อนุสัญญา “ไซเตส มาจากชื่อย่อภาษาอังกฤษ The Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora: (CITES) เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศเพื่ออนุรักษ์พืชป่าและสัตว์ป่าไม่ให้สูญพันธุ์จากการค้าระหว่างประเทศ จึงกำหนดชนิดพืชและสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ไว้ในบัญชีแนบท้ายอนุสัญญาฯ ปัจจุบันมีพืชที่อยู่ในการควบคุมของอนุสัญญาไซเตสประมาณ 34,000 ชนิด เป็นกลุ่มไม้ต้นประมาณ 1,000 ชนิด เช่น ไม้ต้นกลุ่มพะยูง Rosewood (Dalbergia spp.) พะยูงแอฟริกา African Rosewood (Pterocarpus spp.) ไม้บูบิงกา (Guibourtia spp.) และมะฮอกกานี (Mahogani ) เป็นต้น
ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกโดยเฉพาะกลุ่มประเทศผู้นำเข้าไม้ เช่น กลุ่มประเทศสหภาพยุโรปต่อต้านการค้าไม้จากป่า กระแสรักษ์โลก และการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ทำให้ประชาชนให้ความสนใจปลูกไม้ยืนต้นมีทั้งไม้ไทยและไม้ต่างประเทศ เช่น พะยูง มะฮอกกานี พะยูงไหหลำ พะยูงเวียดนาม ไม้จันท์แดง (Pterocarpus santalinus) ประดู่ลาย เป็นต้น ซึ่งเป็นไม้ที่มูลค่าสูงเป็นที่ต้องการของตลาด นอกจากนี้ ชนิดไม้เหล่านี้สามารถปลูกและเจริญเติบโตได้ดีในประเทศไทย และมีโอกาสที่จะเป็นไม้มีค่าทางเศรษฐกิจในอนาคตได้
สำนักคุ้มครองพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร เป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบควบคุมการค้าพืชในบัญชีแนบท้ายอนุสัญญาไซเตส โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดให้พืชในบัญชีไซเตสเป็น “พืชอนุรักษ์” การค้าระหว่างประเทศต้องได้รับหนังสืออนุญาตพืชอนุรักษ์ (CITES Permit) จากกรมวิชาการเกษตร และผู้ที่เพาะขยายพันธุ์เพื่อการค้าต้องขึ้นทะเบียนแปลงปลูกกับกรมวิชาการเกษตร ดังนั้น ผู้ที่ปลูกไม้ต้นในบัญชีไซเตสเพื่อการค้าหรือเพื่อส่งออกไปต่างประเทศต้องขอขึ้นทะเบียนแปลงปลูกกับกรมวิชาการเกษตร โดยต้องปฏิบัติตามประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขึ้นทะเบียนแปลงปลูกพืชอนุรักษ์ประเภทไม้ต้น ตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 พ.ศ. 2562 มีรายละเอียดดังนี้
เอกสารและหลักฐานการขอขึ้นทะเบียนฯ ได้แก่ 1. เอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครองครอง ของที่ดินที่เป็นที่ตั้งแปลงปลูกฯ กรณีที่เป็นผู้เช่าที่ดินให้แนบหลักฐานหนังสือมอบอำนาจจากเจ้าของที่ดินที่แสดงว่าอนุญาตให้ที่ดินนั้นขึ้นทะเบียนแปลงปลูกฯ หรือ 2. หนังสือรับรองการขึ้นทะเบียนที่ดินเป็นสวนป่า ตามพระราชบัญญัติสวนป่า พ.ศ. 2535
3. ไม้ต้นที่นำมาขอขึ้นทะเบียนแปลงปลูกฯ ต้องได้มาถูกต้องตามกฎหมาย เช่น มีหลักฐานการซื้อต้นกล้าจากแปลงเพาะกล้าที่ขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตร 4. กรณีนำเข้าเมล็ดหรือต้นกล้าจากต่างประเทศ ต้องมีหนังสืออนุญาตส่งออกไซเตส จากประเทศต้นทาง หรือมีใบรับรองสุขอนามัยพืช จากประเทศต้นทาง และ 5. ภาพถ่ายแปลงปลูก
ผู้สนใจสามารถยื่นคำขอการขึ้นทะเบียนแปลงปลูกไม้ต้นในบัญชีไซเตสได้ทางเว็บไซต์กรมวิชาการเกษตร ระบบบริการออนไลน์ NEW DOA-NSW หากข้อมูลและเอกสารประกอบคำขอถูกต้องครบถ้วน เจ้าหน้าที่จะออกใบสำคัญการขึ้นทะเบียนแปลงปลูกพืชอนุรักษ์ประเภทไม้ต้น และบัญชีไม้ประกอบใบสำคัญขึ้นทะเบียน โดยมีอายุ 5 ปี นับจากวันที่ออกใบสำคัญ กรณีที่ขึ้นทะเบียนพืชในบัญชีที่ 1 จะมีค่าธรรมเนียมการออกใบสำคัญ 500 บาท/ 5 ปี หากเป็นบัญชีที่ 2 และ 3 จะไม่มีค่าธรรมเนียม
ทั้งนี้ ผู้ที่ขึ้นทะเบียนแปลงปลูกไม้ต้นฯ ต้องรายงานจำนวนเพื่อการค้าคงเหลือในรอบปีปฏิทิน ภายในวันที่ 31 มกราคม ของปีถัดไป และต้องให้ความร่วมมือพนักงานเจ้าหน้าที่ในการตรวจแปลงปลูก ซึ่งเป็นการดำเนินการเพื่อรับรองแหล่งที่มาของไม้ว่ามีที่มาที่ถูกต้องตามกฎหมายและไม่เป็นของป่า ประกอบการพิจารณาออกหนังสืออนุญาตส่งออกไซเตส ซึ่งไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการรับซื้อไม้คืนใดๆ
หากมีข้อสงสัยสอบถามได้ที่ กลุ่มวิจัยอนุสัญญาไซเตสด้านพืช สำนักคุ้มครองพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร โทรศัพท์ 0-2940-5687, 0-2579-0919 E-mail : [email protected] Line id : citesflora.th เพจ CITES Flora Thailand