กลุ่มบริษัทสยามพิวรรธน์ประกาศเดินหน้าองค์กรต้นแบบด้านสิ่งแวดล้อม สร้างผลกระทบเชิงบวกด้วยการฟื้นฟูและส่งต่อโลกที่น่าอยู่ สร้างสรรค์แคมเปญ “Citizen of Earth by Siam Piwat” จับมือพันธมิตรอีโคซิสเต็มมอบต้นไม้จากการทำกิจกรรม SIAM CENTER RUN FOREST RUN เปลี่ยนกิโลเมตรจากการวิ่งบนลู่วิ่งกลางสยามเซ็นเตอร์ทุก 1 กิโลเมตรเป็นต้นไม้ 1 ต้น
โดยมีเป้าหมาย 100,000 ต้น เพื่อปลูกในพื้นที่สาธารณะช่วยฟื้นฟูพื้นที่สีเขียวให้แก่กรุงเทพมหานคร โดยได้รับเกียรติจากนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นผู้รับมอบและร่วมปลูกต้นไม้กับคณะผู้บริหาร พนักงานกลุ่มบริษัทสยามพิวรรธน์ พันธมิตร พนักงานกรุงเทพมหานคร ณ สวนราชเทวีภิรมย์ เขตราชเทวี เมื่อเร็วๆ นี้
สำหรับแคมเปญ “Citizen of Earth by Siam Piwat” กลุ่มบริษัทสยามพิวรรธน์ได้มีพันธกิจในการร่วมเป็น ส่วนหนึ่งของการร่วมรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเพื่อโลกที่น่าอยู่ โดยเริ่มดำเนินการสร้างสรรค์กิจกรรมรูปแบบต่างๆ ด้วยการจับมือกลุ่มพันธมิตรอีโคซิสเต็ม ทำกิจกรรมในการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ จึงนำต้นไม้ 4,504 ต้น จากการทำกิจกรรม SIAM CENTER RUN FOREST RUN ระหว่างวันที่ 20 ก.ค.-10 ส.ค.ที่ผ่านมา
จัดขึ้นโดยสยามเซ็นเตอร์ ร่วมกับเวอร์จิ้น แอ็คทีฟ มอบให้กับกรุงเทพมหานคร โดยตั้งเป้าพันธกิจช่วยสร้างพื้นที่สีเขียวช่วยดูดซับคาร์บอนและเพิ่มออกซิเจนให้โลกด้วยการเชิญชวนพนักงาน พันธมิตรอีโคซิสเต็มภาครัฐและเอกชน ลูกค้า ร่วมกันปลูกต้นไม้จำนวน 100,000 ต้น ช่วยฟื้นฟูพื้นที่สีเขียวอย่างยั่งยืนในพื้นที่สาธารณะให้กับกรุงเทพมหานคร
กิจกรรมมอบต้นไม้ปลูกต้นไม้ภายใต้แคมเปญ “Citizen of Earth by Siam Piwat” ครั้งนี้ กลุ่มบริษัท สยามพิวรรธน์ ยังจับมือกับบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC ในการลดปริมาณขยะ แปรรูปขยะพลาสติกให้กลับมาใช้ประโยชน์ได้ใหม่ ด้วยการนำถุงดำจากการเพาะกล้าไม้จากแคมเปญเพื่อสิ่งแวดล้อมนี้ กลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ โดย SCGC ได้เชื่อมโยงพาร์ทเนอร์ในห่วงโซ่คุณค่าทั้งหมดเข้าด้วยกัน และพัฒนาให้เกิดการรีไซเคิลแบบระบบปิด (Closed-loop Recycling) เปลี่ยนขยะที่ไม่มีมูลค่าสู่ผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้
จึงนำถุงดำจากการเพาะกล้าไม้มาผ่านกระบวนการรีไซเคิล จนเกิดเป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิล แล้วนำไปขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อาทิ เช่น ถุงขยะ กระถางต้นไม้ ถังขยะ เป็นต้น ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นการพัฒนากระบวนการและเทคโนโลยีที่ช่วยส่งเสริมการแก้ปัญหาขยะพลาสติกตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยคาดว่าจะสามารถขยายโมเดลนี้ไปสู่ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ต่อไปในอนาคต เพื่อช่วยลดปริมาณขยะสะสมในประเทศ และช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างยั่งยืน