การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม - 3 กันยายน และลงมติในวันที่ 4 กันยายน 2564 ซึ่งบุคคลที่ฝ่ายยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจประกอบด้วย 1. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม 2. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข 3. นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน 4. นายศักดิ์สยามชิดชอบ รมว.คมนาคมล 5. นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ 6. นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
ในการอภิปรายพรรคฝ่ายค้านพุ่งเป้าโจมตีนายกรัฐมนตรี เป็นหลัก โดยในการอภิปรายวันที่สอง (1 ก.ย. 2564) นายกรัฐมนตรี ยืนยันเดินหน้าสู่การเปิดประเทศภายใน 120 วัน ตามที่ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งได้เริ่มต้นในบางพื้นที่อาทิ โครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ และจะพิจารณาในพื้นที่ต่างๆ หลังจากนี้ วันนี้เรากำลังเดินหน้าสู่ประเทศวิถีใหม่มีการเตรียมความพร้อมทุกด้าน
นายกรัฐมนตรี ยํ้าว่า ในเรื่องการเปิดประเทศ หากไม่สามารถเปิดพร้อมกันทั่วประเทศได้ ก็จะพิจารณาเปิดเฉพาะพื้นที่ เพราะไม่ว่าจะเปิดเท่าไร่ก็ตาม แต่ถ้าการแพร่ระบาดยังมีอยู่จำนวนมาก นักท่องเที่ยวก็ต้องน้อยลงเป็นธรรมดา แต่ประเด็นสำคัญคือ เป้าหมายที่เขาจะมาถ้าสามารถดำเนินการได้ทั้งประเทศต้นทางและปลายทาง ซึ่งตนก็พยายามเจรจาแต่ละประเทศโดยตลอดวันนี้ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” ถือว่ามีแนวโน้มนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น หลังจากนี้ก็จะทยอยเปิดให้มากขึ้นขึ้นอยู่กับสถานโควิด ซึ่งเราต้องช่วยกัน
ต.ค.พร้อมเปิดเฟส 2
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ชี้แจงว่า ในเรื่องการเปิดประเทศ กระทรวงท่องเที่ยวได้ดำเนินตามนโยบายของนายกฯ ในการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานทั้งกระทรวงมหาดไทย และ สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ซึ่งเปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์เป็น พื้นที่นำร่องไปแล้วก่อนหน้านี้
นักท่องเที่ยวที่เข้ามากว่า 2 หมื่นคนมีการเข้าพัก 3.6 แสนรูมไนท์ โดยกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งในส่วนของภูเก็ตแซนบ็อกและสมัยพลัส เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีการใช้จ่ายสูงถึง 6-7 หมื่นบาทต่อทริป
นอกเหนือจากนักท่องเที่ยวตามโครงการภูเก็นแซนด์บ็อก ที่เข้ามากว่า 2 หมื่นคน มีการเข้าพัก 3.6 แสนรูมไนท์แล้ว ในส่วนของสมุยพลัสยังมีนักท่องเที่ยวที่เข้าพักถึง 5,727 คืน สิ่งเหล่านี้เป็นการการทดสอบเบื้องต้นตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี
ส่วนการเปิดประเทศหลังจากนี้จะเป็นการเปิดประเทศในระยะที่ 2 มีไทม์ไลน์คือ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. เป็นต้นไป จะเปิดเพิ่มอีก 5 จังหวัด คือ กทม.,ชลบุรี, เพชรบุรี, ประจวบคีรีขันธ์ และ เชียงใหม่
ขณะที่ระยะที่ 3 จะเปิดเพิ่มอีก 21 จังหวัด ซึ่งคลอบคลุมทั้งประเทศ
ภาคเหนือ ประกอบด้วย ลำพูน, แพร่, น่าน, แม่ฮ่องสอน, เชียงราย, สุโขทัย
