การประชุมร่วมรัฐสภา เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2564 ได้พิจารณาญัตติ ขอให้รัฐสภาวินิจฉัยตีความข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ซึ่งเสนอโดย นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และคณะ ต่อกรณีที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... แก้ไขมาตราา 83 และมาตรา 91 ว่าด้วยระบบเลือกตั้งบัตร 2 ใบ ใช้อำนาจแก้ไขเนื้อหาเกินหลักการที่รัฐสภาลงมติในวาระแรกนั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
“ก้าวไกล” รุมสับแก้รธน.
นายธีรัจชัย อภิปรายในสภาฯ ว่าการที่กมธ.พิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมในมาตรา 83 และ 91 มีการแปรญัตติ ตัดทอน แก้ไขเพิ่มเติมเกินเลยไปจากที่รับหลักการเอาไว้ และมีมติเพิ่มบทบัญญัติใหม่ด้วย ซึ่งหลักการกำหนดไว้ว่าสามารถแก้ไขเพิ่มเติมได้เพียง 2 มาตราเท่านั้น ไม่อาจแก้ไขมาตราอื่นที่เกินเลยไปกว่านั้นได้ และรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 บัญญัติว่ารัฐสภาต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่อาจตีความรัฐธรรมนูญตามอำเภอใจได้
ดังนั้น การตีความและการใช้กฎหมายต้องมั่นคง แน่นอน ไม่ผันแปรไปตามเสียงข้างมากหรือผู้มีอำนาจ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านการพิจารณาในวาระรับหลักการ เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 64 ที่ให้แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และ 91 เท่านั้น ไม่ได้เขียนถึงหลักการแก้ไขระบบเลือกตั้งทั้งระบบ จึงไม่สามารถตีความ ขยายเกินหลักการโดยไม่จำกัดตามอำเภอใจของเสียงข้างมากในกมธ.ฯ ซึ่งอาจขัดรัฐธรรมนูญ
นายธีรัจชัย กล่าวต่อว่า ดังนั้นจึงขอเสนอญัตติให้สภาฯ วินิจฉัยตีความข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 114 วรรคสองและข้อ 124 เพื่อให้เกิดแนวทางที่ชัดเจนในการใช้ข้อบังคับต่อไป
ยกร่างขัดหลักการ
ด้านนายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายสนับสนุนให้รัฐสภาตีความข้อบังคับรัฐสภาข้อ 114 วรรค 2 และข้อ 124 วรรค 3 และไม่เคยปฏิเสธกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรายืนยันและสนับสนุนระบบการเลือกตั้งโดยใช้บัตร 2 ใบ และการคิดคะแนนแบบสัดส่วนที่พึงมีจริงๆ คะแนนต้องไม่ตกนํ้า
การแก้ไขรัฐธรรมนูญของเราครั้งนี้ต้องอุดรอยรั่วรัฐธรรมนูญปี 2540 เพราะมีโอกาสที่จะนำไปสู่เผด็จการรัฐสภารายงานการแก้รัฐธรรมนูญของ กมธ.แก้รัฐธรรมนูญนั้น กระบวนการที่จัดทำและการยกร่างขัดหลักการ ขัดหลักนิติรัฐ นิติธรรม ละเมิดต่อจริยธรรมร้ายแรงของสมาชิกสภาแห่งนี้ไม่ได้
เหตุผลต่อมาคือ กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นกระบวนการเฉพาะที่แตกต่างจากกฎหมายทั่วไป ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมทั้งทางตรงและทางอ้อม แต่ไม่ได้ให้อำนาจ กมธ.สามารถแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้แล้ว กมธ.จะฝืนทำได้อย่างไร
สอดใส้-รธน.มีปัญหา
ขณะที่ นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า การดำเนินการของกมธ.ที่ได้รับมอบอำนาจในการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นไม่ชอบด้วยข้อบังคับข้อ 124 เนื่องจากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการนั้นคือ ร่างที่ถูกเสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) หากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องการเปลี่ยนแปลงระบอบการเลือกตั้งทั้งระบบจริง ทำไมหลักการที่เสนอโดยพรรค ปชป.จึงไม่วางหลักการให้กว้างขวางกว่านี้
ด้วยเหตุนี้ ตนจึงขอโต้แย้ง 2 ข้อเพื่อให้เห็นว่าร่างนี้ไม่ชอบด้วยข้อบังคับของการประชุมรัฐสภา และไม่ชอบมาพากล คือ ในการรับหลักการวาระที่ 1 มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพียง 2 มาตรา คือมาตรา 83 และมาตรา 91 ปัญหาที่เกิดขึ้นทันทีคือร่างของ กมธ.กลับมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญถึง 9 มาตรา เป็นการแก้ไขขัดต่อหลักการอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการข้อความในมาตรา 85 เขียนใหม่ในมาตรา 83 หรือตัดมาตราบางมาตราของรัฐธรรมนูญทิ้งไป เป็นต้น จึงไม่ใช่การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่สอดคล้องกับหลักการตามวาระ 1 ที่สภาพิจารณา
