กรมโยธาธิการและผังเมืองได้รับรางวัล “Special Achievement in GIS (SAG) Award 2024” จากองค์กรเอกชน ประเทศสหรัฐอเมริกา จากการขับเคลื่อนโครงการจัดทำผังภูมิสังคมเพื่อการบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชน แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (Geo-Social Map) โดยได้มีการคัดเลือกโครงการที่ใช้ระบบ ArcGis ที่เสนอขอรับรางวัลจากหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งบริษัท ESRI (ประเทศไทย) ได้ขอนำโครงการจัดทำ ผังภูมิสังคมเพื่อการบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชน แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (Geo-social Map) จากกรมโยธาธิการและผังเมือง เสนอเข้ารับรางวัล และโครงการฯ ดังกล่าว ได้รับรางวัล “SAG Award 2024” ในงาน Esri User Conference 2024 ที่จัดขึ้นในวันที่ 15 - 19 กรกฎาคม 2024 ที่เมืองซานดิเอโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งรางวัลฯ ดังกล่าวเป็นรางวัลที่ให้กับโครงการที่สร้างประโยชน์ในวงกว้างในแต่ละประเทศ โดยโครงการจัดทำผังภูมิสังคมฯ เป็นหนึ่งใน 197 โครงการ จาก 76 ประเทศที่ได้รับรางวัล สำหรับประเทศไทยมีกรมโยธาธิการและผังเมืองหน่วยงานเดียวที่ได้รับรางวัลในปีนี้
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2567 ในงานสัมมนาเชิงวิชาการระบบสารสนเทศ “Thai GIS User Conference ครั้งที่ 28 ประจำปี 2567 (TUC 2024)” ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร กรมฯ ได้รับมอบรางวัลดังกล่าว จากผลงาน Geo Social map ที่ได้รับรางวัล SAG Award 2024 ที่มีการประยุกต์ใช้ระบบภูมิสารสนเทศในการพัฒนาระบบงานในโครงการจัดทำผังภูมิสังคมฯ เช่น ระบบติดตามการจัดทำผังภูมิสังคม ระบบติดตามโครงการพัฒนาตามผังภูมิสังคม ติดตามสถานะโครงการ การนำเข้าและปรับปรุงสถานะโครงการ บริการผังการบริหารจัดการน้ำ ทั้งนี้เป็นการขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล ที่มุ่งเน้นการดำเนินงานให้ “ทันโลก ทันสมัย และทันท่วงที” จนโครงการสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี มีประโยชน์เป็นวงกว้าง ทั้งกับภาคประชาชน ภาครัฐ ทั่วประเทศ 76 จังหวัด
นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า กรมโยธาธิการและผังเมือง ขับเคลื่อนภารกิจ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” และเป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย และภาคีเครือข่าย ในการดำเนินโครงการจัดทำผังภูมิสังคมเพื่อการบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชน แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (Geo-social Map) เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและลดความเสี่ยงจากอุทกภัย ด้วยการน้อมนำศาสตร์พระราชามาเป็นกรอบแนวคิดในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และใช้ข้อมูลสภาพความเป็นจริงทางภูมิประเทศทั้ง "ภูมิประเทศด้านภูมิศาสตร์" และ "ภูมิประเทศทางสังคมศาสตร์ในสังคมวิทยา" มาจัดทำข้อมูลในรูปแบบ “ผังภูมิสังคม” ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้ผังภูมิสังคมฯ เป็นข้อมูลสะท้อนปัญหาด้านต่าง ๆ และความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งหน่วยงานภาครัฐสามารถนำไปใช้วางแผนงานและดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ พร้อมทั้งผลักดันให้มีการขับเคลื่อนโครงการในทุกจังหวัดให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ การจัดทำฝายชะลอน้ำ การขุดบ่อน้ำ สระน้ำ คลองไส้ไก่ การปรับปรุงห้วย หนอง คู คลอง เป็นต้น ซึ่งแต่ละพื้นที่สามารถดำเนินโครงการได้ทันที โดยไม่ใช้งบประมาณหรือใช้งบประมาณไม่มาก ผ่านกลไกความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายในการพัฒนา เพื่อบรรเทาและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งของประชาชน และพัฒนาคุณภาพชีวิตนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสู่สิ่งที่ดีในทุกมิติ (Change for Good) และเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน “ผังภูมิสังคม” (Geo-social Map) เป็นนวัตกรรมที่ใช้ GIS ในการบูรณาการข้อมูลสภาพความเป็นจริงทางภูมิประเทศ ทั้ง “ภูมิประเทศด้านภูมิศาสตร์” และ “ภูมิประเทศทางสังคมศาสตร์ในสังคมวิทยา” ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อให้ผังภูมิสังคม เป็นข้อมูลที่สะท้อนปัญหาและความต้องการของประชาชนในพื้นที่ อันเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน รวมถึงประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการ วางแผน กำหนดนโยบาย และติดตามผลการดำเนินงาน เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม โดยอาศัยความร่วมมือจากภาคีเครือข่าย ในแต่ละพื้นที่ดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) ในการดำเนินโครงการพัฒนาตามผังภูมิสังคม