“ศ.ดร.กนก” ถาม สธ. 5ข้อสงสัยปมซื้อวัคซีนโควิดสับสนสั่ง “ซิโนแวค”เพิ่มทั้งที่ประสิทธิภาพตํ่า เหตุใดแอสตร้าฯ ไม่มาตามนัดคนไทยจะได้ฉีดวัคซีนครบเมื่อไหร่ ขณะ“กมธ.งบ”ลำบากใจผ่านงบซื้อวัคซีนให้สธ.เหตุไม่ยอมเปิดรายละเอียดสัญญา
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่รายงานโดยศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. ณ วันที่ 15 ก.ค.2564 พบผู้ติดเชื้อโควิด จำนวน 9,186 ราย แบ่งเป็น ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 9,107 ราย และผู้ติดเชื้อในเรือนจำ 79 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 363,029 ราย
โดยมีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 98 ราย ทำให้การระบาดระลอกใหม่ ตั้งแต่เดือน เม.ย. 2564 มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 2,938 ราย ขณะที่ภาพรวมของการเสียชีวิต มีจำนวน 3,032 ราย
ความหวังเดียวที่จะช่วยคลี่ คลายสถานการณ์ให้ดีขึ้นคือ ประชาชนต้องได้รับการ “ฉีดวัคซีนโควิด” ให้ทั่วถึงและเร็วที่สุด แต่ “วัคซีน” ที่จะเข้ามาก็มีปัญหา ทำให้เกิดคำถามต่างๆ มากมายถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั่นคือ กระทรวงสาธารณุสข (สธ.)
ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกตั้งคำถามถึงกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) แทนประชาชน 5 คำถาม ดังนี้ คำถามที่ 1 ทำไมข้อมูลเรื่องการสั่งซื้อวัคซีนตั้งแต่ชนิดวัคซีน, ราคา ปริมาณ จนถึงวันเวลาส่งมอบจึงสับสน ซึ่งการอ้างว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดรุนแรงทั่วโลก ทำให้วัคซีนเป็นตลาดของผู้ขายไม่เพียงพอที่จะทำให้คนเชื่อ เพราะหลายประเทศได้วัคซีนไปก่อนหน้าและปริมาณที่มากกว่าไทย
คำถามที่ 2 ทำไมรัฐบาลจึงสั่งซื้อวัคซีนซิโนแวค เพิ่มอีก 20 ล้านโดส ทั้งที่เชื้อไวรัสสายพันธุ์อู่ฮั่นได้กลายพันธุ์ไปเป็นสายพันธุ์เดลต้า และอื่นๆ แล้ว ทำให้เข้าใจว่า วัคซีนซิโนแวค มีประสิทธิภาพตํ่าต่อการสร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัสที่กลายพันธุ์ไปแล้ว เมื่อเปรียบเทียบกับวัคซีนชนิดอื่นๆ เช่น ไฟเซอร์ และ โมเดอร์นาเป็นต้น
คำถามที่ 3 ทำไมการส่งมอบวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า จำนวน 60 ล้านโดสที่กระทรวงสาธารณสุขเคยให้ข้อมูลจึงล่าช้าออกไปจากเดือน ธันวาคม 2564 เป็น พฤษภาคม 2565 ทั้งที่รัฐบาลไทยได้เงินอุดหนุน 600 ล้านบาทไปก่อนหน้านี้ เปรียบเสมือนการวางมัดจำซื้อล่วงหน้า และโรงงานผลิตแอสตร้าเซนเนก้าตั้งอยู่ในประเทศไทย
คำถามที่ 4 การให้วัคซีนสลับชนิด (Brand) ระหว่างเข็มที่ 1 และ 2 ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันสูงขึ้นจริงหรือ ถ้าจริงทำไมไม่ประกาศตั้งแต่ต้นว่า จะให้สลับชนิดวัคซีน ความไม่ชัดเจนเรื่องประสิทธิภาพของการสลับชนิดวัคซีน ทำให้คนจำนวนมากเข้าใจเอาเองว่าการสลับชนิดวัคซีน (แอสตร้าเซนเนก้า กับ ซิโนแวค) ระหว่างเข็มที่ 1 และ 2 เป็นเพราะจำนวนวัคซีนแต่ละชนิดไม่เพียงพอที่จะฉีดทั้งเข็มที่ 1 และ 2 ได้
และคำถามที่ 5 สุดท้ายของทุกคำถามจบด้วยคำถามที่ว่า คนไทยจะได้ฉีดวัคซีนครบทุกคนเมื่อไร เพราะประชาชนจำนวนมากต้องนอนรักษาตัวที่บ้านตามมีตามเกิดด้วยความเสี่ยงสูง เพราะเตียงในโรงพยาบาลทุกประเภทเต็มหมดแล้ว
“ท่ามกลางคำถามมากมายเรื่องวัคซีน เรื่องที่รัฐบาลโดยศบค.ตัดสินใจให้แพทย์แผนปัจจุบันสั่งใช้ยาฟ้าทะลายโจร ที่เป็นสมุนไพรไทยในการรักษาโรคโควิด-19 โดยเฉพาะในช่วงรักษาตัวที่บ้าน ถือเป็นเรื่องที่ดีสำหรับประชาชน ต้องขอขอบพระคุณไว้ในโอกาสนี้ด้วย” ศ.ดร.กนก ระบุ
ด้าน น.ส.ธีรรัตน์ สําเร็จวาณิชย์ กทม. พรรคเพื่อไทย โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 แถลงถึงการพิจารณางบประมาณในส่วนของหน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุข ว่า ทาง กมธ.ได้สอบถามถึงวัคซีน รวมถึงรายละเอียดของสัญญาที่ทำกับบริษัทวัคซีน แต่ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ ทำให้กมธ.ลำบากใจในการอนุมัติงบประมาณ
โดยทาง กมธ.ได้สอบถามสภากาชาดไทยว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะนำเข้าวัคซีน ซึ่งนายเตช บุนนาคเลขาธิการสภากาชาดไทย ได้ชี้แจงว่า ได้ทำการเจรจากับบริษัทผู้ผลิตวัคซีนโมเดอร์นา เสร็จสิ้นแล้ว 1 ล้านโดส เหลือเพียงการเซ็นสัญญา ซึ่งเป็นขั้นตอนขององค์การเภสัชกรรม จึงยังไม่สามารถ ระบุได้ว่าจะได้เมื่อไหร่ ขึ้นอยู่กับองค์การเภสัชฯ ทั้งนี้วัคซีน 1 ล้านโดสนั้น หากได้มาจะฉีดให้ประชาชนฟรี เบื้องต้นทราบว่าน่าจะเข้ามาพร้อมกัน 5 ล้านโดส พร้อมกับคำสั่งซื้อของโรงพยาบาลเอกชน
ขณะที่ นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า หลังการล็อกดาวน์ ผ่านมา 4 วันตัวเลขผู้ติดเชื้อก็ยังไม่ลดลง จึงขอเรียกร้องไปยังนายกรัฐมนตรี ให้แก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน