วันนี้ (17 ก.พ.66) นายอุตตม สาวนายน ทีมเศรษฐกิจ พรรคพลังประชารัฐ โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า เวทีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลตาม มาตรา 152 ที่เพิ่งเสร็จสิ้นไปเมื่อวานนี้ ประเด็นหนี้สาธารณะประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาอภิปรายอีกครั้ง โดยมีการยกตัวเลขหนี้สินประเทศปัจจุบัน ที่มากกว่า 10.6 ล้านล้านบาท ซึ่งในมุมของประชาชนย่อมมีความเป็นห่วง เพราะหนี้สาธารณะเป็นดัชนีตัวหนึ่งที่ชี้วัดความกินดีอยู่ดีของประชาชนในอนาคต
หนี้ก้อนใหญ่ที่สุดคือ หนี้รัฐบาล ที่กู้มาเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ เนื่องจากประเทศไทยทำงบประมาณขาดดุลติดต่อกันมากว่า 10 ปี ซึ่งเข้าใจได้ว่าเพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจ รวมถึงหนี้ที่กู้เพื่อใช้ในมาตรการดูแลเยียวยาและฟื้นฟูโควิด ช่วงปี 2563-64 ก็ถือว่ามีความจำเป็นเร่งด่วน
รัฐบาลประเมินว่า จะสามารถจัดทำงบประมาณให้สมดุลได้ในอีก 10 ปีข้างหน้า นั่นหมายความว่า รัฐบาลต้องจัดหารายได้เพิ่มมากขึ้นในแต่ละปีเพื่อให้ทันกับค่าใช้จ่าย จากที่ผ่านมามีรายได้ต่ำกว่าค่าใช้จ่ายเฉลี่ยปีละ 2-3 แสนล้านบาท ซึ่งจะทำได้ตามที่คาดหวังต้องขึ้นกับปัจจัยสำคัญคือ เศรษฐกิจประเทศขยายตัวต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดสภาพัฒน์ ได้ประกาศจีดีพี 2565 โตเพียงร้อยละ 2.6 ต่ำกว่าที่คาดมาก และยังลดเป้าปีนี้ลงเหลือร้อยละ 3.2 ซึ่งผมได้เคยตั้งข้อสังเกตไว้ก่อนหน้านี้ว่า เราไม่ควรประมาทกับภาวะเศรษฐกิจโลกในปีนี้ที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะกับเครื่องยนต์เศรษฐกิจสำคัญ ทั้งการส่งออก และ การท่องเที่ยว
การที่ประเทศไทยพึ่งฟื้นไข้จากพิษโควิด ยังจำเป็นที่จะต้องใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อดูแลประชาชนให้หลุดพ้นจากความยากลำบาก
ขณะเดียวกันก็ต้องลงทุนที่มุ่งเป้าให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ดังนั้น การบริหารงบประมาณที่มีประสิทธิภาพสูงสุด จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ผมยังเห็นว่าการปฏิรูประบบงบประมาณของประเทศเป็นสิ่งจำเป็น หากเราต้องการให้ประเทศไทยพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง และสามารถกลับมาทำงบประมาณสมดุลได้ ซึ่งเป็นบันไดขั้นแรกสู่ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนต่อไป ขอบคุณครับ