กรมส่งเสริมสหกรณ์ เดินหน้าช่วยเหลือเกษตรกร

25 ก.ค. 2566 | 01:25 น.

กรมส่งเสริมสหกรณ์ดำเนินโครงการส่งเสริมการปรับโครงสร้างการผลิต การรวบรวม การแปรรูป ของสถาบันเกษตรกรเพื่อรองรับผลผลิตทางการเกษตร

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมทั่วโลก ซึ่งทำให้ภาครัฐมีมาตรการเข้ามาช่วยเหลือกลุ่มคนทุกกลุ่ม รวมถึงภาคการเกษตรเพื่อให้ก้าวข้ามวิกฤติดังกล่าว

กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการปรับโครงสร้างการผลิต การรวบรวม การแปรรูป ของสถาบันเกษตรกรเพื่อรองรับผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งใช้วงเงินรวม 1,580 ล้านบาท โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งปัจจุบันโครงการแล้วเสร็จและประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายในการสร้างมูลค่าให้ผลผลิตสินค้าสหกรณ์เพิ่มขึ้นถึง 15,000 ล้านบาท 

นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  ทำให้เกษตรกรไม่สามารถขายผลผลิตได้ รวมไปถึงการส่งออกก็ทำได้ยาก กรมส่งเสริมสหกรณ์จึงมีความจำเป็นต้องเข้าไปช่วยเหลือผ่านกลไกของสหกรณ์ โดยได้รับการจัดสรรงบประมาณ 1,580 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมการผลิตตลอดห่วงโซ่ รวมถึงการตลาดที่มีเป้าหมายเพื่อลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร เพื่อให้อยู่ได้ในสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้สนับสนุนให้สหกรณ์ทั่วประเทศ ภายใต้เงื่อนไขสหกรณ์ต้องจ่ายเงินสมทบ 10% ของงบประมาณที่ได้รับ สำหรับดำเนินโครงการตลอดจนการจัดซื้อ อุปกรณ์ และการจัดหาช่องทางการตลาด โดยมีสหกรณ์ให้ความสนใจและเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 290 สหกรณ์ 480 อุปกรณ์ ใน 89 จังหวัด เช่น โรงสี โรงคลุม ลานตาก รถขนส่งน้ำนมดิบ เครื่องทำอาหาร สำเร็จรูป (Total mixed ration : TMR) รถแทรกเตอร์ รถไถนา เครื่องตัดหญ้า เป็นต้น

“อุปกรณ์ที่สหกรณ์จัดซื้อในโครงการดังกล่าว ยังคำนึงถึงเรื่องของการผลิตสินค้าปลอดภัยด้วย ส่งเสริมให้เกษตรกรลดการใช้สารเคมี โดยสหกรณ์จะวิเคราะห์ความต้องการของสมาชิกในพื้นที่ แล้วเสนอโครงการมาให้พิจารณา เช่น กรณีข้าวปลอดภัย (GAP) ครบวงจร ต้องการรถไถนา โรงสี เครื่องยิงสีเมล็ดข้าว ไซโลเก็บข้าวเปลือก เครื่องบรรจุข้าวเปลือกเป็นข้าวถุง เพื่อบริการกับสมาชิก เป็นต้น”

สำหรับอุปกรณ์ดังกล่าวได้ช่วยยกระดับทั้งคุณภาพผลผลิตและคุณภาพชีวิตของสมาชิกมากขึ้น เช่น สหกรณ์การเกษตรพรหมพิราม จำกัด จ.พิษณุโลก ได้ส่งเสริมอบรมเกษตรกรในเขตรอบพื้นที่โรงสีและรอบไซโลที่ได้รับเงินไปปลูกข้าว GAP แล้วรับซื้อคืนในราคาสูงกว่าตลาดกิโลกรัมละ 0.50 บาท เพื่อสีและบรรจุถุงจำหน่าย โดยสมาชิกสามารถใช้รถขนส่งของสหกรณ์ บริการถึงไร่นา เป็นการลดต้นทุนการขนส่งเพราะสหกรณ์คิดค่าบริการถูกกว่าราคาตลาด จาก 500 บาท เหลือ 450 บาท”

ภายใต้โครงการนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาอบรมความรู้ถ่ายทอดเทคโนโลยี เช่น การกำจัดมอดในเมล็ดข้าวที่ทั่วไปจะใช้สารเคมี แต่ของสหกรณ์จะใช้คลื่นเสียง ทำให้ผู้บริโภคมีความปลอดภัยเพิ่มขึ้

นอกจากนี้ในช่วงที่ดำเนินโครงการ กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ติดตามและประเมินผลอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันให้ทุกสหกรณ์ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย สหกรณ์มีรายได้เพิ่มขึ้น และปลอดหนี้มีผลผลิตที่ได้มาตรฐาน เกิดการจ้างงาน และใช้อุปกรณ์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น รถเกี่ยวข้าวเมื่อจบฤดูกาลแล้วก็สามารถนำไปเก็บเกี่ยวข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

“จากงบประมาณ 1,580 ล้านบาท แต่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสหกรณ์ถึง 15,000 ล้านบาท เพิ่มกว่า 10% ในปีนี้คาดว่าจะเพิ่มเป็น 30,000 ล้านบาท เป็นตัวเลขที่น่าสนใจ และ คุ้มค่ากับการลงทุน”

ดังนั้นกรมส่งเสริมสหกรณ์จึงจะนำเสนอให้รัฐบาลชุดใหม่พิจารณาเพื่อจัดสรรงบประมาณดำเนินโครงการลักษณะดังกล่าวในปีต่อไป