นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ในช่วงฤดูแล้งปี 2565/66 กรมชลประทาน ได้วางแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้ง (ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 - 30 เมษายน 2566) ไว้ทั้งสิ้น 27,685 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาวางแผนจัดสรรน้ำไว้ประมาณ 9,100 ล้าน ลบ.ม. เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ การเกษตร อุตสาหกรรม รวมไปถึงการควบคุมค่าความเค็มและคุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลักต่างๆ ภายใต้มาตรการฤดูแล้งปี 2565/66 ของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ปัจจุบันได้สิ้นสุดฤดูแล้งแล้ว
พบว่าการจัดสรรน้ำเป็นไปตามแผนที่วางไว้ โดยทั้งประเทศมีการใช้น้ำไปทั้งสิ้นประมาณ 25,200 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปทั้งสิ้นประมาณ 9,120 ล้าน ลบ.ม. ส่งผลให้ในเขตพื้นที่ชลประทานมีน้ำใช้อย่างเพียงพอและไม่เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำ อีกทั้งยังทำให้มีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนมากกว่าแผนที่วางไว้
ด้านผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2565/66 พบว่าทั้งประเทศมีการเพาะปลูกรวม 10.38 ล้านไร่ เฉพาะลุ่มเจ้าพระยามีการเพาะปลูกรวม 6.35 ล้านไร่ เป็นไปตามแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2565/66 ที่วางไว้
สำหรับในช่วงฤดูฝนปี 2566 กรมชลประทาน ได้ติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝนในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคมนี้ มีการคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณฝนตกน้อยกว่าค่าปกติประมาณร้อยละ 5 และมีโอกาสสูงที่พายุหมุนเขตร้อนจะเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ในช่วงเดือนสิงหาคมหรือกันยายน 2566
ได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ ปฏิบัติตาม 12 มาตรการฤดูฝนปี 2566 ของ กอนช. รวมทั้งเตรียมรับมืออุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้น ด้วยการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ น้ำท่า กำหนดผู้รับผิดชอบพื้นที่เสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบ ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันติดตามสถานการณ์น้ำและประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชน เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อประชาชนไว้ล่วงหน้า ตลอดจนจัดสรรทรัพยากร เครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ และอื่นๆ ที่ประจำอยู่ทั่วประเทศรวม 5,382 หน่วย สามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้ตลอดเวลาอีกด้วย