นางสาวอุบลวรรณ คงสว่าง (พี่ป้อม) ผู้ประสานงานเครือข่ายงดเหล้า ภาคตะวันตก สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) เปิดเผยว่า หลังจากที่มีโอกาสได้ดำเนินโครงการบูรณาการสร้างสุขลดทุกข์กลุ่มแรงงานนอกระบบพื้นที่ชุมชนคนสู้เหล้า จังหวัดสุพรรณบุรี
ที่เน้นกระบวนการเสริมสร้างความเข้มแข็ง การจัดสภาพ แวดล้อมชุมชนผ่านมาตรการชุมชน โดยร่วมมือกับภาคีเครือข่ายสุขภาพ ขับเคลื่อนประเด็นการทำงานงดเหล้าและการจัดการฐานข้อมูลในพื้นที่ โดยใช้กลไกพี่เลี้ยง ขับเคลื่อนนโยบายเชิงรุก
พร้อมกับการยกระดับและพัฒนาทักษะพี่เลี้ยง ในการจัดการการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและจัดสภาพแวดล้อมชุมชน ทำให้เข้าถึงแอลกอฮอล์ได้ยากขึ้น โดยพัฒนาศักยภาพคนหัวใจเพชร/แกนนำสนับสนุนชุมชน จัดการปัญหาความเครียดจากผลกระทบโควิด ด้วยกระบวนการ “เพื่อนช่วยเพื่อน”
โดยบทบาทพี่เลี้ยง(คนหัวใจเพชร หรือ แกนนำ) ในการส่งเสริม,ป้องกันกับชุมชน และผู้ที่มีปัญหาติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้จัดการความเครียด ความกังวลใจ เพื่อการเพิ่มความสุขและลดทุกข์ในระดับบุคคล ครอบครัว และขยายผลสู่เพื่อน เครือข่าย และชุมชน อย่างเป็นระบบและสอดคล้องกับสถานการณ์
ขณะนี้ได้นำร่อง 2 จังหวัดได้แก่ สุพรรณบุรี และ ราชบุรี ภายใต้กระบวนการสร้างสุข ลดทุกข์ โดยใช้ “ต้นไม้ปัญหา” เป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ปัญหาที่นำมาใช้ในกระบวนการชวนเลิกเหล้า ซึ่งไม่เพียงแก้ปัญหาเรื่องการดื่มเหล้าได้แล้ว ยังมีผลสำเร็จในการช่วยลดปัจจัยเสี่ยงด้านอื่นๆ เพิ่มขึ้นมาด้วย อาทิ บุหรี่ การพนัน โรค NCDs เป็นต้น และในปี 2565 ภาคตะวันตก เตรียมขยายผลไปยังอีก 6 จังหวัด
“กระบวนการสร้างสุข ลดทุกข์ คนในครอบครัวของนักดื่มก็สามารถมาร่วมกระบวนการได้ เพื่อมาร่วมรับฟังถึงสาเหตุของปัญหา มาร่วมช่วยกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นภายในครอบครัว โดยมีเครื่องมือสำคัญ คือ ต้นไม้ปัญหา ที่เป็นตัวช่วยในการวิเคราะห์สาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น แล้วนำปัญหามาจัดทำแผนเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
โดยให้เขาค้นพบต้นเหตุแห่งปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น และไปแก้ไขที่ต้นเหตุ เมื่อความสัมพันธ์ภายในครอบครัวดีขึ้น สุขภาพกาย สุขภาพจิตใจดีขึ้น ส่งผลให้การทำงานดีตามมา มีกรณีตัวอย่างผู้เข้าร่วมกระบวนการหลายรายเมื่อเลิกเหล้าได้
นอกจากสุขภาพจะดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดแล้ว ค่าเหล้าก็กลับมาเป็นเงินลงทุนสร้างอาชีพใหม่ได้ ครอบครัวมีความสุขมากขึ้น เรามองว่าครอบครัวเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง” พี่ป้อมกล่าว
ด้านนายภัทรพงษ์ กิตติวิริยะพันธ์ (กำนันรุ่ง) ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า จังหวัดสุพรรณบุรี เล่าถึง ต้นไม้ปัญหา เครื่องมือสำคัญในกระบวนการช่วยเลิกเหล้า ว่า ผู้ที่เข้าร่วมกระบวนการสร้างสุขลดทุกข์ ต้องประเมินสุขภาพจิตของตนเองก่อนว่ามีความเครียดในระดับใด
โดยใช้แบบสอบถามของกรมสุขภาพจิต ชวนคิด ชวนคุยหาสาเหตุของความเครียดเกิดมาจากปัญหาอะไรบ้าง จากนั้นจึงนำเข้าสู่กระบวนการต้นไม้ปัญหา เพื่อวิเคราะห์หาหนทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยเปรียบ ปัญหาเป็นส่วนของลำต้น
