Water Festival 2023 เทศกาลวิถีน้ำ...วิถีไทย ครั้งที่ 8 “ชื่นอุรา น่าสบาย”

31 มี.ค. 2566 | 08:03 น.
อัปเดตล่าสุด :31 มี.ค. 2566 | 08:45 น.

เตรียมจัดใหญ่พร้อมกัน 4 ภาค ทั่วประเทศ “Water Festival 2023 เทศกาลวิถีน้ำ...วิถีไทย” ครั้งที่ 8 ชูแนวคิด “ชื่นอุรา น่าสบาย” ผนึกเครือข่ายพันธมิตรทุกภาคส่วนหนุนการท่องเที่ยวชุมชนแบบยั่งยืน สืบสานอัตลักษณ์พื้นถิ่นสู่การเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของโลก

ตอกย้ำความสำเร็จของการจัดงาน พร้อมสืบสานประเพณีดีงามต้อนรับปีใหม่ไทยอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 กับงาน “Water Festival 2023 เทศกาลวิถีน้ำ...วิถีไทย” ที่เตรียมจัดอย่างยิ่งใหญ่อลังการพร้อมกันทั้ง 4 ภาค ใน 6 จังหวัดหลักของประเทศไทย ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 13-16 เมษายนนี้ ด้วยการผสานความร่วมมือขับเคลื่อนการทำงานแบบบูรณาการร่วมกัน ในทุกมิติจากหลายภาคส่วน โดยมี บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เป็นหัวเรือใหญ่และผู้สนับสนุนหลัก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวัฒนธรรม กองทัพเรือ กรุงเทพมหานคร เครือข่ายพันธมิตรทั้งภาครัฐ และเอกชน และชุมชนแต่ละท้องถิ่น เพื่อร่วมกันอนุรักษ์ สืบสานวัฒนธรรมตามแบบแผนประเพณีอันดีงามของไทย ที่เชิญชวนนักท่องเที่ยวทั้งไทย และต่างชาติ สัมผัสกับมนต์เสน่ห์แห่งความหลากหลายทางวัฒนธรรมของอัตลักษณ์พื้นถิ่นสู่การเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ที่นอกจากจะเป็นการ “บอกเล่าความเป็นไทยไปทั่วโลก” ยังเป็นการต่อยอดทุนทางวัฒนธรรม สร้างรายได้ และกระตุ้นเศรษฐกิจส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนให้แก่ชุมชนและประเทศ สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐ ล่าสุดเตรียมตั้ง บริษัท สายน้ำแห่งวัฒนธรรม จำกัด เป็นหลักขับเคลื่อนผลักดันกิจกรรมให้เป็นกิจการวิสาหกิจเพื่อชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม

โดยมี นายนภินทร ศรีสรรพางค์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานในพิธีแถลงข่าว พร้อมด้วย  นายสุรพล เศวตเศรนี ประธานการจัดงาน Water Festival 2023 เทศกาลวิถีน้ำ...วิถีไทย และ นายนิติกร กรัยวิเชียร ผู้อำนวยการโครงการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ร่วมด้วยเครือข่ายพันธมิตรทุกภาคส่วน ที่เข้าร่วมในพิธีแถลงข่าว ณ อาคารสิริภักดีธรรม วัดประยุรวงศาวาส วรวิหาร 

นายสุรพล เศวตเศรนี  ประธานการจัดงาน Water Festival 2023 เทศกาลวิถีน้ำ...วิถีไทย เผยว่า การจัดงาน“Water Festival เทศกาลวิถีน้ำ...วิถีไทย” นับตั้งแต่ปี พ.ศ 2558 ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก จากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และต่างชาติที่มาเที่ยวชมงานอย่างคึกคักทุกพื้นที่ และรับการตอบรับที่ดีจากเครือข่ายพันธมิตร ทั้งภาครัฐ และเอกชน ที่ร่วมให้การสนับสนุนการจัดงานทุกรูปแบบ โดยในปีนี้จะจัดขึ้นภายใต้แนวคิด “ชื่นอุรา น่าสบาย” ร้อนนี้มาเย็นกาย เย็นใจ รับปีใหม่ไทยด้วยความร่มเย็น ให้สบายทั้งกายและใจ สุขสบายทั้งครอบครัว 

เพื่อเป็นการร่วมอนุรักษ์ สืบสานวัฒนธรรมตามแบบแผนประเพณีอันดีงาม และส่งเสริมอุตสาหกรรมด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทย ยังมุ่งสร้างประโยชน์ในพื้นที่ ให้เกิด Impact ด้วยการยกระดับการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งในยืนมิติต่างๆ เช่น สร้างการมีส่วนร่วมของนักท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การเก็บกลับรีไซเคิล (Environment) การสืบสานศิลปวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงาม (Social) การเชื่อมโยงต่อยอดเครือข่ายแห่งความยั่งยืนให้กับชุมชนด้วยการทำงานร่วมกันแบบ บ.ว.ร. ยกกำลังสอง" บ้าน วัด โรงเรียน บริษัท วิสาหกิจเพื่อสังคม รัฐ/ราชการ (Governance)  ที่พร้อมสู่การขึ้นทะเบียนกับองค์การยูเนสโก เพื่อให้ “ประเพณีสงกรานต์” เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมชิ้นที่ 4 ของประเทศไทย เพื่อ“บอกเล่าความเป็นไทยไปทั่วโลก”  

นอกจากนั้น ยังมุ่งมั่นที่จะยกระดับงาน Water Festival สู่แพลตฟอร์มความร่วมมือที่จะรวบรวมและแบ่งปันองค์ความรู้ ยกระดับสินค้าชุมชน เพิ่มขีดความสามารถที่สร้างประโยชน์เพื่อชุมชนโดยการจัดการของชุมชน ปรับเปลี่ยนจากกิจกรรมเป็นกิจการเพื่อชุมชน เพื่อสร้างความยั่งยืนใน 4 มิติ ได้แก่ ศิลปวัฒนธรรม  สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม เป็นต้น จึงเตรียมจัดตั้ง บริษัท สายน้ำแห่งวัฒนธรรม จำกัด ให้เป็นหน่วยงานหลักที่ขับเคลื่อนและผลักดันสู่การจัดตั้ง วิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) เพื่อร่วมสนับสนุนและส่งเสริมความเข้มแข็งของเศรษฐกิจในชุมชน รวมถึงสร้างโอกาสต่อยอดมูลค่าเพิ่มของดีในชุมชนที่มีอัตลักษณ์เฉพาะถิ่นซึ่งสะท้อนถึงวัฒนธรรมของแต่ละชุมชน ทั้งอาหาร งานบริการ งานหัตถศิลป์สร้างสรรค์ต่างๆ  รวมไปถึงการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและภูมิทัศน์ชุมชน บ้าน วัด โรงเรียน และต่อยอดโอกาสทางการศึกษา พัฒนาทักษะให้กับเยาวชนในชุมชน 

โดยในปีนี้ “Water Festival 2023 เทศกาลวิถีน้ำ...วิถีไทย” ยังคงจัดเต็มไฮไลท์กิจกรรมที่น่าสนใจในแต่ละพื้นที่ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับมนต์เสน่ห์ของวัฒนธรรมที่มีความหลากหลาย และความเป็นอัตลักษณ์ประจำพื้นถิ่น ที่จะจัดขึ้นพร้อมกันทุกพื้นที่ 4 ภาค 6 จังหวัด ทั่วประเทศไทย ภาคกลาง จัดที่จังหวัดกรุงเทพมหานคร บน Landmark หลัก ริมโค้งน้ำเจ้าพระยา 11 ท่าน้ำสำคัญทางประวัติศาสตร์ ได้แก่ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร, วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร, วัดกัลยาณมิตร วรมหาวิหาร, วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร, วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร, เอเชียทีค เดอะริเวอร์ฟร้อนท์, ท่ามหาราช, เดอะ ล้ง 1919 ริเวอร์ไซด์ เฮอริเทจ เดสติเนชั่น , ท่ายอดพิมาน, ท่าสุขสยาม ณ ไอคอนสยาม และ ท่าศาลเจ้ากวนอู คลองสาน โดยมีไฮไลท์กิจกรรมเสริมสิริมงคลรับปีใหม่ไทย คือ แห่พระพุทธรูปประจำพระอารามทางน้ำ จาก 5 พระอารามหลวง ลอดอุโมงค์น้ำพระพุทธมนต์ สรงน้ำพระพุทธรูปประจำวัด ช้อปสินค้าชุมชนในตลาดโบราณ และมหรสพความบันเทิงอีกมากมาย  โดยมีเรือด่วนเจ้าพระยาให้บริการรับส่งฟรี ทั้ง 11 ท่าน้ำ ช่วงเวลา 08.30-17.00 น. ระหว่างวันที่ 13-16 เมษายน 2566 

