จากปัญหาแหล่งน้ำมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในการขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยเฉพาะพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ที่เป็นพื้นที่รองรับการลงทุนที่สำคัญ และจะเป็นแรงขับเคลื่อนในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจใหม่ให้กับประเทศให้ขยายตัวไปข้างหน้า
จากปัญหาและความสำคัญของแหล่งน้ำดังกล่าว ได้นำไปสู่การทำงานเชิงรุกของสำนักงานชลประทานที่ 9 ในการรองรับและแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ มุ่งเน้นการบริหารทรัพยากรน้ำแบบครบวงจร ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน โดยเน้นการสร้างแหล่งน้ำ การเก็บกักน้ำ และการเชื่อมโยงโครงข่ายน้ำเพื่อประโยชน์แก่ผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วน
ว่าที่เรือตรีธงชัย บุญก่อเกื้อ เกษตรกรผู้มีส่วนได้เสียจากการบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทาน กล่าวว่า ในพื้นที่อำเภอวังจันทร์ ของจังหวัดระยอง เกษตรกรส่วนใหญ่มีอาชีพทำสวนทุเรียน ส่วนยางพาราในพื้นที่ลดน้อยลง โดยเกษตรกรได้อาศัยน้ำจากธรรมชาติ และอีกส่วนหนึ่งได้ใช้น้ำจากชลประทานเป็นองค์ประกอบในการทำสวนทุเรียนในพื้นที่ ซึ่งช่วยเพิ่มผลผลผลิต และรายได้ให้เกษตรกร สามารถสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี
ขณะเดียวกันชลประทาน ยังมีการบริหารจัดการน้ำให้กับทุกภาคส่วนในพื้นที่ EEC ไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และอื่น ๆ ซึ่งการจัดสรรน้ำนี้ หากทุกฝ่ายได้รับน้ำอย่างเพียงพอก็จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของพื้นที่ในภาพรวม
บทสรุป การวางแผนทำงานบริหารจัดการน้ำอย่างมีวิสัยทัศน์ รอบคอบ และเป็นระบบ ทำให้กรมชลประทาน มีปริมาณน้ำสำรองต่อสู้กับวิกฤติภัยแล้งจนรอดพ้นภัยได้ในหลายปีที่ผ่านมา และภารกิจในอนาคตที่สำคัญ คือ การสนับสนุนให้ทุกกิจกรรมในพื้นที่ EEC รวมถึงประชาชนในพื้นที่ได้รับการจัดสรรน้ำอย่างทั่วถึงในอีก 20 ปีข้างหน้า เพื่อร่วมสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจไทยได้อย่างมั่นคงและสมดุล