เพื่อรับมือ “เอลนีโญ” บวกกับนโยบายของภาครัฐที่ส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชใช้น้ำน้อยและมีความต้องการของตลาดทดแทนการปลูกข้าวนาปรัง “ถั่วลิสง” เป็นพืชหนึ่งที่มีศักยภาพและมีความเหมาะสม แต่กลับพบปัญหาคือ ผลผลิตต่อไร่ต่ำ ต้นทุนการผลิตสูงโดยเฉพาะค่าแรงงานค่อนข้างสูง ในรายการต้นทุนการเก็บเกี่ยวและปลิดฝัก ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าปลูก และดูแลรักษา คุณภาพของถั่วลิสง มีปัญหาการปนเปื้อนของสารพิษอะฟลาทอกซิน พื้นที่ปลูกและปริมาณการผลิตไม่แน่นอน ขณะที่ความต้องการของอุตสาหกรรมการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพิ่มขึ้น ทำให้ปัจจุบันการผลิตถั่วลิสงไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ภายในประเทศ จึงมีการนำเข้าถั่วลิสงจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ
นางสาวญาณิน สุปะมา นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ปัญหามาจากการขาดแคลนแหล่งเมล็ดพันธุ์ดีที่มีคุณภาพ ตรงตามสายพันธุ์ เหมาะสม และปรับตัวได้ดี ในเฉพาะแหล่งปลูก ตลอดจนปรับตัวได้ดีกับสภาพการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ซึ่งประเทศไทยปลูกถั่วลิสง 2 ระบบ คือ การปลูกในฤดูฝน และฤดูแล้ง จึงมีความจำเป็นในการทดสอบและพัฒนาเทคโนโลยีการเพิ่มผลผลิตถั่วลิสงให้เหมาะสมเฉพาะพื้นที่ โดยนำผลงานวิจัยของกรมวิชาการเกษตรมาปรับใช้ในการแก้ปัญหาของแต่ละพื้นที่ ขยายผล ยกระดับผลผลิต รักษาระดับผลผลิตให้ได้ตามศักยภาพของพันธุ์อย่างเหมาะสม สร้างรายได้และผลตอบแทนให้แก่เกษตรกร
การใช้เทคโนโลยีในการผลิตถั่วลิสงให้เหมาะสมเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เป็นการทดสอบเทคโนโลยีการผลิตเพื่อเพิ่มผลผลิตถั่วลิสง เน้นการทดสอบพันธุ์ถั่วลิสงที่เหมาะสม 2 สภาพ คือ ฤดูแล้งหลังนา และสภาพไร่ฤดูฝน รวมทั้งสร้างเครือข่ายการผลิตในพื้นที่ การทดสอบ เปรียบเทียบ 2 กรรมวิธี ได้แก่ กรรมวิธีทดสอบใส่ปุ๋ยเคมีตามคำแนะนำ หรือใส่ตามค่าวิเคราะห์ดิน ปรับปรุงดินด้วยปูนขาว หรือ ไดโลไมด์ คลุกเมล็ดด้วยสารเคมีป้องกันการกำจัดเชื้อรา และ/หรือคลุกร่วมกับปุ๋ยชีวภาพโรโซเบียม และโรยยิบซัมในระยะออกดอก เปรียบเทียบกับกรรมวิธีเดิมเกษตรกร พบว่าพันธุ์ที่เหมาะสมในพื้นที่ ได้แก่ พันธุ์ขอนแก่น 6 ขอนแก่น (สีชมพู) ขอนแก่น 84-8 และพันธุ์ไทนาน 9
ทั้งนี้การใช้เทคโนโลยีการผลิตถั่วลิสงให้เหมาะสมกับพื้นที่ ได้พันธุ์ที่เหมาะสมที่ปรับตัวได้ดีในพื้นที่ เช่น “ขอนแก่น 6” การแก้ปัญหาเมล็ดลีบ และโรคโคนเน่าขาว และโรคโคนเน่าขาดได้ดี สามารถยกระดับผลผลิตได้ 3.8-21.9% ยกระดับรายได้ และผลตอบแทน 7.3-29.9% ขยายผลผ่านแปลงเกษตรกรต้นแบบ 55 ราย ขยายผลสู่เกษตรกรจำนวน 374 ราย พื้นที่ 1,020 ไร่ เกษตรกรยอมรับเทคโนโลยี ด้านพันธุ์ การใส่ปุ๋ย การป้องกันกำจัดโรค การคลุกเมล็ดป้องกันโรค ช่วยลดปัญหาได้ดี แต่ใช้สารเคมีปริมาณน้อย
การโรยยิปซัมในระยะออกดอก เพื่อแก้ปัญหาเมล็ดลีบ และการเก็บเกี่ยวในระยะที่เหมาะสม เกษตรกรยอมรับและนำไปใช้กันอย่างแพร่หลาย อาทิ ขยายผลสู่เกษตรกรแปลงใหญ่ถั่วลิสง ในพื้นที่อำเภอสีชมพู จังหวัดขอนแก่น พร้อมทั้งส่งมอบ “เทคโนโลยีการผลิตถั่วลิสงที่เหมาะสมเฉพาะพื้นที่” ให้กับกลุ่มแปลงใหญ่ถั่วลิสง และมอบใบรับรองมาตรฐาน GAP (ถั่วลิสง) ณ ศาลาประชาคมบ้านโคกไม้งาม ตำบลศรีสุข อำเภอสีชมพู จังหวัดขอนแก่น รวมทั้งสิ้น 80 ราย พื้นที่รวม 113.25 ไร่ นับว่าเป็นความสำเร็จอีกก้าวหนึ่งในการใช้งานวิจัยไปยกระดับการผลิตถั่วลิสงไทย