ภาคเหนือ จัดที่จังหวัดเชียงใหม่ ณ บ้านโบราณเชียงใหม่ ถนนเจริญประเทศ จัดเต็มกิจกรรมเสริมความเป็นสิริมงคล ประเพณีดีงามของล้านนา อาทิ สักการะขอพรสรงน้ำพระพุทธรูปจากวัดตามทักษาเมืองทั้ง 9 / รับพรล้านนา รดน้ำดําหัวพ่อเฒ่าแม่แก่ / Workshop งาน Craft ล้านนากับแหล่งเรียนรู้อารยธรรมเครื่องปั้นดินเผาบ้านต้นน้ำ สล่าแดง และเรียนรู้การปั้นดินเป็นรูปสัตว์ต่างๆ เครื่องประดับล้านนา ลูกปัดดิน ถ้วยกาแฟ / กาดหมั้ว ซุ้มกาดหมั้วครัวฮอม อาหารพื้นเมืองล้านนาต้นตำรับ และอาหารร่วมสมัยจากเชฟชุมชน / ช้อปผลิตภัณฑ์สินค้าประชารัฐ / ชมการแข่งขันตำบะหนุนโดยชาวบ้านชาวชุมชน และการแข่งขันพูดจาประสาล้านนาโดยเยาวชน เป็นต้น ระหว่างวันที่ 13-16 เมษายน 2566

และจังหวัดลำพูน ณ วัดพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร อาทิ ขบวนแห่พระ /เทศกาลดนตรีวัยรุ่น การแสดงดนตรีหลากหลายประเภท ได้แก่ การแสดงขับร้องประสานเสียงโดยคณะนักร้องประสานเสียงโรงเรียนจักรคำคณากร ในวิหารวัดพระธาตุหริภุญชัย การแสดง วงดนดรีเครื่องเป่า Wind ensemble  และรถแห่วง Wind ensemble บน Landmark ต่างๆ รอบเมืองลำพูน /ช้อปผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชน Community market ณ ถนนอินทยงยศ เป็นต้น ระหว่างวันที่ 13-16 เมษายน 2566

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดที่จังหวัดอุดรธานี ณ วัดสระแก้ว และลานวัฒนธรรมมรดกโลกบ้านเชียง ร่วมสืบสานวัฒนธรรมประเพณีชุมชนไทพวน สรงน้ำพระพุทธรูป/ รดน้ำขอพรพ่อใหญ่ แม่ใหญ่ ไทยพวนบ้านเชียง ประเพณีดีงามที่สืบทอดมา   แต่ช้านาน และขบวนแห่ทางวัฒนธรรมซึ่งจัดทำโดยชุมชน ระหว่างวันที่ 13-16 เมษายน 2566

และ จังหวัดขอนแก่น ณ วัดไชยศรี  ร่วมสืบสานประเพณีบุญสงกรานต์อีสานดั้งเดิมวัดไชยศรี ทำบุญตักบาตรหน้าสิมอิ่มบุญสาวะถีวิถีสุข เจริญพระพุทธมนต์ บายศรีพระพุทธรูปและพระสงฆ์/ ก่อพระเจดีย์ทราย /พิธีสะเดาะเคราะห์วิถีดั้งเดิมของชาวอีสาน ชมศิลปกรรมและวัฒนธรรมบ้านสาวะถี ผ่านการแสดงหมอลำสุดม่วน ระหว่างวันที่ 13-16 เมษายน 2566

