สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง และกินระยะเวลามายาวนานเกิน 1 ปี องค์ความรู้ในการปรับตัว ถือเป็น “วัคซีน” สำคัญที่จะช่วยให้ธุรกิจ รวมถึงกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ยืนหยัดท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงนี้ได้ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น และเซเว่น เดลิเวอรี่ ในฐานะหนึ่งในผู้นำที่ให้การสนับสนุนและส่งเสริมกลุ่มธุรกิจ SME มาอย่างต่อเนื่อง จึงได้ดำเนินงานเพื่อให้องค์ความรู้สำหรับฝ่าวิกฤติผ่านงานสัมมนาออนไลน์ “Think for Growth : SME ยุควิกฤติโควิด-19...ทำอย่างไรให้รอด” โดยมีวิทยากรและเจ้าของธุรกิจ SME มากประสบการณ์มาร่วมส่งต่อองค์ความรู้และแบ่งปันโอกาสดีๆ แก่ผู้ประกอบการ SME
ธนพงศ์ วงศ์ชินศรี ผู้ร่วมก่อตั้งร้าน “Penguin Eat Shabu” ร้านชาบูบุฟเฟ่ต์ชื่อดัง ร่วมถ่ายทอดกลยุทธ์ในหัวข้อ “How to รอดของ SME ยุคใหม่” ว่า สิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องรู้จัก เพื่อให้รอดภายใต้สถานการณ์วิกฤติ คือ “วิชาตัวเบา” หรือการลีน (Lean) เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง เริ่มจากหาจุดคุ้มทุนที่รายได้เท่ากับรายจ่ายต่อเดือน และบริหารกระแสเงินสดให้ดี เช่น ทำบัญชีตรวจสอบกระแสเงินสดเป็นประจำ ผ่อนผันกับซัพพลายเออร์ สร้างรายได้หลายช่องทาง และหาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติม
“การลดค่าใช้จ่ายแบบฉับพลันอย่างการลดเงินเดือนหรือจำนวนคน อาจทำให้พนักงานรู้สึกไม่มั่นคง ส่งผลต่อความแข็งแรงขององค์กรได้ ผู้ประกอบการจึงต้องเปลี่ยนสิ่งที่ไม่เกิดมูลค่า หรือ Waste ให้เป็นมูลค่า หรือ Value โดยอิงหลัก 7 Waste เพื่อปรับกระบวนการการทำงานให้มีประสิทธิภาพ ลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น แล้วนำเวลาที่เหลือไปสร้างรายได้ใหม่ และก่อให้เกิดคุณค่าแก่ลูกค้าโดยตรง” ธนพงศ์ ระบุ
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการควรประเมินสถานการณ์จากกระแสเงินสดด้วย โดยเฉพาะธุรกิจที่ยังประสบปัญหาขาดทุนอยู่ หากมีกระแสเงินสดเพียงพอต่อการใช้จ่ายได้ 3 เดือน ควรหยุดดำเนินธุรกิจเพื่อรักษากระแสเงินสดที่เหลือ แล้วหาช่องทางเตรียมตัวทำธุรกิจใหม่ แต่หากยังมีกระแสเงินสดเพียงพอถึง 6 เดือน ควรเตรียมแผนสำรอง รองรับความไม่แน่นอน เช่น การปิดร้านจากมาตรการล็อคดาวน์ ซึ่งจะยิ่งทำให้สภาพคล่องลดลง ขณะเดียวกัน ธุรกิจที่ยังสร้างกำไรได้และมีกระแสเงินสดเพียงพออย่างน้อย 3 เดือนขึ้นไป ยังต้องปรับกลยุทธ์ต่อเนื่อง ขยายช่องทางขายใหม่ เจาะกลุ่มเป้าหมายใหม่ ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ รวมถึงเตรียมแผนสำรองในการทำธุรกิจใหม่ล่วงหน้า
จากประสบการณ์ดูแลธุรกิจเพนกวินอีทชาบูได้ยึด 6 หลักสำคัญที่ทำให้ธุรกิจยังยืนหยัดได้แม้เจอวิกฤติ ได้แก่ 1.อย่ามัวขายในสิ่งที่มี ให้ขาย แต่ขายในสิ่งที่ลูกค้าต้องการ เช่น จัดแคมเปญขายชาบูแถมหม้อ สามารถรับประทานชาบูที่บ้านได้ 2.อยากเป็นที่จดจำต้องอย่าทำเหมือนคนอื่น 3.อยากให้คนไม่ลืม ต้องตะโกนตลอดเวลา มีวินัยในการลงคอนเทนต์เป็นประจำ เพิ่มโอกาสในการรับรู้และซื้อสินค้า 4.อย่าขายท่ามาตรฐานให้ขายแบบมีชั้นเชิง เล่าเรื่องให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมาย 5.ปรับตัวไม่พอ ต้องปรับให้เร็วกว่าคนอื่น และ 6.ทำธุรกิจอย่าคิดรอดไปคนเดียว ซึ่งร้านได้ทำ Collaboration Campaign อาทิ ร่วมกับผู้ประกอบการโรงแรมในภูเก็ต จัดโปรโมชั่นแถมแพ็กเกจที่พัก ตลอดจนรวมกลุ่มกับผู้ประกอบการร้านอาหาร ร่วมแบ่งปันองค์ความรู้และจัดงานแฟร์สร้างรายได้ในช่วงล็อคดาวน์
