ประธาน กสทช. นำทีมคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมใหญ่ระดับโลก

25 ธ.ค. 2566 | 07:08 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ธ.ค. 2566 | 07:13 น.

ประธาน กสทช. นำทีมคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมใหญ่ระดับโลกว่าด้วยวิทยุคมนาคม ค.ศ. 2023 (WRC-23)

ศาสตราจารย์คลินิก นพ. สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. หัวหน้าคณะผู้แทนไทย พร้อมด้วย กสทช. ต่อพงศ์ เสลานนท์ กสทช. พล.ต.อ.ดร.ณัฐธร เพราะสุนทร กสทช. และ รศ.ดร.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ ที่ปรึกษาคณะผู้แทนไทย นำทีมคณะผู้แทนไทยเดินทางเข้าร่วมการประชุมใหญ่ระดับโลกว่าด้วยวิทยุคมนาคม ค.ศ. 2023 (World Radiocommunication Conference 2023 - WRC-23) ณ Dubai World Trade Center นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อรักษาผลประโยชน์แห่งชาติในด้านการกำกับดูแลคลื่นความถี่

ในงานนี้ ประธาน กสทช. โดยความเห็นชอบของ ครม. เป็นผู้แทนไทยลงนามในกรรมสารสุดท้าย (Final Acts) เพื่อรับรองผลการประชุม โดยมีนายเสน่ห์ สายวงศ์ วิศวกรเขี่ยวชาญพิเศษของสำนักงาน กสทช. เป็นผู้ให้คำแนะนำและรับสนองแนวนโยบายของ กสทช. เพื่อให้ไทยได้ประโยชน์สูงสุด โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนและสาธารณะเป็นสำคัญ

ประธาน กสทช. เน้นย้ำว่าการจัดทำท่าทีของไทยเพื่อเจรจาในการประชุมครั้งนี้ กสทช. ได้ทำการศึกษาอย่างละเอียดและรอบคอบ โดยพิจารณาถึงปัจจัยต่าง ๆ อย่างรอบด้าน อาทิ ความเป็นไปได้ทางเทคนิค ผลกระทบในเชิงเศรษฐศาสตร์ ผลกระทบในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) และปัจจัยอื่น ๆ เพื่อให้การมีส่วนร่วมของประเทศไทยในการประชุมครั้งนี้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน

การประชุม WRC-23 มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 พฤศจิกายน - 15 ธันวาคม 2566 โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อปรับปรุงข้อกำหนดในข้อบังคับวิทยุ หรือ Radio Regulations (RR) ให้การกำหนดการใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการต่างๆ และการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและรองรับการเปลี่ยนแปลงจากการพัฒนาของเทคโนโลยี 


 

โดยที่สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) กำหนดจัดการประชุม WRC ทุก ๆ 4 ปี โดยผู้บริหาร กสทช. ได้เข้าร่วมการประชุมในสัปดาห์สุดท้ายเพื่อติดตามประเด็นสำคัญที่อาจส่งผลต่อการกำกับดูแลคลื่นความถี่ของไทย ซึ่งมีประเด็นที่จะเป็นประโยชน์ต่อกิจการโทรคมนาคมของไทยต่อไป ดังนี้

  • มีคลื่นความถี่เพิ่มเติมสำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (IMT) ในคลื่นความถี่ 7.025 – 7.125 GHz และประเทศไทยได้รับการรับรองสิทธิการใช้คลื่นความถี่ในระดับสากล ตามเชิงอรรถระหว่างประเทศสำหรับคลื่นความถี่ 3300 – 3400 MHz
  • เปิดให้คลื่นความถี่เดิมที่ใช้สำหรับกิจการ IMT ได้แก่ คลื่นความถี่ย่าน 700 MHz 900 MHz 2100 MHz และ 2600 MHz สามารถรองรับการใช้งานสถานีฐานลอยระยะสูง หรือ HIBS (high-altitude platform stations as IMT base stations) ซึ่งจะเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานสำหรับโครงข่าย IMT หรือโทรศัพท์เคลื่อนที่ในบริเวณพื้นที่ห่างไกล
  • มีคลื่นความถี่ใหม่สำหรับสถานีภาคพื้นโลกในลักษณะเคลื่อนที่ (Earth station in motion: ESIM) หรือยานพาหนะที่ใช้ระบบสื่อสารความเร็วสูงผ่านโครงข่ายดาวเทียม
  • กำหนดให้ใช้คลื่นความถี่ 117.975 - 137 MHz สำหรับกิจการเคลื่อนที่ทางการบินผ่านดาวเทียม เพื่อรองรับระบบวิทยุสื่อสารเพื่อควบคุมจราจรทางอากาศผ่านโครงข่ายดาวเทียม โดยไม่ก่อให้เกิดการรบกวนต่อระบบภาคพื้นดินที่มีอยู่เดิม
  • ปรับปรุงการใช้คลื่นความถี่สำหรับระบบแจ้งเหตุฉุกเฉินและเพื่อความปลอดภัยทางทะเลทั่วโลก (GMDSS) ให้มีความทันสมัย
  • กำหนดคลื่นความถี่ใหม่และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนกิจการทางวิทยาศาสตร์
  • ปรับปรุงข้อบังคับในกิจการดาวเทียมให้มีความทันสมัย และสอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้กำหนดหัวข้อการศึกษาที่สำคัญสำหรับการประชุม WRC รอบถัดไป (WRC-27) เช่น การศึกษาความต้องการคลื่นความถี่ใหม่สำหรับกิจการ IMT-2030/6G การใช้งานระบบดาวเทียมวงโคจรต่ำ การสื่อสารทางทะเลและการเดินอากาศผ่านดาวเทียม การสื่อสารในกิจการดาวเทียม การป้องกันการรบกวนกิจการวิทยุดาราศาสตร์ในพื้นที่อ่อนไหวสูงทางด้านคลื่นความถี่ และการปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องในอนาคต