สำนักพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA เผยถึงบทบาทหน้าที่พัฒนานำภาครัฐสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล ชูผลงานความสำเร็จในปีที่ผ่านมา พร้อมปี 2565 จะเป็นปีแห่ง “Data Driven Government” เต็มรูปแบบ ลั่นปี 2566-2567 มี 4 ยุทธศาสตร์ ยกระดับนวัตกรรมบริการดิจิทัล
ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (DGA) เปิดเผยว่า ปัจจุบันบทบาทของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA คือให้บริการส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐ, หน่วยงานอื่นเกี่ยวกับการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ภายใต้วิสัยทัศน์ “นำภาครัฐสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล" โดยเริ่มตั้งแต่พัฒนา บริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีดิจิทัลและระบบการให้บริการ หรือ แอปพลิเคชันพื้นฐานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลดิจิทัล เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงข้อมูลและระบบการทํางานระหว่างกันของหน่วยงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสอดคล้องกัน
นอกจากนี้คือ ส่งเสริมสนับสนุนแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานของภาครัฐผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนทะเบียนข้อมูลดิจิทัลภาครัฐ ช่วยให้ประชาชนได้รับความสะดวกในด้านการบริการรวมและ สนับสนุนการศึกษา งานวิจัย สร้างนวัตกรรม ในการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล
สำหรับในปีที่ผ่านมา DGA มีผลงานที่ประสบความสำเร็จอย่างมากมาย เพื่อปรับเปลี่ยนไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล โดยเฉพาะเรื่อง “ข้อมูล” ที่เป็นหัวใจสำคัญต่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ในการเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน เอกชน และภาครัฐ
โดยปี 2565 ถือว่าเป็นปีแห่ง “Data Driven Government” เต็มรูปแบบ ในการจะใช้ประโยชน์จาก Big Data มาส่งเสริมให้เกิดการเปิดเผยข้อมูลและการใช้ประโยชน์จากข้อมูลเปิด ผ่านเว็บไซต์ศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ data.go.th ปัจจุบันมีชุดข้อมูลเปิดภาครัฐ จำนวน 6,987 ชุดข้อมูลจาก 1,226 หน่วยงาน และมีผู้เข้าเยี่ยมชมทั้งหมด 8,759,536 ครั้ง (ข้อมูล ณ วันที่ 8 ก.ค. 2565) อีกทั้งจะมีโครงการจัดทำเอกสารสำคัญทางการศึกษาในรูปแบบดิจิทัล (Digital Transcript) เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนิสิตนักศึกษาและช่วยลดภาระงานเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบเอกสาร
ปัจจุบันมีสถาบันอุดมศึกษาที่ให้บริการ Digital Transcript จำนวน 39 แห่ง ผลิตเอกสารทางการศึกษาในรูปแบบดิจิทัลให้กับนิสิตและผู้สำเร็จการศึกษาแล้ว จำนวน 456,787 ฉบับ และ มีหน่วยงานรัฐ องค์กรสถาบัน บริษัทเอกชนจำนวน 194 หน่วยงาน ถือว่าช่วยลดการใช้กระดาษ ลดภาระของหน่วยงาน เวลาและขั้นตอนในการตรวจสอบเอกสารสำคัญทางการศึกษา
สำหรับด้านการพัฒนาแพลตฟอร์มกลางข้อมูลด้านสวัสดิการ (Welfare Platform) ได้พัฒนาแอปพลิเคชัน "ทางรัฐ" เพื่อมุ่งเน้นการให้บริการจากภาครัฐ ในการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย ปัจจุบันมีบริการทั้งหมด 65 บริการ มีผู้ดาวน์โหลดกว่า 253,587 ครั้ง และเข้าถึงบริการกว่า 2,014,728 (ข้อมูล ณ วันที่ 4 ก.ค 2565) ในภาคธุรกิจได้พัฒนาระบบชื่อ ว่า Bizportal ผ่านเว็บไวต์ “bizportal.go.th” ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลและงานบริการสำหรับผู้ประกอบการหรือนักธุรกิจให้สามารถทำธุรกรรมผ่านเว็บไซต์ได้โดยง่ายปัจจุบัน ครอบคลุม 25 ธุรกิจ 94 ใบอนุญาต และสำหรับชาวต่างชาติ DGA ได้จัดทำ (ร่าง)แผนแม่บทการพัฒนาพอร์ทัลบริการเพื่อชาวต่างชาติระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) เพื่อช่วยลดภาระให้หน่วยงานภาครัฐและชาวต่างชาติทำธุรกรรมต่าง ๆ ทั้งด้านเวลา ค่าใช้จ่าย และลดการให้ข้อมูลที่ซ้ำซ้อนลงด้วย
ส่วนด้านกฎหมาย (Law Portal) มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และร่วมประเมินผลผ่านเว็บไซต์ www.law.go.th ปัจจุบันระบบ Law Portal ระยะที่ 1 เสร็จแล้ว มีกฎหมายเข้าสู่ระบบเพื่อรับฟังความคิดเห็น จำนวน 238 ฉบับ จาก 71 หน่วยงาน มีผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นมากถึง 62,289 ครั้ง (ข้อมูล ณ วันที่ 8 ก.ค.)