ภาคใต้ จัดที่จังหวัดภูเก็ต ณ วัดไม้ขาว และ Phuket Old town สนามหน้าชาร์เตอร์ (เมืองเก่าภูเก็ต) ร่วมกิจกรรม เสริมสิริมงคลรับปีใหม่ไทย ตักบาตรข้าวสารอาหารแห้ง และตักบาตรข้าวสุก ณ วัดไม้ขาว ในวันที่ 13 เมษายน 2566 / ช้อปผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชนที่สี่แยกชาร์เตอร์ และถ่ายรูปกับสตรีทอาร์ตที่ซ่อนตัวอยู่ในย่านเมืองเก่า เป็นต้น ระหว่างวันที่ 15-16 เมษายน 2566

นอกจากนี้ การจัดงาน “Water Festival เทศกาลวิถีน้ำ...วิถีไทย” ยังคงสานต่อกิจกรรมดีงามด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมที่น่าสนใจอีกมากมาย อาทิ 

  • “เก็บกลับ-รีไซเคิล” ที่เชื่อมโยง SX App (sustainability Expo Application) เพิ่มทักษะให้กับเยาวชน และตัวแทนชุมชน ด้วยการให้ความรู้ และแนะนำวิธีบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมชุมชน 

  • “เยาวชนเจ้าบ้าน สืบสานวัฒนธรรม” จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 ที่ยังคงเน้นการเพิ่มทักษะการใช้ภาษาอังกฤษให้กับเยาวชน และการเรียนรู้นอกห้องเรียน ด้วยการลงพื้นที่เผยแพร่เรื่องราว บอกเล่าประวัติศาสตร์ วิถีชีวิตของชุมชนให้กับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ ปลูกฝังความภาคภูมิใจในการเป็นส่วนหนึ่งที่ได้เผยแพร่เรื่องราวดีๆ ของชุมชนตนเองจนก่อให้เกิดการท่องเที่ยวโดยชุมชน และความยั่งยืน 
  • “ปั่นเพลินวิถีไทย Bike tour” กิจกรรมท่องเที่ยวด้วยจักรยาน-Scooter ไฟฟ้า ยังคงจัดต่อเนื่องเพื่อสร้างประโยชน์ด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชน ชมบรรยากาศวิถีชีวิตชุมชนและสถาปัตยกรรมทั้งสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ย่านฝั่งธนบุรีและพระนคร เพื่อรณรงค์การใช้พลังงานสะอาดที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ ต่อสิ่งแวดล้อมและช่วยลดภาวะโลกร้อน ผู้ที่สนใจสามารถสมัครได้ทาง Facebook: Water Festival Thailand   
  • RPST Photo Walk – Photo Talk “อร่อยจัด-ทรรศนา” ตอน กะดีจีน - พระนคร ที่เชื่อมโยงการท่องเที่ยวโดยชุมชนกับเครือข่ายรักการถ่ายภาพและสายกิน เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้อุดหนุนอาหารอร่อย และของที่ระลึกจากชุมชนตลอดเส้นทาง เช่น ขนมฝรั่งกุฏีจีน, น้ำมะตูม, ก๋วยตั๊ส, น้ำขิงปรุงอย่างเทศ, กะหรี่ปั๊บ, กะลอจี๊ เป็นต้น พร้อมบรรยายเกร็ดประวัติศาสตร์ชุมชน โดยอาจารย์ธีรนันท์ ช่วงพิชิต ร่วมกับ ตุลย์ หิรัญญลาวัลย์, จุฬวิศว์ ศานติพงศ์, วรรณพงษ์  สุรโรจน์ประจักษ์ ผู้ที่สนใจสามารถสมัครได้ทาง Facebook: Water Festival Thailand   

ร่วมสืบสานประเพณี และอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า พร้อม “บอกเล่าความเป็นไทยไปทั่วโลก” กับเทศกาล “Water Festival 2023 เทศกาลวิถีน้ำ…วิถีไทย” ครั้งที่ 8 สนุกอย่างดีงาม ก้าวข้ามปีใหม่ไทย “ชื่นอุรา น่าสบาย” ไปพร้อมกัน ระหว่างวันที่ 13-16 เมษายน นี้ ติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่  Facebook: Water Festival Thailand