ขณะที่กิตติพงษ์ สุขเคหา กรรมการผู้จัดการ บริษัท แรบบิท เบสท์ ฟู๊ด จำกัด เจ้าของธุรกิจ “บะหมี่ถ้วยร้อน” ผู้ร่วมเสวนาหัวข้อ “SME รู้แล้วรอด...ยอดขายปัง” เปิดเผยว่า หลังธุรกิจเดิมได้รับผลกระทบอย่างหนัก จึงพยายามหาทางออกด้วยการทำสินค้าที่จำเป็นสำหรับทุกคนแม้ในสถานการณ์การแพร่ระบาด ประกอบกับมาตรการล็อคดาวน์ทำให้ไม่สามารถเข้าร้านอาหารได้ จึงเกิดไอเดียออกผลิตภัณฑ์บะหมี่ถ้วยร้อน และสร้างจุดเด่นให้สินค้าสามารถรับประทานได้ทุกที่ รสชาติอร่อย และตัวถ้วยมีนวัตกรรมทำความร้อนได้ถึง 96 องศาเซลเซียส สร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภคตอบโจทย์ความต้องการช่วงโควิด-19 ซึ่งก่อนวางจำหน่ายบริษัทได้จดสิทธิบัตรบะหมี่ถ้วยร้อนแล้ว แต่ไม่ได้ปิดกั้นหากผู้ประกอบการอื่นจะออกผลิตภัณฑ์ลักษณะคล้ายกัน
ขณะเดียวกัน แบรนด์ก็เร่งสร้างกระแสและยอดขายในช่วงแรกให้ไวที่สุดเพื่อสร้างการจดจำในกลุ่มลูกค้า ซึ่งการนำสินค้าเข้าวางจำหน่ายในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ช่วยเป็นสปริงบอร์ดสร้างการเติบโตได้กว่าสิบเท่าตัว ทั้งนี้ ทางเซเว่น อีเลฟเว่น ยังให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง อาทิ ยกเว้นค่าธรรมเนียมแรกเข้าสำหรับผู้ประกอบการ SME ออกแบบกลยุทธ์การจัดวางสินค้าให้ขายดี รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกันและให้องค์ความรู้เรื่องการตลาดกับผู้ประกอบการ
เช่นเดียวกับธวัชชัย สหัสสพาศน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โซดา พริ้นติ้ง จำกัด เจ้าของธุรกิจสิ่งพิมพ์ของขวัญ หนึ่งในผู้ร่วมเสวนา เล่าเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมางานเทศกาลต่างๆ โดยเฉพาะงานรับปริญญาหายไปตลอดทั้งปี ทำให้ธุรกิจได้รับผลกระทบ จึงยึดหลักปรับ/เปลี่ยน/เร็ว คือ ปรับการทำงานที่ดีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น เปลี่ยนวิธีการที่คิดว่าไม่เหมาะกับสถานการณ์ออก และใช้ความเร็วเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ออกผลิตภัณฑ์ใหม่โดยอาศัยทรัพยากรที่มีอยู่อย่างเครื่องจักรพิมพ์ และสร้างดีไซน์ที่แตกต่างให้สินค้า เช่น หน้ากากผ้าพิมพ์ลายที่จับคู่เข้ากับชุดได้ เจาะตลาดวัยรุ่นในช่วงหน้ากากอนามัยขาดแคลน และผ้าห่มที่สามารถพิมพ์ชื่อลูกบนผืนผ้าได้ เจาะกลุ่มแม่และเด็ก ร่วมกับการสื่อสารให้สินค้าของโซดา พริ้นติ้งเป็นของขวัญที่มีชิ้นเดียวในโลก โดยหน่วยงานสำคัญที่เข้ามาช่วยสนับสนุนธุรกิจคือ SME D Bank ที่ให้คำแนะนำทั้งการจัดทำโครงสร้างบัญชี แนวคิดอุตสาหกรรมสีเขียว รวมถึงให้ความช่วยเหลือในช่วงโควิด-19
สำหรับการจัดสัมมนาดังกล่าว ถือเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานของเซเว่น อีเลฟเว่นที่มุ่งมั่นให้การสนับสนุนและส่งเสริม SME มาอย่างต่อเนื่อง โดย SME ที่เข้าร่วมงานจะได้รับฟังแนวทางการสร้างโอกาสให้ธุรกิจ จากพันธมิตรผู้เชี่ยวชาญอย่างสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พร้อมประสบการณ์ดำเนินธุรกิจจากเจ้าของธุรกิจ SME ที่ประสบความสำเร็จ รวมถึงสามารถลงทะเบียนร่วมจับคู่ธุรกิจกับเซเว่น อีเลฟเว่น ทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง และ eXta plus ร้านยาเพื่อชุมชนได้ด้วย
ทั้งนี้ เซเว่น อีเลฟเว่น จะยังมีโครงการและกิจกรรมดีๆ เพื่อส่งต่อสิ่งดีๆ ให้กับ SME อย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมในทุกมิติ ทั้งให้ช่องทางขาย ให้องค์ความรู้ ให้การพัฒนา โดยผู้ประกอบการสามารถติดตามข่าวสารโครงการและกิจกรรมต่างๆได้ทาง www.cpall.co.th