“การแก้ไขหลักการจะเป็นอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตย ที่เรามีการใช้รัฐสภาในปัจจุบัน หากมีการแก้ไขหลักการได้ ต่อไปนี้เราก็ไม่ต้องกำหนดให้มีการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็น 3 วาระอีกต่อไป เพราะจะมีประโยชน์อะไรที่เมื่อรับหลักการในวาระ 1 ไปแล้ว ในชั้นกมธ.สามารถแก้ไข หรือ เปลี่ยนแปลงอย่างไรก็ได้ แบบนี้อย่ามี 3 วาระเลย จะแก้รัฐธรรมนูญกันอย่างไรก็เชิญ ผมอยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหลายได้รู้สึกละอายใจเสียบ้างว่า การทำเช่นนี้ไม่ต่างอะไรกับการสอดไส้ ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหากับรัฐธรรมนูญ และประเทศไทยต่อไปในอนาคต” นายรังสิมันต์ ระบุ
กมธ.ถอยแก้รธน. 4 มาตรา
อย่างไรก็ตาม ก่อนจะมีการประชุมรัฐสภาเกิดขึ้น นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานกมธ.พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ เปิดเผยภายหลังการประชุม กมธ. ว่า จะเสนอถอดการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญออก 4 มาตรา ที่กมธ.หลายคนทักท้วงว่าเกินความจำเป็นหรือไม่
ประกอบด้วย มาตรา 85 มาตรา 92 มาตรา 94 มาตรา 105 และบทเฉพาะกาล เรื่องการให้อำนาจคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออก ประกาศการจัดเลือกตั้ง หากมีการเลือกตั้งระหว่างการทำกฎหมายลูกไม่แล้วเสร็จภายใน 120 วัน
ทำให้มีมาตราที่เสนอรัฐสภา 3 มาตรา คือ มาตรา 83 และมาตรา 91 ตามร่างที่รัฐสภารับหลักการ กับมาตรา 86 เรื่องการกำหนดการเฉลี่ยประชากรตามเขตเลือกตั้ง 400 เขตให้สอดคล้องร่างที่เสนอ และบทเฉพาะกาลให้ใช้ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรก
“เชื่อว่าการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภาใช้เวลาลดลง การถกเถียงก็จะน้อยลง เพราะแก้ไขตามความจำเป็น ซึ่งการแก้ไขไปแตะอำนาจ กกต.อาจทำให้ต้องทำประชามติด้วย และมั่นใจว่ากฎหมายลูกจะสามารถจัดทำให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน เชื่อว่าจะไม่มีเหตุทางการเมืองทำให้ต้องยุบสภา หรือเหตุสุญญากาศทางการเมือง” นาย ไพบูลย์ ระบุ
หวั่นตีความ-ทำประชามติ
นายนิกร จำนง ส.ส.พรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะเลขานุการ กมธฯ ชี้แจงว่า เหตุผลที่ทบทวนและปรับออก 4 มาตรา ว่า เนื่องจากบางมาตราคงไว้ตามบทบัญญัติเดิมไม่สร้างความเสียหายหรือกระทบต่อการเลือกตั้ง เนื่องจากหลักการที่เป็นหัวใจ คือ บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ส.ส.แบ่งเขต 400 เขต และบัญชีรายชื่อ 100 คน รวมถึงได้ระบบการคำนวณคะแนนแบบที่ต้องการแล้ว
ส่วนที่ต้องตัดบางมาตราออกไปเพราะกังวลว่าอาจเข้าไปกินความอำนาจหน้าที่ของ กกต. ในฐานะองค์กรอิสระ และอาจตีความให้เกิดการนำไปทำประชามติ ที่ต้องใช้งบประมาณ 3,000 ล้านบาท ซึ่งไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ประเทศ
“ภท.”งดออกเสียงแก้รธน.
นายภราดร ปริศนานันทกุล โฆษกพรรคภูมิใจไทย (ภท.) แถลงจุด ยืนของพรรคต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าจุดยืนของพรรคยังเหมือนเดิมที่สนับสนุนให้แก้รัฐธรรมนูญได้ โดยการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) แต่ไม่สามารถเดินหน้าตั้งส.ส.ร.ได้ การแก้ไขครั้งนี้เป็นรายมาตรา และพรรคเสนอเพียงประเด็นเดียวคือ หลักประกันรายได้ถ้วนหน้าของประชาชน แต่ไม่ผ่านวาระแรก ทำให้ร่างของพรรคถูกตีตกไป
“ในประเด็นแบ่งเขตเลือกตั้ง สัดส่วน ส.ส.และบัตรเลือกตั้งแบบ 2 ใบในฉบับนี้ พรรคภูมิใจไทยมีมติร่วมกัน คือ 2 งด ได้แก่ งดใช้เสียง และ งดออกเสียง โดยจะไม่ลุกขึ้นอภิปรายในวาระที่ 2 และงดออกเสียงในทุกมาตราทั้งวาระ 2 และ 3 เนื่องจากเห็นว่าแม้การแก้ไขครั้งนี้ นักการเมืองเป็นคนที่ได้รับประโยชน์ ไม่ใช่ว่าจะแก้ไขไม่ได้ แต่กติกาเช่นนี้ควรให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะได้ผู้แทนแบบใด จึงเป็นเหตุผลที่งดสนับสนุน”
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,708 หน้า 12 วันที่ 26 - 28 สิงหาคม 2564