‘สวนสัตว์ใหม่’ทุ่งน้ำ5โซนทั่วโลก แลนด์มาร์คแหล่งเรียนรู้แห่งเอเชีย

05 ม.ค. 2566 | 00:55 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ม.ค. 2566 | 10:37 น.

‘สวนสัตว์ใหม่’ทุ่งน้ำ5โซนทั่วโลก แลนด์มาร์คแหล่งเรียนรู้แห่งเอเชีย

“สวนสัตว์แห่งใหม่” บริเวณคลองหก อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ที่จะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2571 จะไม่ใช่แค่แหล่งท่องเที่ยว แต่จะต้องเป็นแหล่งเรียนรู้ เพื่อให้มนุษย์เข้าใจสิ่งมีชีวิตอื่นๆบนโลกมากขึ้น ที่แห่งนี้จะได้ยินเสียงพูดของสัตว์ต่างๆ ได้ย้อนไปเห็นอดีตของสัตว์ที่สูญพันธ์ุจากโลกไปแล้ว ผ่านเทคโนโลยีที่ทันสมัยและการจัดแสดงสวนสัตว์แบบ “พื้นที่ทุ่งน้ำ” มีสัตว์และพืชจาก 5 โซนทั่วโลกนับเป็นแห่งแรกของเอเชีย
    

อรรถพร ศรีเหรัญ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย บอกว่าสวนสัตว์อาจเรียกได้ว่าเป็นสวนสาธารณะประเภทหนึ่ง ซึ่งโดยทั่วไปสวนสัตว์มักจะตั้งชื่อตามเมืองที่ตั้ง อาทิ สวนสัตว์สงขลา สวนสัตว์เชียงใหม่ เป็นต้น เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นว่าเป็นสมบัติของเมืองที่ทุกคนต้องช่วยกันดูแล ส่งเสริม สนับสนุน และเป็นเจ้าบ้านที่ดี ดังนั้น การไปสวนสัตว์ไม่ใช่แค่การไปเที่ยว แต่เพื่อไปใช้ชีวิตในนั้น เรียนรู้สิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่ไม่ใช่มนุษย์

แหล่งเรียนรู้แห่งเอเชีย 
    

“สวนสัตว์มีคุณค่าในตัวเอง เพราะน้อยคนที่จะได้เข้าไปเรียนรู้ชีวิตสัตว์ในป่าจริงๆ สวนสัตว์ จึงเป็นแหล่งเพิ่มความรู้ เพิ่มประสบการณ์ และได้เห็นสัตว์จริงแทนที่จะได้เห็นแต่ภาพหรือผ่านอินเตอร์เน็ต เพื่อให้มนุษย์เข้าใจและปกป้องสัตว์ในธรรมชาติ” ผอ.อรรถพรกล่าว 
    

สวนสัตว์แห่งใหม่เป็นการจัดแสดงแบบแนวคิดพื้นที่ทุ่งน้ำแห่งแรกของเอเชีย เพราะฉะนั้น ที่แห่งนี้จะเป็นแลนด์มาร์คแหล่งเรียนรู้แห่งใหม่ของภูมิภาคเอเชีย ที่จะได้เรียนรู้ครบถ้วนของชีวิตสัตว์ทั้งถิ่นที่อยู่อาศัยและพฤติกรรมสัตว์ ผ่านของจริงผสมผสานกับเทคโนโลยีที่ทันสมัย 
    

เมื่อแล้วเสร็จ ผู้คนจะสามารถเข้ามาเรียนรู้เพื่อเข้าใจสัตว์จาก 5 โซนพื้นที่ทุ่งน้ำทั่วโลกได้เพียงเดินทางมา ณ สวนสัตว์แห่งนี้ที่เดียว 

5 โซนพื้นที่ทุ่งน้ำโลก 
    

สวนสัตว์แห่งนี้จะเป็นการเชื่อมโลกอดีต ปัจจุบัน อนาคต และด้วยพื้นที่ตั้งของสวนสัตว์แห่งใหม่เดิมเป็น “พื้นที่ทุ่งน้ำรังสิต” การออกแบบส่วนจัดแสดงสัตว์จึงอยู่บนแนวคิดการจัดการพื้นทุ่งน้ำ โดยจะมีสายน้ำเป็นแกนกลางของพื้นที่จัดแสดง มีสัตว์และพืชทุ่งน้ำจาก 5 โซนทั่วโลกมาอยู่รวมกันตามภูมิภาคและอาศัยร่วมกันเสมือนอยู่ในธรรมชาติตามระบบนิเวศถิ่นที่อยู่ ประกอบด้วย 1.โซนเอเชีย 2.โซนแอฟริกา 3.โซนออสเตรเลีย 4.โซนอเมริกาใต้ และ5.โซนอเมซอน ตัวอย่างสัตว์ เช่น ช้างไทย นกกระเรียนไทย ละมั่ง ค่าง 5 สี เสือลายเมฆ โอคาพี ลิงโคโลมัส เต่ายักษ์อัลดาบร้า ยีราฟ และงูอนาคอนดา
เป็นต้น 
    

