“สินมั่นคง” ยื่นฟื้นฟูกิจการ คาดเริ่มจ่ายเคลมเจ้าหนี้ ปีหน้า มิ.ย. 66

22 พ.ค. 2565 | 14:16 น.
อัปเดตล่าสุด :22 พ.ค. 2565 | 21:59 น.

“สินมั่นคง SMK” แจงเจ้าหนี้โควิด หากศาลไม่อนุญาตให้บริษัทฯ ฟื้นฟูกิจการ บริษัทฯ ไม่สามารถจ่ายสินไหมโควิด -ต้องหยุดดเนินธุรกิจหาก คปภ. มีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาต

ตามที่ บริษัทสินมั่นคงประกันภัย จำกัด(มหาชน)หรือ SMK ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง(เมื่อ 17พ.ค.2565) เนื่องจากบมจ.สินมั่นคง(SMK)มียอดคงค้างจ่ายสินไหมประกันภัยโควิด-19 ประมาณ 30,000ล้านบาท จำนวนผู้ยื่นเคลมประมาณ 350,000ล้านบาท

 

หลังบริษัททยอยจ่ายเคลมสินไหมไปแล้วจำนวน 11,875ล้านบาท จากมูลหนี้รวมทั้งสิ้นกว่า 41,875ล้านบาท โดยศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเมื่อวันที่ 18 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยกำหนดนัดไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบมจ.สินมั่นคงประกันภัย(SMK)ในวันที่ 15 ส.ค. 2565 นั้น

ล่าสุดบมจ.สินมั่นคงประกันภัย(SMK)ได้ออกมาชี้แจงประเด็นประเด็นคำถามต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการยื่นฟื้นฟูกิจการของ บริษัทฯ เพื่อให้ลูกค้าประกันภัยโควิดได้มีความเข้าใจในประเด็นต่างๆ ชัดเจนมากขึ้น ดังนี้

 

ถาม : การยื่นฟื้นฟูกิจการ ใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 5 ปี หมายความว่าสินมั่นคงจะหยุดการจ่ายสินไหมโควิดไปอย่างน้อย 5 ปี จริงหรือไม่

ตอบ : ไม่จริง บริษัทฯ จะเริ่มจ่ายหลังจากศาลเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งคาดว่าจะเป็นประมาณเดือนมิถุนายน 2566 และแนวทางการจ่ายชำระหนี้ที่อยู่ในแผนฟื้นฟูกิจการจะต้องมีการเจรจากันระหว่างเจ้าหนี้และบริษัทฯ

 

โดยบริษัทฯ จะพยายามอย่างเต็มที่ที่จะหาแนวทางการชำระหนี้ที่เร็วที่สุดที่จะเป็นไปได้  และจะต้องได้รับจากแผนฟื้นฟูมากกว่ากรณีปิดกิจการ

 

ถาม : เมื่อศาลรับคำร้องขอฟื้นฟูแล้ว ทำไมจึงไม่สามารถจ่ายเงินผ่อนตามสัญญาได้

 

ตอบ : หลังศาลรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ บริษัทฯ จะไม่สามารถจ่ายสินไหมโควิดให้ผู้เอาประกันกรมธรรม์โควิดได้เป็นการชั่วคราว

 

เนื่องจากติดข้อห้ามตามกฎหมายฟื้นฟูกิจการ (Automatic Stay หรือสภาวะพักการชำระหนี้) เพื่อให้บริษัทฯ กับเจ้าหนี้ได้เจรจาตกลงหาแนวทางการชำระหนี้ผ่านกระบวนการฟื้นฟูกิจการ โดยจะต้องมีการเสนอแผนการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้โควิดอย่างเท่าเทียมกันทุกรายภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ

 

ถาม : หากศาลไม่มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ บริษัทฯ จะกลับมาจ่ายสินไหมโควิดอีกหรือไม่

 

ตอบ : หากศาลไม่อนุญาตให้บริษัทฯ ฟื้นฟูกิจการ บริษัทฯ จะไม่สามารถแก้ปัญหาทางการเงินได้ ซึ่งบริษัทฯ จะไม่สามารถจ่ายสินไหมโควิดได้ สำนักงาน คปภ. จะมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาต และบริษัทฯ ต้องหยุดดำเนินธุรกิจอย่างแน่นอน

การฟื้นฟูกิจการจึงเป็นวิธีการแก้ไขปัญหาเพียงช่องทางเดียวที่มีอยู่ หากไม่สามารถฟื้นฟูกิจการได้ จะมีผู้ได้รับผล กระทบเป็นจำนวนมากและไม่เป็นประโยชน์แก่ฝ่ายใดเลย บริษัทฯ จึงพยายามอย่างเต็มที่ที่จะดำเนินการฟื้นฟูกิจการให้ประสบความสำเร็จ เพื่อประโยชน์แก่ผู้เอาประกันโควิดและผู้เอาประกันประเภทอื่นๆ

 

ถาม : เข้าฟื้นฟูกิจการแล้วจะยังมีการจ่ายหนี้โควิดหรือไม่

ตอบ : แม้จะเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ผู้เอาประกันยังเป็นเจ้าหนี้ของบริษัทฯ โดยบริษัทฯ จะต้องเสนอแนวทางการชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งจะต้องมีมูลค่าการชำระหนี้มากกว่ากรณีที่บริษัทฯ ต้องปิดกิจการอย่างแน่นอน และหากที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติยอมรับแผนฟื้นฟูกิจการและศาลเห็นชอบด้วยแผนดังกล่าว เจ้าหนี้สินไหมโควิดย่อมได้รับชำระหนี้ตามข้อกำหนดของแผนต่อไป

 

ถาม : แผนฟื้นฟูกิจการมีระยะเวลา 5 ปี แต่การเรียกร้องค่าสินไหมของผู้เอาประกันหรือเจ้าหนี้มีอายุความ 2 ปี ทำให้อายุความในการเรียกร้องค่าสินไหมหมดก่อนที่แผนฟื้นฟูจะเสร็จ จริงหรือไม่

ตอบ : ไม่จริง การนับอายุความในการเรียกร้องค่าสินไหมจะหยุดลงเมื่อศาลรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ และจะเริ่มกลับมานับอายุความต่ออีกครั้งเมื่อออกจากการฟื้นฟูกิจการ ดังนั้น ระยะเวลาในแผนฟื้นฟูกิจการไม่ได้มีผลต่ออายุความในการเรียกร้องค่าสินไหม

 

ถาม : กระบวนการเจรจาในศาล จะเอื้อประโยชน์ให้ลูกหนี้มากกว่าเจ้าหนี้โควิด จริงหรือไม่

ตอบ : ไม่จริง การเจรจาในกระบวนการฟื้นฟูกิจการ ใช้หลักการให้เกิดผลชนะด้วยกันทั้ง 2 ฝ่ายทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ ภายใต้ความเข้าใจที่ถูกต้องระหว่างกันด้วยเหตุ ด้วยผล และข้อเท็จจริง และกฎหมายกำหนดให้เป็นสิทธิของเจ้าหนี้ที่มีสิทธิออกเสียงว่าจะยอมรับแผนฟื้นฟูกิจการที่บริษัทฯ เสนอหรือไม่

 

เนื่องจากเจ้าหนี้โควิดมีจำนวนหลายแสนราย ความคุ้มครองสูงสุดคือ 100,000 บาท และจำนวนหนี้รวม 30,000 ล้านบาท หากไม่มีการเจรจาเกิดขึ้น บริษัทฯ จะไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ต้องถูกเพิกถอนใบอนุญาตในที่สุด และเจ้าหนี้ต้องไปเรียกร้องต่อที่กองทุนประกันวินาศภัยซึ่งต้องใช้เวลาหลายปีกว่าทุกรายจะได้รับชำระหนี้

 

ถาม : การสอบถามสถานะเคลมสินไหมโควิด ติดต่อได้ที่ใดบ้าง

ตอบ : บริษัทฯ ยังเปิดให้บริการตามปกติ โดยผู้เอาประกันสามารถสอบถามสถานะเคลมสินไหมโควิดได้ที่อาคารสำนักงานใหญ่ และสาขาของบริษัทฯ ในแต่ละจังหวัด