ภาคอีสาน ประกอบด้วย อุดรธานี, หนองคาย, บึงกาฬ, อุบลราชธานี
ภาคตะวันตก ได้แก่ กาญจนบุรี, ราชบุรี
ภาคตะวันออก ได้แก่ ระยอง, จันทบุรี, ตราด
ภาคกลาง ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา ภาคใต้ ได้แก่ ระนอง, ตรัง, สตูล, สงขลา, นครศรีธรรมราช โดยในระยะที่ 3 จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค. เป็นต้นไป
หวั่นฉีดวัคซีนไม่ตามเป้า
นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม ส.ส. เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย อภิปรายแผนการเปิดประเทศภายใน 120 วันของรัฐบาล ว่า ต้องมีการฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ครอบคลุมก่อนจึงจะสามารถเปิดประเทศได้
โดยก่อนหน้านี้พล.อ.ประยุทธ์ เคยประกาศว่า จะฉีดวัคซีนเข็มแรกให้ครบ 50 ล้านคนในต้นเดือนตุลาคม ซึ่งค่าเฉลี่ยการฉีดวัคซีนต่อวันในขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 3 แสนคนต่อวัน แต่หากจะเปิดประเทศซึ่งเหลือระยะเวลาเพียง 40 วัน จะต้องฉีดวัคซีนให้ได้ 5 แสนคนต่อวัน ถ้าต้องการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ 70%
แต่หากมีการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 ต้องฉีดวัคซีนเพิ่มเป็น 85% หรือวันละ 8 แสนคนต่อวัน ซึ่งแผนการจัดการนี้เป็นแผนการบริหารจัดการที่ เป็นไปไม่ได้
“หากฉีดวัคซีนด้วยอัตราความ เร็วเท่าเดิม จะต้องสูญเสียมูลค่าการท่องเที่ยวช้าออกไปอีก 30 วัน เสียค่าโง่ 1.73 แสนล้านบาท หากต้องการให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ 85% จะเสียค่าโง่ 3.3 แสนล้านบาท”
นายจักรพล กล่าวอีกว่า ด้านโรงแรมต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการปิดประเทศนั้น ปัจจุบันเหลือเปิดให้ บริการอยู่เพียง 38% เท่านั้น และปิดกิจการชั่วคราวไปกว่า 30% ซึ่งมาตรการที่ภาครัฐที่ออกมาอย่างมาตรการ “เราเที่ยวด้วยกัน” นั้น เป็นมาตรการที่ไม่ครอบคลุมทุกอาชีพที่มีความเกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยว เช่น มัคคุเทศก์ ในขณะเดียวกันเป็นมาตรการที่ก่อให้เกิดการทุจริตในส่วนของธุรกิจโรงแรม และธุรกิจทัวร์
สำหรับนโยบายภูเก็ตแซนด์บอกซ์ความหวังเดียวของภาคการท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่านักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางเข้ามาตามเป้าหมายที่วางไว้ จากการบริหารจัดการที่ไม่ดี และได้เกิดเหตุการณ์สะเทือนใจที่ภูเก็ต ประกอบกับช่วงปลายเดือน ก.ค. ที่ผ่านมามีการติดเชื้อเกินมาตรฐานที่ตั้งไว้ 90 คนต่อสัปดาห์จึงได้มีมาตรการการปิดสถานที่ต่างๆ ในจังหวัดอีกครั้ง เนื่องจากยังมีการฉีดวัคซีนเข็มที่สองที่ยังไม่ทั่วถึง
“หากพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลการท่องเที่ยวจะไม่ดิ่งลงเหว ด้วยการดำเนินมาตรการที่เคยเสนอแก่ พล.อ. ประยุทธ์ ทั้งเปิดประเทศผ่านมาตรการวัคซีนพาสปอร์ต, มาตราการคงการจ้างงานโดยเฉพาะโรงแรม ปล่อยเงินกู้ 0%, และมาตรการฟื้นฟูสร้างแหล่งท่องเที่ยว 1 อำเภอ 1 แหล่งท่องเที่ยวใหม่ เพื่อรองรับการท่องเที่ยวแบบ New Normal โดยหากดำเนินมาตรการแบบที่พรรคเพื่อไทยเคยเสนอ จะสามารถสร้างรายได้การท่องเที่ยวถึง 7 เท่าของรายได้ที่รัฐบาลดำเนินการอยู่ขณะนี้” ส.ส.พรรคเพื่อไทย ระบุ