สงคราม “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” หรืออีกชื่อเรียกว่า “บัตรคนจน” มาปะทุขึ้นในการ “เลือกตั้ง 2566” เมื่อถูกใช้เป็นนโยบาย เป็นเครื่องมือในการหาเสียง หาคะแนนกับคนจน ที่มีอยู่ราว 14-20 ล้านคน
เป็นการแย่งชิง เคลมเป็นผลงานของ 2 พรรคการเมือง ระหว่าง พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ของ พี่ใหญ่ บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กับ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ของ น้องตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
“บัตรลุงตู่”1,000 บาท
“เรื่องบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะทำให้ดีที่สุด ถ้าให้ดีจะเพิ่มเป็น 1,000 บาท ซึ่งก็ต้องดูงบประมาณ ถ้าพูดแล้วไม่รับผิดชอบก็ลำบากจะทำให้มีปัญหาตรงอื่นด้วย …อย่าลืมรวมไทยสร้างชาติ เด้อ อย่าลืมเด้อ ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ ให้ทุกอย่างดีขึ้น อย่าลืม อย่าทิ้งรวมไปสร้างชาติ 16 เขต เหมาหมด”
นั่นคือ คำปราศรัยส่วนหนึ่งของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ไปปราศรัยหาเสียงในพื้นที่ภาคอีสาน เป็นแห่งแรก ที่บริเวณสนามหน้าศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา พร้อมทำพิธี “ปักธงชัย ประกาศชัยชนะ” และเปิดตัวผู้สมัคร ส.ส.ภาคอีสาน ทั้ง 132 เขต เมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2566 ที่ผ่านมา
“บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” ถูกหยิบยกมาใช้เป็นนโยบายในการหาเสียง แต่ของ “พรรคลุงตู่” จะเพิ่มให้กับคนจนผู้มีสิทธิได้รับเป็นคนละ 1,000 บาทต่อเดือน โดยพรรครวมไทยสร้างชาติ จะเรียกว่า “สิทธิบัตรสวัสดิการพลัส”
นอกจากนี้ นโยบายของพรรครวมไทยสร้างชาติ ยังจะมีการปรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากแบบขั้นบันได (อายุ 60 ได้เดือนละ 600 บาท / อายุ 70 ได้ 700 / อายุ 80 ได้ 800 ) เป็นให้เท่ากันทุกช่วงอายุ คนละ 1,000 บาทต่อเดือน
รวมถึงนโยบายดูแลผู้สูงวัย ด้วยการสร้างศูนย์สันทนาการ นโยบายลดภาษีให้ผู้ประกอบการที่จ้างผู้สูงวัยทำงาน และนโยบายให้ทุนเรียนวิชาชีพ อำเภอละ 100 ทุน
ขณะเดียวกัน ยังมีนโยบายคนละครึ่ง และนโยบายเที่ยวด้วยกัน ภาค 2 ขณะที่ภาคแรงงาน และข้าราชการยามเดือดร้อน เบิกส่วนประกันตน 30% มาใช้ก่อนได้ ส่วนอาชีพอิสระ เข้าระบบประกันสังคมถ้วนหน้า
ทั้งยังมีนโยบายตั้งกองทุนพยุงราคาสินค้าเกษตร ราคาข้าว ราคายาง รวมถึงเพิ่มเงินสนับสนุนต้นทุนปลูกข้าว จากที่เคยได้ไร่ละ 700 บาท เป็นไร่ละ 2,000 บาท ครอบครัวละ 5 ไร่
“บัตรลุงป้อม” 700 บาท
สำหรับนโยบายหาเสียงเกี่ยวกับ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 17 ม.ค.2566 พรรคพลังประชารัฐ โดย พล.อ.ประวิตร ในฐานะหัวหน้าพรรค ได้แถลงเป็นพรรคแรก ที่จะยกระดับสิทธิบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ให้ได้รับเงินรายเดือนเป็นเดือนละ 700 บาท
“พร้อมเดินหน้าการจัดทำนโยบายบัตรประชารัฐ 700 บาทต่อเดือน ให้กับประชาชน และพร้อมเริ่มมีผลทันที หลังจากที่พรรคพลังประชารัฐ เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล” คำประกาศของ พล.อ.ประวิตร ในวันแถลงข่าว
“ทางพรรคพร้อมสานต่อนโยบายที่เป็นประโยชน์กับประชาชน ที่ได้ทำไว้ และริเริ่มนโยบายใหม่ๆ ให้คนไทยได้เห็นถึงความมุ่งมั่นของพรรคพลังประชารัฐ ที่จะตอบสนอง และแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชน ทุกพื้นที่ทุกเพศทุกวัย ด้วยคำว่า พลัง สามัคคี ประชามีสุข รัฐพลิกโฉมบริการ” พล.อ.ประวิตร ระบุ
รับทันทีหลังเป็นรัฐบาล
นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ระบุเช่นกันว่า พรรคพลังประชารัฐได้ดำเนินการ “บัตรประชารัฐ” มาเป็นระยะเวลา 4 ปี เพื่อช่วยเหลือประชาชนในระดับฐานราก และ กลุ่มเปราะบาง
โดยในปี 2566 จะมีประมาณ 18 ล้านคน ถือเป็น 1 ใน 4 ของประชากรทั้งประเทศ พล.อ.ประวิตร มองว่า จำนวนเงิน 200-300 บาทต่อเดือน ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น และยังไม่ครอบคลุมค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้นในปัจจุบัน เพราะในแต่ละพื้นที่มีสภาพเศรษฐกิจและค่าครองชีพที่แตกต่างกัน
ดังนั้น เสียงสะท้อนจากผู้ได้รับสิทธิว่า ที่นำไปใช้จ่ายในครัวเรือน โดยเฉพาะในการซื้อเครื่องอุปโภคและบริโภคที่จำเป็น ทำให้ประเมินว่า ควรมีการเพิ่มเงินช่วยเหลือ อีกประมาณ 500 บาท เพื่อทำให้พี่น้องประชาชน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
โดยในส่วนงบประมาณที่จะนำมาใช้เพื่อเพิ่มวงเงินในบัตรประชารัฐ จะนำมาจากงบประมาณในช่วง 3 เดือนสุดท้าย ของงบประมาณปี 2566 หลังจากได้รับเลือกตั้ง หากมีผู้ได้รับสิทธิ์ ประมาณ 18 ล้านคน คาดว่าจะต้องใช้งบประมาณเดือนละ 1.2 หมื่นล้านบาท หรือ ปีละ 1.5 แสนล้านบาท
“ประชาชนจะได้รับเงินเยียวยา ช่วยเหลือเดือนละ 700 บาท ทันทีหลังจากที่พรรคพลังประชารัฐ ได้รับความไว้วางใจ จากพี่น้องประชาชนให้เข้าไปบริหารประเทศ” นายสันติ ระบุ
นายวิรัช รัตนเศรษฐ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า คำขวัญของ พปชร.คือ ก้าวข้ามความขัดแย้ง ขจัดทุกปัญหา พัฒนาทุกพื้นที่ เริ่มต้นคือ การเพิ่มเงิน 700 บาท ซึ่งจะสานต่อนโยบายเดิม
“นโยบายนี้เวลาไปพื้นที่ ประชาชนมักจะถามว่าได้เมื่อไหร่ เรายืนยันว่าหลังเลือกตั้ง พ.ค.แล้ว จากนั้น มิ.ย. ท่านจะได้ใช้เลยทั่วประเทศ” นายวิรัช ให้คำมั่น
พปชร.เคลมเจ้าของบัตร
ขณะที่ 2 แกนนำพรรคพลังประชารัฐ อย่าง นายอุตตม สาวนายน และ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ได้ออกมาแถลงเมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2566 ยืนยัน “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” เป็นนโยบายของพรรค พปชร.
“พี่น้องประชาชนและสื่อมวลชน ต่างก็รับทราบดีว่า นโยบายต่างๆ มีขึ้นมาตั้งแต่เมื่อใด ใครเป็นคนคิดริเริ่ม และผลักดันจนเป็นรูปธรรม เพียงแต่ในการบริหารราชการแผ่นดิน ทุกเรื่องจะต้องผ่านความเห็นชอบของ ครม. ซึ่งมีนายกฯ เป็นหัวหน้า ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะหิ้วเอานโยบายเหล่านั้น ติดตัวไปอยู่พรรคอื่นด้วย” นายอุตตม ระบุ
นายอุตตม กล่าวด้วยว่า นโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ก็แค่ย้อนกลับไปดูว่า โครงการนี้เปิดให้ผู้มีรายได้น้อยลงทะเบียนครั้งแรกในปี 2559 ซึ่งขณะนั้นคนที่เข้ามาคุมนโยบายเศรษฐกิจให้รัฐบาล คสช. คือ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รับตำแหน่งรองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ
“ย้อนดูไทม์ไลน์ช่วง 8 ปี ก็จะรู้ว่าใครเป็นผู้ริเริ่มและผลักดันนโยบายเหล่านี้ แต่นั่นไม่สำคัญเท่ากับประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ ถ้าพรรคไหนเห็นว่านโยบายของเราดี จะนำไปสานต่อพรรคพลังประชารัฐ พล.อ.ประวิตร ก็ยินดี ไม่ขัดข้องอะไร”
เช่นเดียวกับ นายสนธิรัตน์ ที่ย้ำว่า นโยบายต่างๆ เหล่านี้ เป็นการริเริ่มของ นายสมคิด และพวกตน ตั้งแต่ช่วงรัฐบาล คสช. ต่อเนื่องมาถึงรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง จึงถือได้ว่า เป็นผลผลิตของพรรคพลังประชารัฐ ทั้งโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ รวมถึง อีอีซี
ใช้งบปีละ6.5หมื่นล้าน
ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง คาดว่างบประมาณที่จะใช้กับ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” ใหม่ ปีละกว่า 65,413 ล้านบาท
ผลการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ลงทะเบียนโครงการปี 2565 ผ่านการตรวจสอบ 14.59 ล้านราย ไม่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ 5.05 ล้านราย เช่น มีรายได้เกิน 100,000 บาทต่อปี มีบัญชีเงินฝากเกิน 100,000 บาท มีบัตรเครดิต มีวงเงินกู้บ้าน หรือ รถ
กรอบระยะเวลาโครงการปี 2565 เริ่มกระบวนการยืนยันตัวตน วันที่ 1 มี.ค.2566 เริ่มใช้สิทธิ์สวัสดิการรอบปกติ 1 เม.ย.2566 กระบวนการอุทธรณ์ วันที่ 1 มี.ค.-1 พ.ค.2566 และประกาศผลการตรวจสอบคุณสมบัติรอบอุทธรณ์ 20 มิ.ย.2566 ใช้สิทธิ์รอบอุทธรณ์ 1 ก.ค.2566
6 ปีใช้งบ 3.3 แสนล้าน
โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นโครงการที่รัฐบาลดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2561 โดยใช้งบประมาณรวมมาจนถึงการอนุมัติครั้งล่าสุด รวม 6 ปี รัฐบาลใช้เงินในโครงการนี้กว่า 333,229 ล้านบาท ประกอบด้วย
1.ปีงบประมาณ 2561 จัดสรรงบ 43,614.5 ล้านบาท ผู้ได้รับสิทธิ์ 14.2 ล้านคน
2.ปีงบประมาณ 2562 จัดสรรงบ 93,155.4 ล้านบาท ผู้ได้รับสิทธิ์ 14.6 ล้านคน
3.ปีงบประมาณ 2563 จัดสรรงบ 47,843.5 ล้านบาท ผู้ได้รับสิทธิ์ 13.9 ล้านคน
4.ปีงบประมาณ 2564 จัดสรรงบ 48,216.0 ล้านบาท ผู้ได้รับสิทธิ์ 13.5 ล้านคน
5.ปีงบประมาณ 2565 จัดสรรงบ 34,986.4 ล้านบาท ผู้ได้รับสิทธิ์ 13.2 ล้านคน
และ 6.ปีงบประมาณ 2566 คาดว่าจะต้องใช้งบรวม 65,413.80 ล้านบาท และมีผู้ได้รับสิทธิ์ 14.6 ล้านคน
ปัจจุบัน “ประชากรไทย” มีทั้งสิ้น 66 ล้านคน มีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 52 ล้านคน เป็นคนจน ประมาณ 20 ล้านคน
กลุ่มคนจน ถือได้ว่าเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ ถึงทำให้แต่ละพรรคการเมือง แข่งกันออกนโยบายมาเพื่อให้ “โดนใจ” หวังมัดใจลงคะแนนเสียงให้ ในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นเดือน พ.ค. 2566 นี้...