ชป.จับมือ จ.ลพบุรี ปฐมนิเทศโครงการฯปรับปรุงระบบชลประทานโคกกะเทียมและเริงราง 

19 ต.ค. 2566 | 09:56 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ต.ค. 2566 | 10:07 น.

กรมชลประทาน ฐมนิเทศโครงการฯปรับปรุงระบบชลประทานโคกกะเทียมและเริงราง ให้มีความสอดคล้องกับแนวทางการบริหารจัดการน้ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยา

วันนี้ (19 ต.ค. 66) เวลา 13.30 น. นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ นายเสริมชัย เซียวศิริถาวร ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 10 นายทินกร รัตนพัวพันธ์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโคกกะเทียม และนายนรินทร์ นิ่มวิญญา ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเริงราง เข้าร่วมประชุมปฐมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมปรับปรุง โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโคกกะเทียมและเริงราง เวทีที่ 1 โดยมีนายปรัชญา เปปะตัง รองผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี เป็นประธาน ณ ห้องประชุมสำนักงานชลประทานที่ 10 ต.เขาพระงาม อ.เมือง จ.ลพบุรี  พร้อมด้วยหน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน สภาเกษตรกร สื่อมวลชน และกลุ่มองค์กร ผู้ใช้น้ำชลประทานในพื้นที่จังหวัดลพบุรีเข้าร่วมประชุม
 

สืบเนื่องจาก โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโคกกะเทียมและโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเริงราง อยู่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยรับน้ำมาจากแม่น้ำเจ้าพระยาผ่านคลองส่งน้ำสายใหญ่ “ชัยนาท-ป่าสัก” หรือ “คลองอนุศาสนนันท์” มีเขื่อนเจ้าพระยาทำหน้าที่ทดน้ำเข้าสู่ปากคลองชัยนาท-ป่าสัก ผ่านโครงการฯ มโนรมย์ ช่องแค โคกกะเทียมและเริงราง ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำป่าสักที่บริเวณหน้าเขื่อนพระราม 6 โดยทั้ง 2 โครงการฯ มีพื้นที่ชลประทานรวมกันประมาณ ประมาณ 455,000 ไร่ ส่งน้ำให้กับเกษตรกรครอบคลุม พื้นที่ 76 ตำบล  12 อำเภอ ของจังหวัดลพบุรี สระบุรี และ พระนครศรีอยุธยา 
 

ปัจจุบัน โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโคกกะเทียม มีอายุการใช้งาน 70 ปี ส่วนโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเริงรางมีอายุการใช้งาน 60 ปี ทำให้ระบบชลประทานบางส่วนชำรุดเสียหาย ประสิทธิภาพลดลงตามอายุการใช้งาน แม้ว่าจะมีการปรับปรุงซ่อมแซมอยู่ตลอดเวลาก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้งระบบ
 


เมื่อปี 2560 กรมชลประทาน ได้ทำการศึกษาปรับปรุงโครงข่ายระบบชลประทานฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาและงานศึกษาการปรับปรุงคลองชัยนาท-ป่าสัก และในปี 2566 -2567 ได้ดำเนินงานโครงการศึกษาความเหมาะสมปรับปรุงเพื่อหาแนวทาง แผนงานปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโคกกะเทียมและเริงราง ให้มีความสอดคล้องกับแนวทางการบริหารจัดการน้ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยา และการนำน้ำจากคลองชัยนาท-ป่าสักมาใช้ประโยชน์กับระบบชลประทานของโครงการฯได้อย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งการแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาด้านการเกษตร ภัยแล้ง อุทกภัยและการใช้น้ำที่เปลี่ยนแปลงไป

สำหรับการประชุมปฐมนิเทศโครงการฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความเป็นมา แนวคิดการปรับปรุงโครงการฯเบื้องต้นให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้รับทราบ รวมทั้งแลกเปลี่ยนประสบการณ์และหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน เพื่อนำไปประกอบการศึกษาในรายละเอียดให้มีความครบถ้วน สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ต่อไป