“ส้มโอ” เป็นไม้ผลเศรษฐกิจที่มีศักยภาพในการส่งออก เนื่องจากเป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมในการบริโภคและมีคุณค่าทางโภชนาการสูง จึงเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ โดยเฉพาะส้มโอที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิต GAP ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้าในการส่งออกและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคทั้งในด้านของความปลอดภัยและคุณภาพของผลผลิต
เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคต่างหันมารักสุขภาพและให้ความสำคัญกับการบริโภคผักผลไม้ที่ปลอดสารพิษและได้รับการรับรองมาตรฐานกันมากขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรให้ความสนใจและหันมาปลูกส้มโอ ตามมาตรฐานการผลิต GAP เพิ่มขึ้น แต่พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ยังขาดองค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีการผลิตส้มโอตามมาตรฐาน GAP ตั้งแต่ปัจจัยการผลิต กระบวนการผลิต การเก็บเกี่ยว การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว การบรรจุหีบห่อ และการขนส่งผลผลิต รวมไปถึงวิธีการใช้สารเคมีทางการเกษตรในพื้นที่ปลูกอย่างถูกต้องและเหมาะสม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตส้มโอ
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร มอบหมายให้สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2 ดำเนินการตามนโยบายการให้บริการรับรองมาตรฐานการผลิต GAP ของส้มโอ ในพื้นที่เขตภาคเหนือตอนล่าง 4 จังหวัด คือ พิจิตร กำแพงเพชร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ เพื่อยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตรไทยให้ได้มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก ด้วยการกำหนดแนวทางในการทำการเกษตร เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดี ตรงตามมาตรฐานที่ตลาดต้องการ ผลผลิตสูง คุ้มค่าการลงทุน และกระบวนการผลิตปลอดภัยต่อเกษตรกร ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรในการผลิตส้มโอ ตามมาตรฐาน GAP จากการดำเนินงานด้านการรับรองมาตรฐาน GAP พบว่า ในเขตภาคเหนือตอนล่าง มีพื้นที่ปลูกส้มโอทั้งหมด จำนวน 21,505.75 ไร่ ได้ดำเนินการรับรองมาตรฐาน GAP จำนวน 7,946.61 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 46.66
การผลิตส้มโอตามมาตรฐาน GAP ถือเป็นแนวทางหนึ่งในจัดการทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม ที่มีการใช้เทคโนโลยีและทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เป็นการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพ ผลผลิตปลอดภัย ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่น และการยอมรับของตลาดโลก ดังนั้นการผลิตส้มโอ ตามมาตรฐาน GAP จึงเป็นคำตอบในการยกระดับมูลค่าสินค้าเกษตร และความสามารถในการต่อรองราคาผลผลิต สามารถสร้างรายได้และความมั่นคงให้แก่เกษตรกร รวมไปถึงความมั่นคงทางด้านอาหาร สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาทางการเกษตรอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต