ปัจจุบันการส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์มีมูลค่ากว่า 6.8 แสนล้านบาทต่อปี ครอบคลุมผู้เกี่ยวข้องจำนวนกว่า 6 ล้านคน ตั้งแต่ต้นน้ำ ได้แก่ เกษตรกรชาวสวนยาง พื้นที่สวนยางกว่า 18 ล้านไร่ จนถึงกลางน้ำ ภายใต้การบริหารยางพาราทั้งระบบ โดยการยางแห่งประเทศไทย หน่วยงานที่สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ประกาศผ่านงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566 (Thailand Research Expo 2023) “ จัดโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้มีเสวนาระดมความคิดเห็นเพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น มุมมองเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมยางไทยสู่ศูนย์กลางยางพาราโลก
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า การยางแห่งประเทศไทย ได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนและเกษตรกร ในการปรับตัวและเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในหลายมิติ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สภาพอากาศ ตลอดจนมาตรการทางการค้าใหม่ ที่หลายประเทศกำหนดขึ้นมาถือเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วน ยิ่งปรับตัวและเตรียมความพร้อมได้เร็วยิ่งได้เปรียบ ซึ่งจะทำให้ไทยจะสามารถเป็นศูนย์ยางพาราโลกได้
ทั้งนี้ กยท. มีนโยบายสนับสนุนด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว โดยจัดการระบบข้อมูลเกษตรกรชาวสวนยางและพื้นที่สวนยางในไทยให้เป็นปัจจุบัน มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บข้อมูลผ่าน platform และแอปพลิเคชั่น RAOT GIS ยืนยันได้ว่ามีความพร้อมผลักดันให้ยางพาราไทยสามารถตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับตามมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมที่หลายประเทศกำหนด ต้องคำนึงถึงความต้องการใช้ยางที่สนับสนุนสิ่งแวดล้อมว่ามากน้อยแค่ไหน เพื่อผลักดันและสนับสนุนมาตรการต่างๆให้สอดคล้องและเหมาะสม
โดยการดำเนินการของ กยท. ได้รับความร่วมมือทุกภาคส่วน ทั้งจากเกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกร กลุ่มผู้ประกอบกิจการยาง รวมถึงภาคการศึกษาที่มุ่งพัฒนานวัตกรรมและงานวิจัยยางต่างๆ ซึ่งเข้ามามีส่วนผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางยางพาราโลกได้ พร้อมเปิดโอกาสให้ทุกกลุ่มเข้ามาใช้ ส่งผลให้ยางพาราไทยเป็นที่สนใจของตลาดโลกมากขึ้น สามารถเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันได้ ถือเป็นผลดีต่อราคายางในอนาคต