นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการ กทท. เปิดเผยว่าในปัจจุบันโลกกำลังเผชิญกับสถานการณ์ ด้านสิ่งแวดล้อมและสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทั้งภาวะโลกร้อน ฝุ่นละอองขนาดเล็ก มลพิษต่างๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในทุกภาคส่วน รัฐบาล กระทรวงคมนาคม และการท่าเรือแห่งประเทศไทยภายใต้การกำกับดูแลของนางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมจึงให้ทุกหน่วยงานภายใต้กระทรวงคมนาคม ดำเนินนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงระบบคมนาคมได้อย่างปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green and Safe Transport)
ซึ่ง กทท. ได้ขานรับและกำหนดนโยบายในการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อมุ่งสู่การเป็นท่าเรือสีเขียวพร้อมพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ โครงการสนับสนุนการขนส่งทางเรือแทนการขนส่งทางรถบรรทุก ซึ่งจะช่วยลดปริมาณจำนวนรถบรรทุกได้ถึง 1,000 คัน รวมทั้งกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ได้แก่ การรณรงค์ให้ดับเครื่องยนต์รถเครื่องมือทุ่นแรงเมื่อไม่ได้ใช้งาน การฉีดพ่นละอองน้ำด้วยเครื่องพ่นละอองน้ำแรงดันสูงในช่วงเวลาที่มีฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานเป็นประจำ การสุ่มตรวจวัดควันดำของรถบรรทุกทั้งขาเข้า-ออก ภายในท่าเรือกรุงเทพ อีกทั้งได้ดำเนินการนำพลังงานหมุนเวียน (Solar Roof System) มาใช้บริเวณโรงพักสินค้าและบริเวณท่าเรือกรุงเทพ โดยสามารถผลิตปริมาณไฟฟ้าได้ 4.37 Mwh/ปี คิดเป็น 2,547 TonCo2eq/ปี ซึ่งจะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและลดภาระค่าใช้จ่ายในระยะยาวได้
นอกจากนี้ กทท. ยังมีแผนพัฒนาเพื่อยกระดับท่าเรือกรุงเทพเป็น Logistics Hub ในการรองรับและบริหารจัดการสินค้าเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ได้แก่ โครงการคลังสินค้าเขตปลอดอากร (Free Zone) และโครงการพัฒนาศูนย์กระจายสินค้าและศูนย์เชื่อมโยงการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transport & Distribution Center) เพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์และสามารถตอบสนองความต้องการใช้สินค้าของลูกค้า ผู้ประกอบการในเขตเมืองและปริมณฑลได้อย่างทันท่วงที (Same Day)
สำหรับแผนพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมในอนาคต กทท. ได้กำหนดแผนแม่บทเพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และควบคุมมลพิษอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการเปลี่ยนรถเครื่องมือทุ่นแรงภายในท่าเรือให้เป็นระบบไฟฟ้าทดแทนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง รวมทั้งการนำแนวคิด Green Building มาสร้างอาคารสำนักงานและนำเทคโนโลยีที่ช่วยในการประหยัดพลังงานเข้ามาประยุกต์ใช้ ตลอดจนการนำระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยปฏิบัติงาน เพื่อความรวดเร็ว แม่นยำ ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้โครงการต่างๆ ที่ กทท. ดำเนินการนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาการดำเนินงานและการให้บริการด้านโลจิสติกส์ซึ่งเป็นภารกิจหลักขององค์กรควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการดำเนินงานและพัฒนาคุณภาพชีวิตของสังคมให้ดีขึ้นและเติบโตอย่างยั่งยืน
นอกจากการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว กทท. ยังเร่งสนับสนุนการนำเทคโนโลยีเข้ามาส่งเสริมการให้บริการด้านโลจิสติกส์ โดยล่าสุดได้มีการจัดซื้อปั้นจั่นยกตู้สินค้าชนิดเดินบนราง หมายเลข 33 และ 34 (RAIL MOUNTED SHORESIDE GANTRY CRANE) ขนาดยกน้ำหนักไม่น้อยกว่า 40 เมตริกตัน จำนวน 2 คัน ติดตั้ง ณ ท่าเทียบเรือ 20F (ท่าเทียบเรือฝั่งตะวันออก) เพื่อทดแทนปั้นจั่นยกตู้สินค้าเดิม (หมายเลข 17 และ 18) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนถ่ายตู้สินค้าและบรรทุกตู้สินค้าด้วยเครื่องมือยกขนที่ทันสมัย ลดค่าใช้จ่ายพร้อมตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการในทุกมิติเพื่อก้าวสู่การเป็นท่าเรือชั้นนำที่มีมาตรฐานในระดับสากล