นายกฯ เยือนสระบุรี ลงพื้นที่พบปะประชาชน

09 ก.พ. 2567 | 10:02 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ก.พ. 2567 | 10:07 น.

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ ลงพื้นที่ติดตามการแก้ไขปัญหาด้านชลประทานในพื้นที่จังหวัดสระบุรี

บ่ายวันนี้(9 ก.พ.67) นายเศรษฐา  ทวีสิน  นายกรัฐมนตรี  พร้อมคณะ  ลงพื้นที่ติดตามการแก้ไขปัญหาด้านชลประทานในพื้นที่จังหวัดสระบุรี   โดยมี  นายชูชาติ  รักจิตร  อธิบดีกรมชลประทาน นายสุริยพล นุชอนงค์ รองอธิบดีกรมชลประทาน นายเสริมชัย  เซียวศิริถาวร  ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 10 และผู้เกี่ยวข้อง  ร่วมลงพื้นที่พร้อมบรรยายสรุปผลการดำเนินงานด้านชลประทาน   ณ  ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร  จังหวัดสระบุรี

นายชูชาติ  รักจิตร   อธิบดีกรมชลปนะทาน  เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาว่า ปัจจุบัน(9 ก.พ.67)  4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ  15,210 ล้าน ลบ.ม. (61% ของความจุอ่างฯ รวมกัน)  คิดเป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 8,514  ล้าน ลบ.ม.  เนื่องจากปัจจุบันพบว่าพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยามีการเพาะปลูกข้าวนาปรังเกินแผนที่วางไว้ฯ  ทำให้จำเป็นต้องปรับแผนการจัดสรรน้ำช่วงฤดูแล้งปี 66/67 เพิ่มเติมจากแผนเดิม 6,100 ล้าน ลบ.ม. เป็น 8,700 ล้าน ลบ.ม. เพื่อสนับสนุนน้ำให้กับพื้นที่เพาะปลูกไม่ให้เกิดความเสียหายจนกว่าจะเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ ตามนโยบายของรัฐบาล  

จนถึงขณะนี้มีการจัดสรรน้ำเฉพาะลุ่มเจ้าพระยาไปแล้วประมาณ 4,373 ล้าน ลบ.ม.  หรือคิดเป็นร้อยละ 50  ของแผนฯ (8,700 ล้าน ลบ.ม.)  โดยคาดการณ์ว่า ณ  วันที่ 1 พ.ค.67 จะมีน้ำใช้การได้ในลุ่มเจ้าพระยาประมาณ 4,715 ล้าน ลบ.ม.  ซึ่งปริมาณน้ำดังกล่าว มีเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ ตลอดช่วงต้นฤดูฝนนี้  อย่างไรก็ตาม  เพื่อให้การจัดสรรน้ำเป็นไปตามแผนที่วางไว้ จึงขอความร่วมมือจากเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวข้าวนาปรังรอบแรกแล้วเสร็จ ไม่ทำนาปรังรอบ 2 เพื่อลดความเสี่ยงที่ผลผลิตจะเสียหายจากปริมาณน้ำไม่เพียงพอ  และช่วยลดผลกระทบต่อการใช้น้ำโดยรวมของลุ่มเจ้าพระยา  

ด้านการบริหารจัดการน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์  ที่ปัจจุบัน(9 ก.พ.67) มีปริมาณน้ำในอ่างประมาณ 531 ล้าน  ลบ.ม. มีการจัดสรรน้ำช่วงฤดูแล้ง ตั้งแต่ 1 พ.ย. 66 จนถึงขณะนี้ไปแล้ว 340 ล้าน ลบ.ม.(มีการพร่องระบายน้ำ 172 ล้าน ลบ.ม.)  ปัจจุบันมีการเพาะปลูกข้าวนาปรังไปเกินกว่าแผนค่อนข้างมาก กรมชลประทาน  จึงได้ปรับแผนการบริหารจัดการน้ำ เพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพอกับการเพาะปลูกของพี่น้องเกษตรกร


 

ทั้งนี้  กรมชลประทาน  ได้ติดตามการคาดการณ์สภาพอากาศจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด  เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์วางแผนการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ พร้อมกำชับให้โครงการชลประทานทุกพื้นที่ บริหารจัดการน้ำในแต่ละพื้นที่ให้เป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำที่วางไว้ จัดเตรียมเครื่องจักร-เครื่องมือ ให้สามารถออกปฏิบัติงานได้ตลอดเวลา รวมทั้งกำจัดวัชพืชไม่ให้กีดขวางทางน้ำอย่างต่อเนื่อง หมั่นตรวจสอบระบบและอาคารชลประทาน ให้สามารถส่งน้ำไปยังพื้นที่เป้าหมายได้อย่างเต็มศักยภาพ นอกจากนี้ ยังบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำให้ประชาชนและเกษตรกรรับทราบอย่างทั่วถึง รวมทั้งร่วมกันตระหนักถึงคุณค่าของน้ำ ประหยัดและใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป