ตราสัญลักษณ์การประชุมกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก (เอเปค) ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพปี 2565 นั้น เป็นผลงานรางวัลชนะเลิศจากการประกวดออกแบบตราสัญลักษณ์โดยกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของเยาวชน ซึ่งผู้ออกแบบคือ “ชวนนท์ วงศ์ตระกูลจง” นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก “ชะลอม” เครื่องจักสานไทยใช้ใส่สิ่งของในการเดินทางหรือนำไปมอบกับบุคคลที่ให้ความเคารพในสังคมไทย ถูกส่งต่อรุ่นสู่รุ่นจวบจนปัจจุบัน
ชวนนท์ เล่าถึงที่มาของการออกแบบตราสัญลักษณ์เอเปคว่า เมื่อพิจารณาดูสิ่งที่มีอยู่แล้วรอบตัว ถ้าพูดถึงอาหารก็จะนึกถึงต้มยำกุ้งหรือถ้าเป็นการเดินทางก็นึกถึงรถตุ๊กตุ๊ก แล้วอะไรจะเป็นตัวแทนสัญลักษณ์ที่สะท้อนภาพเศรษฐกิจไทยได้ดีในยุคที่ทั่วโลกให้ความสำคัญกับการค้าและเศรษฐกิจสีเขียว
นี่เป็นโจทย์ท้าทายให้ผมลงมือทำการบ้านและศึกษาเป็นเวลาหนึ่งเดือนเต็ม จนได้มาพบกับความหมายของชะลอม ปัจจุบันยังพอมีให้เห็นตามร้านขายของฝาก ซึ่งนำมาใช้แทนถุงใส่สินค้าอย่างผลไม้ ขนม และสิ่งของต่างๆ ซึ่งดูเข้ากับเทรนด์ตอนนี้ที่หลายคนต้องการหยุดใช้พลาสติกเพื่อลดโลกร้อน
ชวนนท์อธิบายความหมายของ “ชะลอม” ที่สะท้อนถึงเศรษฐกิจไทยไว้ว่า เป็นเครื่องจักสานของไทยใช้เป็นภาชนะแทนถุงใส่สิ่งของต่างๆ และเป็นสิ่งของสัญลักษณ์การค้าขายของไทยมาแต่โบราณ
เมื่อพิจารณาเส้นตอกไม้ไผ่ที่สอดประสานกันทั้งแข็งแรงและยืดหยุ่น เหนียวแน่นและคงทน โอบอุ้มเศรษฐกิจภูมิภาคให้ “มั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน” หากแต่เส้นตอกไม้ไผ่สานกันเป็นชะลอม 21 ช่อง สื่อถึง 21 เขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปค
“ชะลอม” ได้สื่อแนวคิดหลัก “OPEN, CONNECT, BALANCE” ของการเป็นเจ้าภาพเอเปคปี 2565 ของไทยได้แก่
OPEN- ชะลอมสื่อถึงการค้าที่เปิดกว้าง
CONNECT- ชะลอมเป็นสิ่งบรรจุสินค้าหรือส่งของสำหรับใช้ในการเดินทาง และสื่อถึงความเชื่อมโยง
BALANCE– ชะลอมทำจากวัสดุธรรมชาติเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับรูปแบบเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy- BCG)
นอกจากนี้ สีเส้นตอก 3 สี ได้แก่ สีน้ำเงิน สื่อถึง OPEN การเปิดกว้าง สีชมพู สื่อถึง CONNECT การสร้างความสัมพันธ์เชื่อมโยง และสีเขียว สื่อถึง BALANCE ความสมดุล ระหว่างกัน
ในการออกแบบตราสัญลักษณ์ ผมต้องขอบคุณอาจารย์อาวิน อินทรังษี อาจารย์ประจำคณะมัณฑนศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำวิธีคิดและแนวทางการออกแบบจนได้ตราสัญลักษณ์ที่สมบูรณ์
ผมใช้ระยะเวลาประมาณ 2 เดือน เริ่มต้นจากเดือนแรกตั้งแต่การคิดสรุปคอนเซ็ปต์ที่ชัดเจนและร่างออกแบบตราสัญลักษณ์ส่งเข้าประกวด หลังผ่านเข้ารอบก็นำมาปรับแต่งและเพิ่มเติมรายละเอียด ซึ่งใช้เวลาอีกเดือนกว่าจนมาเป็นโลโก้เอเปคที่เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
การประกวดตราสัญลักษณ์ครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมเสนอผลงานจำนวน 598 ผลงาน แบ่งการคัดเลือกออกเป็น 3 รอบหลักๆ โดยรอบแรกพิจารณาผลงานและคัดเลือกเหลือ 10 ผลงาน ต่อมารอบสองคัดเลือกเหลือ 5 ผลงานและรอบสุดท้ายเป็นการตัดสินผู้ชนะรางวัลประกวดตราสัญลักษณ์เอเปค
"หลังทราบว่าชนะเลิศการประกวด ผมรู้สึกดีใจอย่างท่วมท้นและความซาบซึ้งยังตราตรึงอยู่ทุกวันนี้ เหมือนฝันเป็นจริงและภาคภูมิใจที่เด็กตัวเล็ก ๆ คนหนึ่งได้สร้างผลงานทางศิลปะเป็นตราสัญลักษณ์ใช้ในเวทีเอเปค ซึ่งเป็นการประชุมระหว่างประเทศที่คนทั่วโลกจะได้เห็นผลงานของผม"
การที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพเอเปคปี 2565 นั่นหมายถึงคนไทยทุกคนจะได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเป็นเจ้าภาพ มีความสำคัญมากเพราะไม่ใช่เพียงเป็นเวทีการประชุมระดับผู้นำประเทศเท่านั้น แต่ประเด็นที่ถูกนำมาพูดคุยกันในที่ประชุมจะมีผลประโยชน์โดยตรงกับคนไทยทุกคนและสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปค
การเป็นเจ้าภาพของไทย จะเป็นโอกาสให้ประชาชนได้แสดงศักยภาพ อย่างเช่นการประกวดตราสัญลักษณ์เอเปค ก็เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม และแน่นอนว่าโอกาสย่อมมีเข้ามาเรื่อย ๆ ตลอดปี 2565 ผมอยากให้ติดตามและคว้าโอกาสนี้ เพื่อแสดงศักยภาพต่อสายตาชาวโลก รวมทั้งขอเชิญชวนคนไทยทุกคนเป็นเจ้าภาพเอเปคที่ดีร่วมกัน