วิษณุ แจงเหตุ "ยุบสภา" ตอนนี้ไม่ได้ ปัดยื้อเวลา

30 ม.ค. 2566 | 09:25 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ม.ค. 2566 | 09:29 น.

วิษณุ ยัน ยุบสภาตอนนี้ไม่ได้ เหตุแบ่งเขตไม่เสร็จ ปัดยื้อเวลา วอนประชาชนเข้าใจ ขอเวลาเตรียมเลือกตั้ง สิ้น ก.พ.นี้

วันที่ 30 มกราคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์หลังจากที่นายแสวง บุญมี เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เข้าหารือในประเด็นจะขอเวลา 45 วันเตรียมเลือกตั้งก่อนยุบสภาโดยมองว่า ถ้ากกต.คิดถึงความสะดวกแต่บางครั้งการยุบสภาเป็นปรากฎการณ์ที่จะยึดเอาความสะดวกไม่ได้ กกต.ต้องทำให้เกิดการเลือกตั้งให้ได้ เชื่อว่า เวลา 45 วัน สามารถทำได้สบายๆ 

ทั้งนี้ สิ่งที่เป็นปัญหา คือ กกต.ต้องแบ่งเขตเลือกตั้งจากเดิมที่ 350 เขต เพิ่มเป็น 400 เขต และยังมีประชากรที่เพิ่มขึ้น และบางจังหวัดลดลง ทำให้กระทบกับจำนวน ส.ส.การแบ่งเขต

นายวิษณุ กล่าวเพิ่มเติมว่า หาก กกต.แบ่งตามใจชอบวันเดียวก็เสร็จแต่กฎหมายกำหนดการแบ่งเขตต้องส่งให้แต่ละจังหวัดเพื่อให้ กกต.จังหวัดร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดไปรับฟังความคิดเห็นของประชาชน รวมทั้งพรรคการเมืองในจังหวัดนั้นด้วยซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน คือ เดือน กพ.ทั้งเดือนซึ่งมี 28 วันแต่อาจทำให้เร็วกว่านั้น

หลังจากนั้นจะยุบสภาเมื่อไรก็ได้แต่จะให้ยืดไปก็จะครบสมัยวันปิดสมัยประชุมสภาในวันที่ 28 ก.พ.พอดี แต่จะให้เร็วอย่างที่หลายคนนึกเพราะเห็นว่า กฎหมายลูกประกาศแล้วควรยุบได้แล้วนั้น หรือเห็นว่า รัฐบาลเงียบเป็นการยื้อเวลา ไม่ยอมรีบยุบ

กกต.ชี้แจงว่า ยังจัดการเลือกตั้งไม่ได้เพราะยังแบ่งเขตยังไม่เสร็จ ทั้งนี้ ตนเองจะแจ้งให้ ครม.ทราบในวันที่ 31 ม.ค.นี้

ต่อข้อซักถามที่ว่า หลังวันที่ 28 ก.พ.จะสามารถยุบสภาได้หรือไม่นั้น นายวิษณุ กล่าวว่า เมื่อไรก็ได้ ไม่ถึง 45 วันซึ่งตนได้ย้ำกับเลขาธิการ กกต.ว่า บางครั้งการเมืองไม่สามารถเอาสบายได้ เพราะการยุบสภาเป็นวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น

ถ้าจำเป็นต้องยุบในวันนี้และบอกว่า ยังไม่ครบเวลา 45 วัน ให้รอไปก่อนก็คงรอไม่ได้แต่หากรอได้ก็ไม่ยุบ อยู่ไปจนสภาครบวาระขึ้นอยู่กับเหตุที่เกิดขึ้นแต่ทั้งหมดไม่สามารถยุบสภาก่อนที่จะรู้เขตเลือกตั้งได้ เพราะยุบสภาปั๊บ เครื่องจะเดินทันที ต้องประกาศวันเลือกตั้งแต่เวลาประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภา ที่เสนอโดยรัฐบาลจะไม่เห็นวันเลือกตั้ง เพราะวันเลือกตั้ง กกต.จะกำหนด ไม่ใช่รัฐบาล และจะประกาศวันสมัคร ก็ต้องรู้วันเลือกตั้งก่อน

หากการไปแบ่งเขตแบบซิกแซก บ้านอยู่ซอยเดียวกันแต่ไปแบ่งแยกเขต เขาเรียกว่า แบ่งเขตตามใจชอบ หรือ แบบกิ้งก่า แขนไปทางขาไปทาง เพื่อชิงความได้เปรียบ

เมื่อถามถึงเสียงวิจารณ์รัฐบาลยื้อเวลาจัดการเลือกตั้ง นายวิษณุ กล่าวยืนยันว่า ไม่ได้ยื้อ ทุกอย่างเป็นไปตามหลักซึ่งกกต.เป็นองค์กรอิสระที่ต้องไปกำหนด