นอกจากนี้ DGA จะเดินหน้าเร่งขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัลเชิงรุก ในโครงการขับเคลื่อนการพัฒนาท้องถิ่นดิจิทัลด้วย“ระบบบริหารงานและให้บริการประชาชนสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น”เพื่อสนับสนุนการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัลมุ่งสู่“องค์กรดิจิทัลท้องถิ่น” อีกด้วย
ดร.สุพจน์ กล่าวเสริมว่า ในปีนี้DGA ได้จัดทำ (ร่าง) แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย พ.ศ. 2566 – 2570 เพื่อเป็นกรอบและทิศทางการบริหารงานภาครัฐ มุ่งปรับกระบวนการทำงานโดยใช้โครงสร้างพื้นฐานกลางร่วมทุกหน่วยงานรัฐ เพื่อพัฒนาบริการ ณ แพลตฟอร์มร่วมกับผู้ใช้งาน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชน
สนับสนุนความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อสร้างมูลค่า นวัตกรรมให้กับการบริการ โดยมีเป้าหมายตอบสนองประชาชนและลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการ มีความโปร่งใส เปิดเผยข้อมูล ประชาชนเชื่อถือได้ เป็นภาครัฐที่ปรับตัวทันการณ์
สำหรับร่างแผนฉบับนี้จะมุ่งเน้นความสำคัญ 10 กลุ่ม ได้แก่ การศึกษา สุขภาพและการแพทย์ เกษตร สวัสดิการประชาชน SME แรงงาน สิ่งแวดล้อม ยุติธรรม และการท่องเที่ยว เพื่อให้ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม ทุกท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น โดยจะแบ่งเป็น 4 ยุทธศาสตร์ คือ 1. พัฒนาการบริการสะดวก เข้าถึงง่าย ในรูปแบบออนไลน์ เบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (One-Stop Service), สร้างแพลตฟอร์มการบริการให้ตรงความต้องการของผู้ใช้, วิจัยและพัฒนานวัตกรรมบริการดิจิทัลภาครัฐเพื่อยกระดับบริการดิจิทัล
2. สร้างมูลค่าเพิ่มและอำนวยความสะดวกแก่ภาคธุรกิจ สนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง, ทบทวน ปรับปรุง กระบวนการที่เป็นอุปสรรคต่อผู้ประกอบการในการดำเนินธุรกิจ, มีเครื่องมือดิจิทัลให้แก่ผู้ประกอบการเพื่อเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน
3.ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน และเปิดเผยข้อมูลเปิดภาครัฐ, พัฒนากลไกตรวจสอบการดำเนินงานของภาครัฐ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส,จัดให้มีคู่มือในการเปิดข้อมูลภาครัฐที่ปลอดภัย และไม่ละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล
4.บูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เพื่อการบริหารงานที่ยืดหยุ่นคล่องตัว ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชนในการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล, ลด ละ เลิกการขอสำเนาเอกสารจากประชาชน
อย่างไรก็ดี ภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชน จำเป็นต้องร่วมมือกัน เพื่อพัฒนาเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้เจริญภายใต้ความแตกต่างหลากหลาย โดยยึดให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่สังคมและประเทศเป็นที่ตั้ง เพราะปัจจุบัน ความท้าทายในการทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ คือ กำลังคนและงบประมาณที่ DGA ต้องบริหารจัดกาให้สามารถดำเนินการทุกอย่างได้อย่างดีมีประสิทธิสูงสุด ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ บทบาทและเป้าหมายของ DGA ในวันข้างหน้าว่า “บริการภาครัฐ สะดวก โปร่งใส ทันสมัย ตอบโจทย์ประชาชน”