นางจิราพรรณ ทองหยอด ผู้อำนวยการกองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตรได้ทำการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ปุ๋ยชีวภาพมาเป็นเวลากว่า 30 ปีแล้ว โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกรโดยเฉพาะต้นทุนจากการใช้ปุ๋ยเคมี
ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติปุ๋ยพ.ศ. 2518 ได้ให้คำนิยาม “ปุ๋ยชีวภาพ” เป็นปุ๋ยที่เกิดจากการนำจุลินทรีย์ที่มีชีวิตที่สามารถสร้างธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์ให้กับพืช เพื่อนำมาใช้ในการปรับปรุงบำรุงดินทั้งทางด้านชีวภาพ กายภาพ ชีวเคมี รวมถึงหัวเชื้อจุลินทรีย์ต่าง ๆ
ปัจจุบันกลุ่มงานวิจัยจุลินทรีย์ดิน ได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ปุ๋ยชีวภาพทั้งหมด 4 ชนิด ซึ่งแต่ละชนิดมีความจำเพาะเจาะจงใช้กับพืชแต่ละชนิดที่แตกต่างกัน แต่มีเป้าหมายหลักเดียวกันคือ ช่วยลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกร ได้แก่
1.ปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียมเหมาะสำหรับพืชตระกูลถั่ว เช่น ถั่วเขียวถั่วลิสง และปอเทือง ปุ๋ยชนิดนี้ สามารถลดการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนลงได้ 50- 100% ซึ่งหมายถึงไม่ต้องพึ่งการใช้ปุ๋ยเคมีเลย ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ปุ๋ยไรโซเบียม ครอบคลุมการใช้ประโยชน์กับพืชตระกูลถั่วได้มากกว่า 40 ชนิด
2. ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์ เหมาะกับข้าวโพด ข้าวฟ่าง ข้าว อ้อย และมันสำปะหลัง สามารถลดการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนลงได้ 5-30% 3. ปุ๋ยชีวภาพอาร์บัสคูลาร์ไมคอร์ไรซา เหมาะใช้กับพืชไร่ พืชสวน พืชผัก และไม้ดอกไม้ประดับ และ 4. ปุ๋ยชีวภาพละลายฟอสเฟต เหมาะใช้กับไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชไร่ และพืชผัก
ปัจจุบันกรมวิชาการเกษตร มีศูนย์ขยายผลสำหรับผลิตปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์ 7 ศูนย์ ปุ๋ยชีวภาพละลายฟอสเฟต 7 ศูนย์ และปุ๋ยชีวภาพอาบัสคูลาร์ไมคอร์ไรซา 2 ศูนย์ โดยศูนย์ขยายผลยังได้ดำเนินการผลิตผลิตภัณฑ์ปุ๋ยชีวภาพแจกจ่ายให้กับเกษตรกรในโครงการใหญ่ ๆ เช่น ส.ป.ก. แปลงใหญ่ โครงการตามพระราชดำริ และโครงการตามนโยบายอื่น ๆ ของรัฐบาล
ขณะที่ในการขยายผลโดยนำผลิตภัณฑ์ปุ๋ยชีวภาพไปใช้ในแปลงของเกษตรกรจริง โดยแบ่งเกษตรกร ออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ กลุ่มแรก เป็นเกษตรกรหัวก้าวหน้าที่มีความสนใจและพร้อมที่จะเรียนรู้ กลุ่มที่ 2 เกษตรกรที่เป็นกลาง ๆ คือยังมีความลังเลสงสัยว่าการใช้ปุ๋ยนี้จะได้ผลหรือไม่ และกลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มที่ยังไม่เปิดรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ และยังมีความกังวลใจในหลายเรื่อง เช่น เกรงต้นทุนการผลิจะเพิ่มเพิ่มขึ้นหรือจะมีวิธีปฏิบัติงานที่ยุ่งยาก
อย่างไรก็ดีหลังจากนักวิจัยของกรมวิชาการเกษตร จากส่วนกลางได้ร่วมมือกับนักวิจัยในส่วนภูมิภาคได้ลงพื้นที่เพื่อสร้างความเข้าใจกับเกษตรกร มีการฝึกอบรมให้ความรู้ แนะนำเทคนิค วิธีการใช้ปุ๋ยชีวภาพ เพื่อลดข้อจำกัดต่างๆ ภายหลังเกษตรกรมีการปรับเปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยชีวภาพตามค่าวิเคราะห์ดินสามารถลดการใช้ปุ๋ยเคมีลงได้ 10-50% และจากการสำรวจความพึงพอใจพบว่า เกษตรกรในกลุ่มที่ 1 และกลุ่มที่ 2 มีความพอใจเกือบ 100% ในการใช้ผลิตภัณฑ์ จากทำให้พืชแข็งแรง โตไว และให้ผลผลิตสูงกว่าเมื่อเทียบกับแปลงข้างเคียงที่ไม่ได้ใช้ผลิตภัณฑ์ ทำให้เกิดกระแสบอกต่อแบบปากต่อปาก ส่งผลมีความต้องการปุ๋ยชีวภาพมากขึ้นแบบก้าวกระโดด