ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพ ตระหนักต่อสถานการณ์นี้และเล็งเห็นสำคัญของการตรวจเชื้อ Covid-19 นำไปสู่การรักษาและควบคุมโรคได้ “นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี” เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ภายหลังที่คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติอนุมัติการใช้ชุดแอนติเจน เทสท์ คิท ตรวจหาเชื้อ Covid-19 ที่รู้ผลภายใน 30 นาที สปสช. ระดมร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อเร่งตรวจเชิงรุกให้กับประชาชน เริ่มตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม เป็นต้นมา
เบื้องต้นเปิดบริการตรวจใน 3 พื้นที่ ได้แก่ สนามกีฬาธูปะเตมีย์ กองทัพอากาศ ตั้งแต่วันที่ 12-30 ก.ค. 64 และสนามราชมังคลากีฬาสถาน (หัวหมาก) กทม. ตั้งแต่วันที่ 12-23 ก.ค. 64 ฃ โดยร่วมมือกับสถาบันป้องกันควบคุมโรคในเขตเมือง (สปคม.) กรมควบคุมโรค และศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ บริเวณลานจอดรถชั้น 1 อาคารบี ราย โดยร่วมมือกับคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่วันที่ 12-30 ก.ค. 64
อย่างไรก็ตาม ด้วยประชาชนที่จองคิวผ่านระบบออนไลน์มากกว่า 4 หมื่นคน และประชาชนที่ walk in จำนวนมาก จึงได้ขยายจุดบริการเพิ่ม โดยประสานสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) และโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ตั้งจุดตรวจในพื้นที่ สบยช. ตั้งแต่วันที่ 15 ถึง 21 ก.ค.
นอกจากนี้ ยังมีทีมหนุนเสริมโดยชมรมแพทย์ชนบท นำทีมตรวจจาก 6 โรงพยาบาล ได้แก่ ทีม รพ.สิชล, รพ.นาทวี, รพ.ด่านมะขามเตี้ย, รพ.จะนะ, รพ.บ่อเกลือ และ รพ.ขอนแก่นมาร่วมตรวจเชิงรุกให้กับประชาชนในชุมชนต่างๆ
จากความร่วมมือนี้ทำให้สถานการณ์รอคิวตรวจ Covid-19 เบาบางลง โดยข้อมูล ณ วันที่ 20 ก.ค. หลังให้บริการในช่วง 9 วัน ได้ตรวจคัดกรองประชาชนแล้ว 60,707 คน พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 7,417 ราย หรือ 12.94%
“ผลตรวจพบเชื้อโควิด-19 กว่าเจ็ดพันคน ส่งผลให้โรงพยาบาลไม่พอที่จะรองรับ สปสช. จึงเร่งจัดระบบผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีเขียวดูแลตัวเองที่บ้านหรือในชุมชน (HI/CI) เพื่อติดตามเฝ้าระวังอาการต่อเนื่อง ร่วมกับศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. และสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) พร้อมดึงคลินิกใน กทม.และปริมณฑล ร่วมดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ด้วยระบบ HI/CI ขอย้ำว่าความเดือนร้อนของประชาชนนี้ สปสช. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้นิ่งนอนใจ ต่างร่วมมือเร่งแก้ไขปัญหาโดยเร็วที่สุด ท่ามกลางวิกฤติที่ประเทศเผชิญขณะนี้” เลขาธิการ สปสช. กล่าว
นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผอ.โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา กล่าวว่า วิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้นนี้เราเห็นความเดือนร้อนของประชาชนใน กทม. ที่เข้าไม่ถึงการตรวจคัดกรอง เมื่อได้รับการประสานจาก สปสช. ก็มีความยินดี แม้ว่าที่นี่จะมีภาระงานมากเช่นกัน แต่ก็พอบริหารจัดการได้
ดังนั้นจึงได้จัดทีมตรวจคัดกรองไปให้บริการในพื้นที่ สบยช. เต็มที่และตั้งเป้าการตรวจให้ได้มากที่สุด ทั้งนี้จากข้อมูลเมื่อวันที่ 19 ก.ค. มีประชาชนที่ได้รับการตรวจหาเชื้อแล้ว 11,487 ราย ผลตรวจติดเชื้อ 2,059 ราย หรือ 17.93% ซึ่งจะนำไปสู่การดูแลต่อไป