สวนสัตว์แห่งใหม่แตกต่างจากสวนสัตว์อื่นๆ ตรงที่เป็นการจัดแสดงแบบพื้นที่ทุ่งน้ำ ซึ่งนับเป็นแห่งแรกของเอเชีย โดยแต่ละโซนจะมีสภาพแวดล้อมเหมือนกับพื้นที่จริงของภูมิภาคนั้น ไม่ได้เป็นป่าแบบเขียวชะอุ่มทั้งหมด แต่บางโซนอาจเป็นทุ่งหญ้าที่แห้งแล้งก็เป็นสภาพของภูมิภาค เพราะสัตว์บางชนิดไม่ได้อาศัยอยู่ในป่าเขียวๆ แต่อยู่ในพื้นที่แห้งแล้ง การจัดแสดงตามสภาพที่อยู่จริงของสัตว์นี้ จะทำให้คนได้เรียนรู้และเข้าใจธรรมชาติของสัตว์แต่ละชนิดมากขึ้น
    

“ที่สำคัญพื้นที่จัดแสดงจะคำนึงสวัสดิภาพสัตว์ ให้ได้อยู่ในพื้นที่ที่ใกล้เคียงสภาพแวดล้อมจริงของถิ่นที่อยู่ให้มากที่สุด ขณะเดียวกันคนที่เข้าไปเรียนรู้จะเห็นความเป็นอยู่จริงๆตามธรรมชาติของสัตว์ ผสมผสานกับการนำเทคโนโลยีเข้าใช้ในการให้ความรู้เพิ่มเติม รวมถึง ฟื้นคืนอดีตของสัตว์ให้ได้เห็นด้วย” ผอ.อรรถพรกล่าว 

 

นำเสนอผ่านเทคโนโลยีทันสมัย 
    

ที่นี่ไม่เพียงได้เรียนรู้จากของจริงเท่านั้น แต่ยังสามารถเรียนรู้อดีตและอนาคตของสัตว์ผ่านเทคโนโลยีที่นำมาใช้จัดแสดง ยกตัวอย่างเช่น เครื่องฉายแบบ 4D ที่จะมีน้ำและลมพ่นออกมา 
    

“E-Book” ที่จะให้ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับสัตว์นั้นๆ โดยสามารถใช้สมาร์ทโฟนที่ทุกคนมีสแกนคิวอาร์โคด ที่ด้านพื้นที่สัตว์แต่ละชนิด ก็จะเชื่อมโยงไปฐานข้อมูลของแพลตฟอร์ม “ZooThailand” ซึ่งจะให้ความรู้มากขึ้น 
    

นอกจากนี้ มีเทคโนโลยีที่จะช่วยย้อนไปรู้ความลับในอดีตของสัตว์ ผ่านห้องแห่งความทรงจำ เช่น สมันซึ่งเป็นสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปจากโลกนี้แล้ว ก็จะจัดแสดงส่วน “เขา” แล้วค่อยๆ ฉายภาพปรากฏร่างที่แท้จริงของสมันให้ได้เห็นว่าเป็นอย่างไร เป็นการฟื้นคืนชีวิตให้กับสัตว์สูญพันธุ์
    

หรือเทคโนโลยีที่เรียนรู้ไปในอนาคตของสัตว์ โดยในโซนที่เป็นสัตว์ที่ยังเล็ก จะมีระบบให้สแกนเพื่อไปดูว่าในอีก 30 ปี สัตว์ชนิดนั้นๆจะหน้าตาเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างไร และในห้องปิดมีการใช้โฮโลแกรมฉายภาพสัตว์ต่างๆขึ้นมา เป็นต้น เป็นการทำให้สวนสัตว์ไม่น่าเบื่อและดึงดูดคนให้เข้าไปเรียนรู้มากขึ้น 
    

ทั้งนี้ การใช้เวลาในสวนสัตว์มากขึ้น จะทำให้เรียนรู้และเข้าใจสัตว์มากขึ้น อาทิ การได้รู้ว่า “ชะนีพูดได้” เพียงแต่มนุษย์จะฟังไม่เข้าใจภาษาของเขา จะรู้กันในหมู่ชะนี อย่างเสียงร้อง สั้นๆ ยาวๆ สั้นหมายถึงอย่างหนึ่ง หรือยาวๆ หมายถึงอย่างหนึ่ง คล้ายรหัสมอสแต่เป็นเสียงพูดของสัตว์ ซึ่งก็จะมีคู่มือบอกเป็นสัญญาณแต่ละแบบเพื่อเข้าใจภาษาสัตว์ หรือ กรณีเสือนอน เป็นพฤติกรรมที่แสดงว่ากินอิ่มและรู้สึกปลอดภัย เพราะถ้าเขารู้สึกคนเป็นอันตราย เสือจะกลัวไม่นอน เป็นต้น 
    

“เวลาผ่านไปยิ่งนานเท่าไหร่ สวนสัตว์จะยิ่งเติบโตขึ้นๆ ต้นไม้ใหญ่ขึ้น ความสมบูรณ์และมีคุณค่ามากขึ้น มองอนาคตในอีก 30 ปีข้างหน้า จะได้ป่าขนาดใหญ่ อยากให้คนเข้าสวนสัตว์ในทุกๆ แห่งเพื่อใช้เวลาเรียนรู้มากขึ้น ซึ่งคนไทยใช้เวลาในสวนสัตว์เฉลี่ย 2 ชั่วโมงต่อคนต่อครั้งถือว่าน้อยมาก ขณะที่คนยุโรปใช้เวลาราว 6 ชั่วโมง แต่จะต้องเป็นสวนสัตว์ที่คำนึงถึงสวัสดิภาพสัตว์ ไม่เอาเปรียบ หรือ ทำร้ายสัตว์ หากพบเห็นสวนสัตว์ที่ไม่ดีก็ให้รีบแจ้ง” ผอ.อรรถพร ฝากในตอนท้าย