ปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ระหว่างการเยือนประเทศญี่ปุ่นเพื่อศึกษาดูงานการบริหารจัดการขยะและความก้าวหน้าด้านพลังงานหมุนเวียน ตามคำเชิญของกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ “ฐานเศรษฐกิจ” ได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะและสัมภาษณ์พิเศษนายบรรสาน บุนนาค เอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงโตเกียว ทำให้ได้รับทราบข้อมูลและมุมมองของท่านเอกอัครราชทูตฯเกี่ยวกับบทบาทของญี่ปุ่น และสถานะความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างทั้งสองประเทศที่กำลังจะครบรอบ 130 ปีในปีหน้า (2560)
[caption id="attachment_68802" align="aligncenter" width="700"]
สินค้าส่งออก 5 อันดับแรกของไทยไปยังญี่ปุ่น (ข้อมูลเดือน ม.ค.-พ.ค. 59)[/caption]
“การที่ไทยตั้งอยู่ใจกลางอาเซียนทำให้ญี่ปุ่นมองไทยในเชิงยุทธศาสตร์อย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะการมุ่งเน้นรักษาพื้นที่เศรษฐกิจของญี่ปุ่นในอาเซียนผ่านการดำเนินความสัมพันธ์เชิงรุกกับไทย และการใช้ไทยเป็นฮับของการลงทุนในภูมิภาคในลักษณะ Thailand-Plus-One ซึ่งเป็นการใช้ไทยเป็นฐานการลงทุน โดยคงขั้นตอนการผลิตที่สำคัญไว้ในไทย แต่เคลื่อนย้ายกระบวนการผลิตในส่วนที่เน้นการใช้แรงงานไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่มีค่าแรงถูกกว่า” ท่านทูตบรรสานเปิดประเด็นการสนทนาเกี่ยวกับบทบาทของญี่ปุ่นในอาเซียนในบริบทปัจจุบัน
[caption id="attachment_68801" align="aligncenter" width="335"]
บรรสาน บุนนาค
เอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงโตเกียว[/caption]
ยุทธศาสตร์ของญี่ปุ่น ต่อไทยและอาเซียน
ในช่วงการประชุม Nikkei Forum เมื่อปี 2558 นายชินโสะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้ประกาศข้อริเริ่ม Quality Infrastructure Development มูลค่า 1.1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อส่งเสริมการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพในต่างประเทศ และเพื่อส่งออกระบบโครงสร้างพื้นฐานขั้นสูงของญี่ปุ่น โดยมีกลไกขับเคลื่อนหลักประกอบด้วย JBIC JICA และ JOIN (Japan Overseas Infrastructure and Urban Development) ซึ่งเป็นหน่วยงานใหม่ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อร่วมทุนกับบริษัทญี่ปุ่นในโครงการโครงสร้างพื้นฐาน นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2559 นายฟุมิโอะ คิชิดะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของญี่ปุ่น ได้ประกาศข้อริเริ่มเรื่อง Japan-Mekong Connectivity Initiative มูลค่า 7.5 แสนล้านเยน ในสุนทรพจน์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเน้นย้ำบทบาทของญี่ปุ่นเกี่ยวกับการพัฒนาเรื่องการเชื่อมโยงภายในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงโดยมีไทยเป็นหุ้นส่วนในการพัฒนา
“เมื่อพิจารณาถึงนโยบายของญี่ปุ่น ประกอบกับแผนปฏิรูปเศรษฐกิจของไทยซึ่งให้ความสำคัญเรื่องการเชื่อมโยงภายในประเทศและภายในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวกับระบบคมนาคมขนส่ง จึงทำให้ญี่ปุ่นมีความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยในโครงการเมกะโปรเจ็คท์ต่างๆ เป็นอย่างมาก” ท่านทูตยังกล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันไทยมีความร่วมมือระบบรางกับญี่ปุ่น ได้แก่ 1) โครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ และ 2) โครงการรถไฟรางคู่และการพัฒนาระบบรถไฟขนส่งสินค้าเส้นทางกาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา-แหลมฉบัง-อรัญประเทศ (Southern Economic Corridor : SEC) ซึ่งสถานะล่าสุดคือญี่ปุ่น (โดย JICA) อยู่ระหว่างการทำรายงานศึกษาความเป็นไปได้ (feasibility study) ของทั้ง 2 เส้นทาง คาดว่ารายงานฉบับสมบูรณ์จะแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2559 นี้
“รถไฟเส้นทาง SEC จะเป็นจุดเชื่อมต่อที่สำคัญทางยุทธศาสตร์ในภูมิภาคเนื่องจากเป็นการย่นระยะทางและระยะเวลาระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งการลงทุนในโครงการนี้จะเป็นประโยชน์กับญี่ปุ่นเป็นอย่างยิ่ง เพราะสามารถประหยัดเวลาและต้นทุนในการขนส่งสินค้าผ่านทางท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือน้ำลึกทวายในเมียนมา”
นอกจากนี้ ภาคเอกชนญี่ปุ่นยังสนใจลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าเส้นทางต่างๆในไทย โดยที่ผ่านมา บริษัทญี่ปุ่น ประกอบด้วย Marubeni / JR East/ Toshiba ได้สัมปทานในการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงเส้นทางบางใหญ่-บางซื่อ ซึ่งจะเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 6 ส.ค. 2559 และบริษัท Sumitomo/ Mitsubishi Heavy/ Hitachi ได้สัมปทานในการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง เส้นทางบางซื่อ-รังสิต “โดยสรุปคือ ไทยและอาเซียนเป็นภูมิภาคที่สำคัญสำหรับญี่ปุ่นทั้งในเชิงเศรษฐกิจและการเมือง ญี่ปุ่นได้รับประโยชน์จากอาเซียนในการเป็นฐานการลงทุนและการเป็นคู่ค้าที่สำคัญ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในไทยและอาเซียน จึงเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจญี่ปุ่นในการขนส่งสินค้าในภูมิภาค รวมถึงการส่งออกไปยังภูมิภาคอื่นๆ ผ่านจุดเชื่อมต่อที่สำคัญ อาทิ เส้นทางระเบียงเศรษฐกิจ SEC
ทิศทางที่ไทยควรปรับตัว ท่ามกลางบริบทที่เปลี่ยนแปลง
ในฐานะที่ไทยเป็นฐานการผลิตอันดับหนึ่งของญี่ปุ่นในอาเซียน และญี่ปุ่นมีบทบาทในการทำธุรกิจในไทยอย่างมากนั้น ไทยควรดำเนินความสัมพันธ์กับญี่ปุ่นบนข้อคำนึงหลัก ดังนี้
- การกำหนดวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน โดยแสดงให้ญี่ปุ่นเห็นว่า ไทยมองไปข้างหน้า มีเป้าหมายที่ชัดเจนและสอดคล้องกับญี่ปุ่นในภูมิภาค โดยเน้นส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านด้านการพัฒนาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยเฉพาะการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย เพราะโครงการเหล่านี้เป็นตัวชี้วัดถึงศักยภาพของไทยในฐานะผู้นำด้านการพัฒนาในภูมิภาค
- การสร้างความเชื่อมั่นว่าไทยมีเสถียรภาพ โดยเร่งเดินหน้ากระบวนการปฏิรูปเพื่อสร้างเสถียรภาพภายในประเทศและรักษาการติดต่อในระดับการเมืองให้มีความต่อเนื่อง ซึ่งทางสถานทูตเองได้แจ้งให้ญี่ปุ่นทราบเกี่ยวกับการดำเนินการตาม roadmap ของไทยอย่างสม่ำเสมอเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับญี่ปุ่นว่า การเมืองไทยมีเสถียรภาพ และไทยยังคงเป็นหุ้นส่วนสำคัญที่สุดของญี่ปุ่นในภูมิภาค
- การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย โดยเร่งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การปรับปรุงกฎระเบียบด้านแรงงานและการค้า-การลงทุนให้ทันสมัย รวมไปถึงการเข้าร่วมในกรอบการค้าการลงทุนที่จะกำหนดทิศทางของโลกในอนาคต และควรโน้มน้าวให้ญี่ปุ่นเข้ามามีส่วนช่วยในการเพิ่มขีดความสามารถของไทยด้วยการแบ่งปันประสบการณ์ เทคโนโลยี และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ
การทูตหนุนการค้า-การลงทุน
สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียว ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าอย่างต่อเนื่อง ถือได้ว่าประสบผลสำเร็จในการเสริมสร้างความตระหนักเกี่ยวกับประเทศไทย อาหาร สินค้า และบริการของไทย ซึ่งได้รับความนิยมในประเทศญี่ปุ่นอย่างมาก นอกจากนี้ สถานเอกอัครราชทูตฯยังได้ดำเนินการเพื่อเปิดและขยายตลาดสินค้าไทยในญี่ปุ่น โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ซึ่งมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเมื่อเร็วๆนี้ ทางญี่ปุ่นได้อนุญาตการนำเข้ามะม่วง 2 สายพันธุ์เพิ่มเติม ได้แก่ เขียวเสวย และ โชคอนันต์
“ทางสถานทูตฯ มีกิจกรรมส่งเสริมการค้าอย่างต่อเนื่อง อาทิ งาน “เทศกาลไทย” ในเมืองต่างๆของญี่ปุ่น เป็นการประชาสัมพันธ์และเปิดตลาดของอาหาร ผลไม้ สินค้า และบริการของไทย ปีนี้มีผู้เข้าร่วมชมงานเทศกาลไทยในกรุงโตเกียว ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-15 พ.ค. ที่สวนสาธารณะโยโยงิ เพิ่มขึ้นเป็น 3.6 แสนคน มากกว่าปีที่ผ่านมาถึง 1 หมื่นคน” ท่านทูตบรรสานกล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมประชาสัมพันธ์สินค้าอาหารของไทยในช่องทางโมเดิร์นเทรดของญี่ปุ่น โดยการร่วมมือกับบริษัทค้าปลีก เช่น Aeon และ Mitsukoshi ส่งผลให้สินค้าไทยเป็นที่นิยมในตลาดมากขึ้น
ส่วนสินค้าประเภทแฟชั่นสำหรับคนรุ่นใหม่ มีการประสานนำสินค้าแฟชั่นแบรนด์ไทย เช่น Greyhound ASV และ Issue มาทดลองจำหน่ายที่ร้านค้าในกรุงโตเกียวและนครโอซากา ระหว่างวันที่ 16-30 มิ.ย. ซึ่งได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี และเมื่อเร็วๆนี้ ระหว่างวันที่ 29 มิ.ย. - 1 ก.ค. 2559 ยังมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมธุรกิจบริการรูปแบบใหม่ โดยการนำบริษัทที่ผลิตการ์ตูนของไทยจำนวน 7 รายมาเข้าร่วมงานแสดงสินค้า Licensing Japan ณ Tokyo Big Sight เป็นต้น
“สำหรับการส่งเสริมการลงทุนนั้น ที่ผ่านมา ผมได้ใช้โอกาสในการพบหารือกับนักธุรกิจระดับสูง อธิบายเกี่ยวกับนโยบายการส่งเสริมการลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เน้นการยกระดับอุตสาหกรรมโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ขณะเดียวกัน สำนักงานบีโอไอในกรุงโตเกียว ก็ได้จัดสัมมนาและกิจกรรมพบปะนักลงทุนในกรุงโตเกียวและต่างจังหวัด เพื่อประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับนโยบายและสิทธิประโยชน์ทางด้านการลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ เพื่อเป็นการตอบสนองต่อนโยบายของภาครัฐในเรื่องการส่งเสริมธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง (SMEs) สำนักงานบีโอไอในกรุงโตเกียว ได้เชิญผู้ประกอบการจากไทยมาเจรจาธุรกิจกับผู้ประกอบการในญี่ปุ่น ซึ่งที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการจากไทยเข้าร่วมประมาณ 30 ราย และจากญี่ปุ่นประมาณ 40 ราย”
ทั้งนี้ ท่านทูตฯ ให้ข้อมูลแสริมว่า ตัวเลขมูลค่าขอรับการส่งเสริมการลงทุนของญี่ปุ่น(ที่ยื่นต่อไทย) ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2559 มีมูลค่า 2.3 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2558 ก่อนการประกาศนโยบายการลงทุนใหม่ ถึง 410% โดยประมาณ สะท้อนถึงความสนใจของบริษัทญี่ปุ่นที่มีต่อไทยไม่ได้ลดน้อยลงไปแต่อย่างใด
ฉบับหน้า โปรดติดตามการเยี่ยมชมนวัตกรรมการบริหารจัดการขยะชุมชนและขยะอุตสาหกรรม รวมทั้งเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนของญี่ปุ่น ที่น่าตื่นตาตื่นใจและอาจเป็นแรงบันดาลใจให้กับธุรกิจสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ไฟแรงของไทย
Photo :
Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,172 วันที่ 7 - 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2559