นิตยสารฟอร์บส จัดอันดับมหาเศรษฐีโลก ปี2567 ปรากฏว่า แบร์นาร์ ฌ็อง เอเตียน อาร์โน นักธุรกิจฝรั่งเศสวัย 75 ปีและครอบครัว (Bernard Arnault &Family) แอลวีเอ็มเอช บริษัทข้ามชาติเจ้าของแบรนด์หลุยส์ วิตตอง ได้รับการจัดอันดับให้เป็นบุคคลที่รวยที่สุดในโลก ด้วยความมั่งคั่ง$233 พันล้านเหรียญ ในขณะที่อีลอน มัสก์ ตามมาติดๆ อันดับ 2 มีทรัพย์สิน $195 พันล้านเหรียญ ตามมาด้วยเจฟ เบซอส แห่งแอมะซอนอันดับ 3 และ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก เจ้าของ Facebook อันดับ 4 โดยในปีนี้ ผู้ที่รวยสุดในไทยที่ติดอันดับเศรษฐีโลก ยังคงเป็น นายธนินท์ เจียรวนนท์ เจ้าสัวแห่งเครือซีพี ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) บริษัทชั้นนำของไทย โดยอยู่ในอันดับที่ 159 ด้วยมูลค่าทรัพย์สินโดยรวม 12.5 พันล้านเหรียญ ซึ่งเครือซีพี ทำธุรกิจอยู่ใน 22 ประเทศทั่วโลก โดยในแต่ละปีจ่ายภาษีให้รัฐบาลไทย ไม่ต่ำกว่าปีละกว่า 20,000 ล้านบาท และยังเป็นแหล่งจ้างงานใหญ่ที่มีพนักงานกว่า 450,000 ตำแหน่งทั่วโลก ทั้งนี้ฟอร์บสยังระบุว่านายธนินท์คิดเสมอว่าการทำงานเหมือนการไปเที่ยว
นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี เผยถึงเคล็ดลับในการประสบความสำเร็จว่า การทำธุรกิจเหมือนการไปเที่ยว หากสนุกในการแก้ปัญหา ก็จะสามารถทำงานไปด้วยและมีความสุขไปด้วยได้ ในการทำธุรกิจของเครือซีพี มักเริ่มต้นธุรกิจใหม่ ๆ หลายอย่าง เป็นผู้บุกเบิกเรื่องใหม่ ที่ยังไม่มีคนเคยทำในยุคนั้น ๆ และก็ทำอย่างจริงจัง รวดเร็ว หลายครั้งเป็นเรื่องที่ยาก ซึ่งคนเก่งหลายคนเมื่อเจอเรื่องยาก ก็ไม่อยากจะทำ แต่เครือซีพี มักจะทำเรื่องยาก แต่ทำให้เป็นเรื่องง่าย พอทำให้ง่ายได้แล้ว คู่แข่งก็จะน้อย แต่อย่างไรก็ดีในยุคนี้ ทุกอย่างเปลี่ยนไปรวดเร็วมาก ปีนี้เครือซีพีมีอายุ 103 ปี ผ่านการเปลี่ยนแปลงมาหลายครั้ง ซึ่งการบริหารความเสี่ยงมีความสำคัญ หากเสี่ยง 30 มีโอกาสชนะ 70 จะตัดสินใจลงมือทำ แต่หากเป็นการลงทุนที่ใหญ่เกินตัวจนอาจทำให้เราล้มละลายถึงโอกาสชนะเปิดกว้างมาก นายธนินท์ก็จะไม่ทำ และอีกหนึ่งทีเด็ดของนายธนินท์ คือ การไม่หยุดเรียนรู้ โดยจะยินดีในความสำเร็จได้แค่วันเดียว เพราะคิดเสมอว่าถ้าเราไม่พัฒนา จะสู้หน้าใหม่ไม่ได้ ดังนั้น เราต้องมองหาคนเก่ง แล้วไปพูดคุยสอบถาม อัพเดทความรู้ ต้องเป็นน้ำที่ไม่เต็มแก้ว เรียนรู้จากคนเก่งตลอดเวลา
ความสำเร็จอาณาจักร CP ณ วันนี้ไม่ว่าจะเป็นทั้งในและต่างประเทศ นายธนินท์เคยกล่าวว่า ตัวเขาคนเดียวไม่มีทางที่สร้างขึ้นมาได้แต่ต้องอาศัยพนักงานกว่า 4.5 แสนคน โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ ได้มีเวทีในการแสดงความสามารถ การให้อำนาจในการสร้างความเปลี่ยนแปลง โดยคนรุ่นเก่าทำหน้าที่สนับสนุนชี้แนะ ไม่ชี้นำ จึงจะทำให้องค์กรเปลี่ยนแปลงได้ทันโลก ดังนั้น การสร้างผู้นำ คือเคล็ดลับแห่งความสำเร็จ โดย CP เลือกจะปั้นเอาดาวรุ่งในองค์กร คนที่มีแววว่าจะเติบโตได้ เอามาพัฒนาให้กลายเป็นผู้นำในยุคต่อไป ซึ่งจะพัฒนาให้เป็นเถ้าแก่ รู้กำไร ขาดทุน รู้การตลาด รู้การผลิต แทนที่จะรู้เรื่องเดียว แต่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ บริหารเหมือนเป็นเจ้าของ เหมือน สตาร์ทอัพ แต่ความเสี่ยงน้อยกว่า เพราะเครือมีตัวช่วยมากมายให้ประสบความสำเร็จได้ง่ายขึ้น หากมีความทุ่มเท และ เสียสละ การสร้างและเปิดเวทีคนรุ่นใหม่ ก็จะเป็นอาวุธสำคัญ เพราะพวกเขาเข้าใจวัฒนธรรมองค์กรแต่แรกอยู่แล้ว และสองเด็กๆ อายุยังน้อย เหมือนกับผ้าขาวที่สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ได้อย่างรวดเร็ว
ตลอดหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมา เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้มีการขับเคลื่อนการเติบโตและขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ค่านิยม 3 ประโยชน์ ที่คำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชน สุดท้ายจึงเป็นประโยชน์ขององค์กร โดยปัจจุบันเครือเจริญโภคภัณฑ์ดำเนินธุรกิจในลักษณะบริษัทแม่ที่มีการถือหุ้นบริษัทในเครือทั้งในประเทศและต่างประเทศมากมาย ครอบคลุมทั้งอุตสาหกรรมการผลิตและการบริการ โดยแบ่งเป็น 8 สายธุรกิจหลัก 14 กลุ่มธุรกิจย่อยที่ดำเนินกิจการใน 22 ประเทศและเขตเศรษฐกิจทั่วโลก ส่งออกกว่า 140 ประเทศ ใน 6 ทวีป มีพนักงานทั้งหมดกว่า 4.5 แสนคน มีธุรกิจที่หลากหลาย ได้แก่ ธุรกิจการเกษตร-อุตสาหกรรมและอาหาร ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจการสื่อสารและโทรคมนาคม อีคอมเมิร์ซและธุรกิจดิจิทัล ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจยานยนต์และอุตสาหกรรมทั่วไป ธุรกิจเวชภัณฑ์ การเงินและการธนาคาร