ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า สำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนผู้เอาประกันภัย ได้ดำเนินการวิเคราะห์และติดตามความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจประกันภัย เพื่อลดโอกาสในการเกิดความเสี่ยง และความรุนแรงของความเสี่ยงภายในธุรกิจประกันภัย โดยได้สำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงของธุรกิจประกันภัยไทย ประจำปี 2564 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจแนวทางและมุมมอง ประกอบการวิเคราะห์และติดตามความเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อเสถียรภาพของธุรกิจประกันภัยไทยให้ครอบคลุมทุกมิติและมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงนำผลสำรวจดังกล่าวมาเป็นข้อมูลความเสี่ยงประกอบการกำหนดสถานการณ์จำลอง ในการจัดทำการทดสอบภาวะวิกฤต (Stress Test) ซึ่งครอบคลุมทั้งกลุ่มธุรกิจประกันชีวิต และกลุ่มธุรกิจประกันวินาศภัย
โดยแบบสอบถามจะสำรวจถึงแหล่งที่มาของความเสี่ยง พร้อมจัดอันดับความเสี่ยงสำคัญ 5 อันดับแรก ที่หากเกิดขึ้นในอนาคต และจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของธุรกิจประกันภัยไทย รวมทั้งมีการสำรวจมุมมองต่อเสถียรภาพของธุรกิจประกันภัยไทย ในระยะข้างหน้า เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่อาจขึ้นได้อย่างทันท่วงที
เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า ผลการสำรวจความคิดเห็นความเสี่ยงสำคัญ 5 อันดับแรก ทั้งจากธุรกิจประกันชีวิต และธุรกิจประกันวินาศภัย พบว่า มีความคล้ายคลึงกันส่วนใหญ่เป็นความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก ซึ่งถือว่าเป็น External Factors ที่ยากต่อการควบคุม โดยผลการสำรวจความเสี่ยงสำคัญ 5 อันดับแรก ที่ธุรกิจประกันชีวิต เห็นว่าจะส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจ มีดังนี้ 1. ความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ย อาทิ ความเสี่ยงที่เกิดภายใต้ภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำ 2. ความเสี่ยงด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ อาทิ การโจมตีไซเบอร์ 3. โรคระบาดหรือติดเชื้อ อาทิ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) 4. ความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก/การชะงักงันทางเศรษฐกิจ โดยให้ความเห็นว่าเป็นความเสี่ยงที่บริหารจัดการยากที่สุด และ 5. ความเสี่ยงจาก Disruptive Technology อาทิ Cryptocurrency, AI และ Big Data
สำหรับผลสำรวจความคิดเห็นของความเสี่ยงสำคัญ 5 อันดับแรก ที่ธุรกิจประกันวินาศภัย เห็นว่าจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจประกอบธุรกิจ มีดังนี้ 1. โรคระบาดหรือติดเชื้อ อาทิ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยให้ความเห็นเป็นความเสี่ยงที่บริหารจัดการยากที่สุด 2. ความเสี่ยงด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ อาทิ การโจมตีไซเบอร์ 3. การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก/การชะงักงันทางเศรษฐกิจ 4. สภาพการแข่งขันในตลาดประกันภัยที่รุนแรง และ 5. ความเสี่ยงจาก Disruptive Technology อาทิ Cryptocurrency, AI, Big Data และภัยธรรมชาติ/ภัยพิบัติ
ในส่วนของมุมมองต่อเสถียรภาพของธุรกิจประกันภัยไทยในระยะข้างหน้า ทั้งธุรกิจประกันชีวิตและธุรกิจประกันวินาศภัย ส่วนใหญ่ประเมินว่ามีความน่าจะเป็นที่จะเกิดเหตุการณ์ที่มีผลกระทบรุนแรงต่อเสถียรภาพของธุรกิจประกันภัยไทยอยู่ในระดับ “ปานกลาง” ถึง “สูง” ทั้งในระยะสั้น 1 ปีข้างหน้า และระยะปานกลาง 1-3 ปีข้างหน้า อีกทั้ง มีความน่าจะเป็นที่จะเกิดเหตุการณ์ที่มีผลกระทบรุนแรงในระยะสั้นและระยะยาวเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับ 1 ปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ โดยภาพรวมทั้ง 2 ธุรกิจยังคงมีความเชื่อมั่นต่อเสถียรภาพของธุรกิจประกันภัยไทยในระยะ 3 ปีข้างหน้า ซึ่งจากผลสำรวจพบว่า มีสัดส่วนของผู้ที่ตอบ “ค่อนข้างมั่นใจ” เกิน 50% ของจำนวนผู้ที่ตอบแบบสอบถามทั้งหมด
“จากผลสำรวจ Risk Survey ที่ได้รับในครั้งนี้ จะทำให้ประชาชนผู้เอาประกันภัยทราบความคิดเห็นของผู้บริหารธุรกิจประกันภัยไทย สำหรับปัจจัยความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นและการเตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการ อีกทั้งยังเป็นการสร้างความมั่นใจได้ว่าระบบประกันภัยยังมีความพร้อมที่จะเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพให้กับประชาชนได้” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย