นับตั้งแต่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ประกาศเจตนารมณ์ของประเทศไทยในการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศ ภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065 สำหรับภาคป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในฐานะหน่วยงานหลักในการดำเนินการ โดยเมื่อวานนี้ (วันที่ 13 กันยายน 2565) นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้หารือร่วมกับนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง ถึงแนวทางการขับเคลื่อนโครงการปลูกป่าเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต ซึ่งคาดว่าจะสร้างประโยชน์ในหลายมิติ ทั้งเพิ่มความสมบูรณ์ของทรัพยากรป่าไม้ เพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจและลดการตั้งกำแพงภาษีจากสหภาพยุโรป ตลอดจนสร้างรายได้และประโยชน์ต่อชุมชนและประชาชน ซึ่งทั้งสองหน่วยงานกำลังเร่งรัดดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามระเบียบและข้อกฎหมายต่อไป
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อยู่ระหว่างเดินหน้าดำเนินการโครงการปลูกป่าเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต โดยจะเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนร่วมสนับสนุนการปลูกป่าในพื้นที่ของรัฐ อย่างไรก็ตาม นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ โดยให้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบความเป็นไปได้และมาตรการทางกฎหมายให้ชัดเจน โดยตนได้หารือร่วมกับปลัดกระทรวงการคลัง เพื่อกำหนดแนวทางให้เป็นไปตามข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งโครงการดังกล่าวจะช่วยให้ประเทศมีพื้นที่ป่าไม้เพิ่มขึ้น พี่น้องประชาชนได้ใช้ประโยชน์จากป่าไม้ อีกทั้งรัฐยังประหยัดงบประมาณหลายร้อยล้านบาทต่อกรม ซึ่งหากรวมพื้นที่ดำเนินการแล้วรัฐจะประหยัดงบประมาณได้นับพันล้านบาทต่อปีเลยทีเดียว ซึ่งตนได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในฐานะหน่วยงานหลัก และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ในฐานะหน่วยงานกลางในการกำหนดมาตรการและแนวทางการประเมินการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ร่วมหารือกับกระทรวงการคลังเพิ่มเติม เกี่ยวกับแนวทางการลดหย่อนภาษีจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินการโครงการ 2 เท่า การยกเว้นภาษีจากการซื้อขายคาร์บอนเครดิต เป็นต้น โดยให้เร่งรัดดำเนินการหารือเร่งด่วน ต่อไป นายจตุพร กล่าว
ด้านนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ตนได้มีโอกาสหารือร่วมกับปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมผู้บริหารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของ ทส. ซึ่งตนเห็นว่าเป็นโครงการที่มีประโยชน์ทั้งต่อหน่วยงานภาครัฐ พี่น้องประชาชน และความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรป่าไม้ของประเทศ โดยการสนับสนุนงบประมาณของภาคเอกชนเสมือนความรับผิดชอบของธุรกิจต่อสังคมที่ช่วยส่งเสริมการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ อีกทั้งยังช่วยให้เกิดการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในภาพรวมของประเทศได้อีกด้วย และยังช่วยป้องกันการตั้งกำแพงภาษีของกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา รวมถึงกลุ่มประเทศอื่น ๆ ที่ให้ความสำคัญและมีนโยบายกีดกันทางการค้ากับผู้ประกอบการที่ไม่ดำเนินการตามมาตรการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศ ซึ่งจะส่งผลต่อภาพการส่งออกของประเทศให้สามารถขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไปด้วย อย่างไรก็ตาม ตนได้สั่งการหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลังร่วมหารือกับทาง ทส. ในการกำหนดแนวทาง มาตรการและกลไกการสนับสนุนทางเศรษฐกิจสำหรับภาคเอกชนที่ชัดเจนและเป็นไปตามข้อกำหนดทางกฎหมายโดยด่วน ต่อไป
นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวเสริมว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้ประกาศระเบียบว่าด้วยการแบ่งปันคาร์บอนเครดิตที่ได้รับจาการปลูกและบำรุงป่าชายเลนจากบุคคลภายนอก พ.ศ. 2565 และระเบียบว่าด้วยการแบ่งปันคาร์บอนเครดิตที่ได้จากการปลูกและบำรุงป่าชายเลนสำหรับชุมชน พ.ศ. 2565 ซึ่งเป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและชุมชนชายฝั่งได้มีโอกาสร่วมดำเนินการปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิตร่วมกัน นอกจากนี้ ทช. ได้รายงานความคืบหน้าต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2565 รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินการในส่วนที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้ดำเนินการ โดยโครงการดังกล่าวจะช่วยเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลนกว่า 300,000 ไร่ ใน 10 ปี ภาครัฐประหยัดงบประมาณในการปลูกป่าชายเลนกว่า 600 ล้านบาทต่อปี สร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน สร้างประโยชน์และรายได้แก่ชุมชนและพี่น้องประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมถึงสะท้อนสู่การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศ ภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065 ณ ปัจจุบัน ทช. อยู่ระหว่างการจัดหาพื้นที่และคัดเลือกองค์กรที่มีความพร้อม รวมถึงชุมชนชายฝั่งที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการในปี 2565 คาดว่าในปีนี้จะสามารถดำเนินการในพื้นที่ป่าชายเลนกว่า 40,000 ไร่ และที่สำคัญคือพี่น้องประชาชนจะสามารถประกอบอาชีพตามวิธีชุมชนในเขตป่าชายเลนได้ตามปกติทุกประการ ในส่วนขององค์กรภาคธรุกิจก็จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด มีสิทธิเพียงการคิดคำนวณคาร์บอนเครดิตเท่านั้น และจะต้องดูแลป่าที่ปลูกขึ้นใหม่ต่อเนื่องไปอีก 30 ปี นายโสภณ กล่าว
นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) กล่าวว่า สำหรับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) จะได้ประสานกับคณะทำงานกระทรวงการคลังเพื่อร่วมกันกำหนดมาตรการการส่งเสริมด้านภาษีในรายละเอียดต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมให้ผู้พัฒนาโครงการสามารถลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ รวมถึง การยกเว้นภาษีกำไรจากการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ให้มีผลในทางปฏิบัติโดยเร็วต่อไป นอกจากนี้ อบก. อยู่ระหว่างการพัฒนามาตการและ Platform ระบบการประเมินคาร์บอนเครดิตที่เป็นมาตรฐานสากลและสามารถนำไปใช้การหักล้างการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือ Carbon Footprint ที่มีมาตรฐานในรูปแบบต่าง ๆ ได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น รวมถึงการพัฒนา Carbon Credits Registry Systems ที่เป็นมาตรฐานสากลและการร่วมมือกับภาคเอกชนในการสร้าง Platform การซื้อขายแลกเปลี่ยน Carbon Credit ต่อไป นายเกียรติชาย กล่าวทิ้งท้าย