวลาสิ้นสภาพกฎหมาย” ทั้งตั้งข้อสังเกตว่า หากยังใช้ประกาศคณะปฏิวัติเป็นกลไกทางกฎหมาย อาจขัดหลักประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

                    จรัญ ภักดีธนากุล จรัญ ภักดีธนากุล

ขณะเดียวกัน อดีตตุลาการรายนี้ยังเตือนฝ่ายการเมืองว่า หากไม่ต้องการให้เกิดกรณียุบพรรค ควรแก้ไขตัวบทกฎหมาย ไม่ใช่ปล่อยให้ศาลต้องเป็นฝ่ายตัดสินใจ

ด้าน ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร นักวิชาการรัฐศาสตร์ จากจุฬาฯ ย้ำถึงบทบาทศาลรัฐธรรมนูญที่เผชิญแรงเสียดทานสูง พร้อมให้คะแนนเต็ม 100 ในด้านความอดทนและอุตสาหะต่อแรงกดดันจากสังคม 

                         ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร

แต่ชี้จุดอ่อน คือ การสื่อสารสาธารณะ ที่ยังขาดการอธิบายเชิงหลักการให้ประชาชนเข้าใจบทบาท และขอบเขตหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญอย่างเพียงพอ

ศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า การประเมินศาลรัฐธรรมนูญต้องแยกตามบริบทรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ โดยเฉพาะตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2550 เป็นต้นมา ศาลเริ่มกลายเป็น

                      ศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์

“ผู้เล่นทางการเมือง” ที่มีบทบาทกำหนดทิศทางการเมืองไทย เช่น การยุบพรรค หรือ วินิจฉัยคุณสมบัติของนักการเมือง พร้อมเสนอว่า อนาคตควรมีการทบทวนที่มา อำนาจ และบทบาทศาล ให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ส่วน ศ.ดร.อุดม รัฐอมฤต ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนปัจจุบัน กล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า บางคดีศาลอาจไม่ได้รับความพึงพอใจจากประชาชน แต่ขอให้เข้าใจว่า ทุกคำวินิจฉัยเกิดจากเจตนาดี และกระบวนการพิจารณาที่มีเหตุผล 

                      ศ.ดร.อุดม รัฐอมฤต ศ.ดร.อุดม รัฐอมฤต

ศ.ดร.อุดม ย้ำว่า หน้าที่ของศาลไม่ใช่แค่คุ้มครองสิทธิ แต่ต้องรักษาเสถียรภาพทางการเมืองและหลักกฎหมายในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งบางครั้งทั้งสองอย่างอาจขัดแย้งกัน