ส่วนรากเป็นสาเหตุของปัญหา และส่วนยอด คือ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากปัญหาดังกล่าว จะทำให้เขาเห็นภาพรวมของปัญหาต่างๆ ได้ชัดเจนขึ้น เมื่อรู้สาเหตุที่แท้จริงของปัญหาก็สามารถแก้ไขที่ต้นทางได้
“บางคนเครียดจากปัญหาหนี้สิน สุขภาพก็ไม่ดี (ลำต้น) เมื่อไล่เรียงหาสาเหตุที่แท้จริง พบว่า เกิดจากการดื่มเหล้าหนัก (ราก) ส่งผลทำให้ร่างกายทรุดโทรม สติสัมปชัญญะไม่พร้อมทำงาน รายได้หดหาย เงินไม่พอใช้จ่าย (ยอด) เป็นการชี้ให้เห็นถึงสาเหตุที่มาแห่งปัญหา และชี้ให้เห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นด้วยว่าหากเขาไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือตัดต้นตอของปัญหาออกไป
ปัญหาต่างๆก็จะยังคงวนเวียนอยู่เช่นนี้ แต่เมื่อเขาตัดสินใจที่จะยุติปัญหาแล้ว เราจะนำเข้าสู่กระบวนการวางแผนสู่เป้าหมายแห่งชีวิตใหม่และการวางแผนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ให้สำเร็จโดยจะมีพี่เลี้ยงคอยช่วยตลอดระยะการเดินทางสู่เป้าหมายนั้น” กำนันรุ่งกล่าว
กำนันรุ่ง กล่าวอีกว่า สำหรับกิจกรรมเพิ่มเติมในกระบวนการชวนเลิกเหล้า ประกอบด้วย
ด้าน นายอดิศร เพชรคง (กอล์ฟ) และ นางปฎิสรัชดา ที่วิเศษ (ไผ่) สองสามี-ภรรยา ต.บ้านโข้ง อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี คู่ตัวอย่างที่เข้าร่วมกระบวนการสร้างสุขลดทุกข์ จนครอบครัวพลิกฟื้นกลับมาดีขึ้น โดยกอล์ฟ ฝ่ายสามี เล่าให้ฟังว่า เดิมนั้นตนดื่มเหล้ามากกว่า 20 ปี
เมื่อมีคำถามถึงจำนวนเงินที่หมดไปกับค่าเหล้าในแต่ละวัน รวมเป็นเงินเท่าไหร่ในแต่ละเดือนและจนถึงปัจจุบันหมดเงินไปแล้วเท่าไหร่ เมื่อคำนวณดูแล้วตกใจมากกับจำนวนเงินหลายล้านบาทที่หมดไปกับค่าเหล้าซึ่งสามารถนำไปซื้อบ้านซื้อรถได้เลย
ก่อนเข้าร่วมกระบวนการสร้างสุข ลดทุกข์ ตนมีปัญหาหนี้สินและสุขภาพที่ย่ำแย่จากการดื่มเหล้า ทั้งปัญหาครอบครัวที่แม้แต่แม่และภรรยายังไม่กล้าเข้ามาพูดคุยด้วย
ในกระบวนการฯ ได้นำรูปแบบ ต้นไม้ปัญหา มาช่วยวิเคราะห์หาทางออก เมื่อก่อนมีแต่เวลาสังสรรค์กับเพื่อนฝูง เมื่อเลิกดื่มก็มีเวลาให้ครอบครัวมากขึ้น ครอบครัวเราอบอุ่นขึ้น ปัญหาหนี้สินที่มีอยู่ก็เริ่มลดลง
ในแต่ละปีเราจะตั้งเป้าหมายในชีวิต ลดรายจ่าย-เพิ่มรายได้อย่างไร การทำบัญชีครัวเรือนแบบง่ายๆ จะทำให้เราเห็นภาพรายรับ-รายจ่ายชัดเจน ทำให้รู้ว่าจะเพิ่มรายรับหรือลดรายจ่ายตรงไหนได้อีกบ้าง หนี้สินมีอะไรบ้าง จดเป็นรายการไว้เลย รายการหนี้สินของเราก็ค่อยๆ ลดลงและหายไปทีละรายการแล้ว
ผมและภรรยาใช้วิธีจดเป้าหมายเป็นรายการไว้บนกระดานแขวนไว้ในจุดที่ตื่นขึ้นมาก็เห็นเลย จะช่วยให้เราตระหนักอยู่เสมอและช่วยให้เราไม่หลงลืมเป้าหมายที่วางไว้
กอล์ฟ เล่าอีกว่า ในส่วนของการเพิ่มรายได้ ได้นำเงินค่าเหล้าที่เก็บออมไว้ปรับเปลี่ยนมาเป็นทุนในการสร้างอาชีพ ด้วยการขายต้นไม้ด่าง-บอนสี โดยศึกษาหาข้อมูลจากยูทูป จนสามารถเพาะต้นพันธุ์ขายได้แล้ว พร้อมกันนี้ยังเรียนรู้การขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ปัจจุบันสามารถสร้างรายได้กว่า 7-8 หมื่นบาทต่อเดือน เรียกว่า คุณภาพชีวิตดีขึ้นมาก
หากไม่เข้ากระบวนการฯ ในตอนนั้นชีวิตก็คงเหมือนงูกินหาง จน เครียด กินเหล้า วนเวียนอยู่อย่างนั้นไม่จบสิ้น ทุกวันนี้ ตั้งแต่เลิกเหล้า ก็ไม่เครียดและไม่จน ครอบครัวมีความสุขมาก และยังได้นำประสบการณ์ชีวิตไปเป็นวิทยาทานและคอยเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษากับคนอื่นเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เขามีกำลังใจในการเลิกเหล้าด้วย