ชป.เชิญชวนเกษตรกรทำนาแบบเปียกสลับแห้ง

02 ม.ค. 2567 | 06:41 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ม.ค. 2567 | 06:51 น.

กรมชลประทาน เชิญชวนเกษตรกรหันมาทำนาแบบเปียกสลับแห้ง ช่วยลดการใช้น้ำถึง 20 -30 เปอร์เซ็นต์ เพื่อเป็นการประหยัดน้ำ ทั้งยังช่วยลดการใช้ปุ๋ย ทำให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิตได้อีกด้วย

วันนี้ (2 ม.ค.67) ที่ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) อาคาร 99 ปี หม่อมหลวงชูชาติ  กำภู  กรมชลประทาน ถนนสามเสน ดร.ทวีศักดิ์  ธนเดโชพล  รองอธิบดีกรมชลประทาน  เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference   ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17  สำนักเครื่องจักรกล  และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 

โดยมี ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทาน/โครงการชลประทาน/โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษา  ผู้อำนวยการส่วนและหัวหน้าฝ่าย  ตลอดจนผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ต่อไป

สำหรับสถานการณ์น้ำปัจจุบัน (2 ม.ค.67)  พบว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 58,736 ล้าน ลบ.ม. (77% ของความจุอ่างฯ รวมกัน)  เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 17,233 ล้าน ลบ.ม. (69% ของความจุอ่างฯ รวมกัน)  

กรมชลประทานได้วางแผนจัดสรรน้ำช่วงฤดูแล้งปี 2566/67 ตามปริมาณน้ำต้นทุนที่มี ด้วยการจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นหลัก  รักษาระบบนิเวศ  การเกษตร อุตสาหกรรม และสำรองไว้ใช้ในต้นฤดูฝนหน้าตามลำดับ จนถึงขณะนี้มีการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งทั้งประเทศไปแล้วกว่า 6,961 ล้าน ลบ.ม. (32%) เฉพาะลุ่มเจ้าพระยามีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 2,053 ล้าน ลบ.ม. (34%)  ปัจจุบันทั้งประเทศมีการเพาะปลูกข้าวนาปรังไปแล้ว  4.65 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 80 ของแผนฯ  เฉพาะลุ่มเจ้าพระยา  มีการเพาะปลูกข้าวนาปรังไปแล้ว 3.45 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 114 ของแผนฯ  

ภาพรวมสถานการณ์น้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ  แต่ถึงอย่างไรยังคงต้องติดตามพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรังอย่างใกล้ชิด พร้อมประชาสัมพันธ์ถึงสถานการณ์น้ำให้เกษตรกรและประชาชนรับรู้รับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดความเสี่ยงผลผลิตเสียหาย รวมทั้งรณรงค์ให้เกษตรกรเก็บกักน้ำไว้ในบ่อสำรอง เพื่อสำรองไว้ใช้ในฤดูแล้งหน้า ตลอดจนเชิญชวนให้เกษตรกรหันมาทำนาแบบเปียกสลับแห้ง  ซึ่งช่วยลดการใช้น้ำได้ถึง 20 -30 เปอร์เซ็นต์ เพื่อเป็นการประหยัดน้ำ ทั้งยังช่วยลดการใช้ปุ๋ย ทำให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิตได้อีกด้วย 

สำหรับพื้นที่ภาคใต้บริเวณจังหวัดปัตตานี  ยะลา  และนราธิวาส  ที่ประสบปัญหาอุทกภัยในช่วงปลายเดือนธันวาคม 66 ที่ผ่านมา   ปัจจุบันสถานการณ์น้ำในแม่น้ำสายหลัก อาทิ แม่น้ำสายบุรี   แม่น้ำบางนรา  และแม่น้ำโกหก   เริ่มคลี่คลายแล้ว  ยังคงเหลือสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งที่แม่น้ำปัตตานี  บริเวณบ้านบริดอ อ.ปัตตานี   สำนักงานชลประทานที่ 17  โดยโครงการชลประทานปัตตานี   ยังคงเดินหน้าช่วยเหลือพื้นที่อย่างต่อเนื่อง  คาดว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 2 -3 สัปดาห์นี้