วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยมีเนื้อหาระบุว่า
ราษฎรไม่ได้สัญชาติไทย อีกครั้ง...
พวกเขาคือใคร...
ทำไมกฎหมายให้พวกเขาเป็น "เป็นราษฎร"...
สถานะ สิทธิ สวัสดิการ ของพวกเขาเป็นอย่างไร...
เราควรจะคิดอย่างไรกับพวกเขา...
1.พวกเขาเป็นใคร
ราษฎรที่ไม่ได้สัญชาติไทย ตามประกาศของนายทะเบียน ตามกฎหมายทะเบียนราษฎร จำแนกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ 2 กลุ่ม ดังนี้
1.1 กลุ่มชนกลุ่มน้อย และกลุ่มชาติพันธุ์ จำนวน 481,140 ราย ซึ่งมีผู้อพยพเข้ามาในประเทศไทย จำนวน 349,692 ราย และกลุ่มบุตรที่เกิดในเมืองไทย จำนวน 131,448 ราย
1.2 กลุ่มต่างด้าวอื่น จำนวน 453,481 ราย ทั้งกลุ่มต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ จำนวน 54,666 ราย กลุ่มบุตรที่เกิดในประเทศไทย จำนวน 66,522 ราย และกลุ่มบุคคลที่ไร้รัฐไร้สัญชาติ หรืออ้างว่าเป็นคนไทยแต่ไม่สามารถหาหลักฐานมาพิสูจน์ยืนยันตัวบุคคลได้ รวมถึงอ้างว่าเป็นชนกลุ่มน้อยที่ตกหล่นจากการสำรวจ จำนวน 72,832 ราย
2. สถานะ สิทธิ และสวัสดิการ
สถานะของราษฎรที่ไม่ได้สัญชาติไทย คือ "ผู้รอการพิสูจน์สถานะ" เพื่อพัฒนาสถานะของราษฎรผู้ไม่มีสัญชาติไทยตามลำดับขั้นตอนไปสู่ "การมีสัญชาติไทย" ตามที่กฎหมายกำหนด ตามเงื่อนใขของแต่ละกลุ่มแล้วแต่กรณี
ทั้งนี้ พวกเขามีบัตรประจำตัวลักษณะเดียวกับบัตรประชาชน มีเลข 13 หลัก มีทะเบียนบ้าน และได้รับสิทธิ และ สวัสดิการจากรัฐ
อ่านจากต้นจนจบ ในทางข้อเท็จจริง ส่วนมากเขาอาจเป็นคนไทยที่รอพัฒนาสถานะเพื่อได้สัญชาติไทย ตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด ฟังดูก็น่าเห็นใจพวกเขามากใช่ไหมครับ แต่ สนง.กกต.ไม่ได้พิจารณาจากตรงนี้ เราพิจารณาจากข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงอย่างถ้วนถี่แล้ว จึงนำเสนอ กกต. คำนวณเพื่อหา ส.ส. ที่พึงมี ตามมาตรา 86 ของรัฐธรรมนูญ
รายละเอียดตามที่ได้สำเนาบางส่วนจากเฟซบุ๊กทำเนียบรัฐบาลที่แนบ