วันนี้ (18 เม.ย. 66) ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน ถนนสามเสน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการระบายน้ำกรุงเทพมหานคร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ต่อไป
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (18 เม.ย. 66) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 45,874 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 60 ของความจุอ่างฯ รวมกัน เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 13,968 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 56 ของความจุอ่างฯ จนถึงขณะนี้มีการจัดสรรน้ำในฤดูแล้งปี 65/66 ทั้งประเทศไปแล้ว 23,489 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 85 ของแผนฯ (แผนจัดสรรน้ำทั้งประเทศ 27,685 ล้าน ลบ.ม.) เฉพาะลุ่มเจ้าพระยามีการจัดสรรน้ำไปแล้ว 8,472 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 94 ของแผนฯ (แผนจัดสรรน้ำลุ่มเจ้าพระยา 9,100 ล้าน ลบ.ม.) ด้านผลการเพาะปลูกข้าวนาปรัง ทั้งประเทศมีการเพาะปลูกไปแล้ว 10.33 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 99 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการเพาะปลูกไปแล้วประมาณ 6.35 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 96 ของแผนฯ ซึ่งขณะนี้บางพื้นที่มีการเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ จึงขอความร่วมมือเกษตรกรงดการทำนาปรังต่อเนื่อง (นาปรังรอบ2) เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้
ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่า สถานการณ์เอลนีโญ ซึ่งจะส่งผลให้มีปริมาณฝนตกน้อยกว่าค่าปกติ จึงได้กำชับไปยังโครงการชลประทานทั่วประเทศ ให้เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด นำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อวางแผนบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ สามารถรองรับสถานการณ์น้ำที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต พร้อมปฏิบัติตามมาตรการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปี 66 ที่กรมชลประทานกำหนด ได้แก่ 1.จัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และรักษาระบบนิเวศให้เพียงพอตลอดทั้งปี 2.บริหารจัดการน้ำท่าให้เกิดประโยชน์สูงสุด 3. ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้น้ำฝนเป็นหลักในการเพาะปลูก 4.กักเก็บน้ำในเขื่อน รวมไปถึงแหล่งน้ำตางๆ ให้มากที่สุด 5.วางแผนป้องกันและบรรเทาอุทกภัย ควบคู่ไปกับการปฏิบัติตามมาตรการรองรับฤดูฝนปี 66 ที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติกำหนด เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนให้มากที่สุด