สปส. เยียวยาผู้ประสบภัยดินโคลนถล่ม มอบเงินช่วยเหลือครบถ้วน

28 ส.ค. 2567 | 13:30 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ส.ค. 2567 | 13:31 น.

สปส.ห่วงใยผู้ได้รับบาดเจ็บ พร้อมมอบเงินสิทธิประโยชน์ให้ทายาทผู้เสียชีวิตจากเหตุดินโคลนถล่ม จ.ภูเก็ต

จากเหตุการณ์ดินโคลนถล่มบ้านเรือนในพื้นที่ซอยปฏัก 2 ตำบลกะรน อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 13 ราย และได้รับบาดเจ็บ 13 ราย นั้น นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าว มีผู้ประกันตนเสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บ ผมมีความห่วงใยผู้ได้รับบาดเจ็บ และขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของผู้เสียชีวิต และได้สั่งการให้ นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ตรวจสอบข้อเท็จจริงพร้อมสั่งการให้ความช่วยเหลือโดยทันที

 

สปส. เยียวยาผู้ประสบภัยดินโคลนถล่ม มอบเงินช่วยเหลือครบถ้วน

วันนี้ 28 สิงหาคม 2567 นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม มอบหมายให้ เรืออากาศเอกหญิงศุภพร อยู่วัฒนา ผู้ตรวจราชการกรม สำนักงานประกันสังคม ลงพื้นที่พร้อม นายไพโรจน์ ศรีละมุล นายอำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต และนางพีรพร บวรธนสาร รักษาราชการแทนประกันสังคมจังหวัดภูเก็ต ณ วัดมงคลวราราม (วัดในยาง) ตำบลสาคู อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต เพื่อให้กำลังใจและมอบเงินสิทธิประโยชน์จากกองทุนประกันสังคม แก่ทายาทของนายประเสริฐ ระวังภัย ผู้ประกันตนมาตรา 33 ลูกจ้างของบริษัท รักษาความปลอดภัย ไอ เอฟ เอส จำกัด เป็นค่าทำศพ จำนวน 50,000 บาท และเงินสงเคราะห์กรณีตายจำนวน 16,346.66 บาท และเงินบำเหน็จชราภาพ จำนวน 17,355.77 บาท (ไม่รวมผลประโยชน์ตอบแทน) รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 83,702.43 บาท พร้อมกันนี้ได้มอบสิ่งของแทนกำลังใจแก่ นายอดิศักดิ์ ดวงแก้ว หนึ่งในผู้บาดเจ็บ ซึ่งเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 อีกด้วย

 

สปส. เยียวยาผู้ประสบภัยดินโคลนถล่ม มอบเงินช่วยเหลือครบถ้วน

ในวันเดียวกัน ได้ลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมและให้กำลังใจ นางสาววิไลลักษณ์ คำศรี ผู้ประกันตนมาตรา 33 ลูกจ้างของบริษัท กะตะปาล์มรีสอร์ท จำกัด ณ โรงพยาบาลฉลอง อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ซึ่งจากเหตุการณ์ดังกล่าว สำนักงานประกันสังคม ได้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน (ภายใน 72 ชั่วโมง) โดยผู้ประกันตนไม่ต้องสำรองจ่าย พร้อมแนะนำสิทธิประโยชน์อื่นที่ผู้ประกันตนจะได้รับจากเหตุการณ์นี้ เช่น ได้รับเงินทดแทนกรณีขาดรายได้สำหรับการหยุดงานเพื่อการรักษาพยาบาลตามคำสั่งแพทย์ เมื่อผู้ประกันตนใช้สิทธิลาป่วยและได้รับค่าจ้างจากนายจ้างครบ 30 วันแล้ว มีสิทธิได้รับเงินทดแทนขาดรายได้ร้อยละ 50 ของค่าจ้าง ครั้งละไม่เกิน 90 วัน และปีละไม่เกิน 180 วัน

นายบุญสงค์ กล่าวต่อไปว่า หากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดขอให้มั่นใจว่า สำนักงานประกันสังคมพร้อมดูแลช่วยเหลือเยียวยาลูกจ้าง ผู้ประกันตน รวมทั้งทายาทของผู้เสียชีวิตให้ได้รับสิทธิประโยชน์ครบถ้วนในทุกกรณี เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงในการดำรงชีวิตแก่ลูกจ้าง ผู้ประกันตนให้ได้รับประโยชน์สูงสุดเป็นสำคัญ