นายเทอดเกียรติ พร้อมมูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (IRPC) เปิดเผยถึงแนวโน้มตลาดน้ำมันดิบในไตรมาสที่ 4/2567 คาดการณ์ว่าความต้องการใช้น้ำมันโดยรวมจะเพิ่มขึ้นจากความต้องการน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาสำหรับการผลิตพลังงานในช่วงฤดูหนาว ในขณะที่ตลาดผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในไตรมาสที่ 4/2567 ความต้องการผลิตภัณฑ์จะปรับตัวดีขึ้น เพื่อเตรียมรับเทศกาลปลายปี นอกจากนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจีนที่มุ่งเน้นการสร้างกำลังซื้อภายในประเทศ การบรรเทาภาวะเงินฝืดและการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ ส่งผลให้มีสัญญาณเชิงบวกสำหรับการฟื้นตัวของอุตสาหกรรม
อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสที่ 3 ปี 2567 สถานการณ์ความผันผวนและไม่แน่นอนของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ประกอบกับ ปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถควบคุมได้จากสภาวะเศรษฐกิจจีน สหรัฐอเมริกาและยุโรปที่ชะลอตัว ส่งผลกระทบให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง ซึ่งกระทบต่อผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ในไตรมาสที่ 3 ปี 2567 เปรียบเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2567 IRPC มีผลขาดทุนสุทธิ 4,880 ล้านบาท หรือขาดทุนเพิ่มขึ้น 4,148 ล้านบาท โดยมีรายได้การขายสุทธิ 69,964 ล้านบาท ลดลง 4,102 ล้านบาท หรือร้อยละ 6 สาเหตุหลักจากราคาขายเฉลี่ยลดลงร้อยละ 10 ปรับตัวลงตามราคาน้ำมันดิบที่ลดลง แม้ปริมาณขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 4
สำหรับธุรกิจปิโตรเลียม บริษัทฯ มีกำไรขั้นต้นจากการกลั่นตามราคาตลาด (Market GRM) เพิ่มขึ้น เพราะส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กลุ่มน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับราคาน้ำมันเตาที่สูงขึ้น โดยเฉพาะส่วนต่างราคายางมะตอยปรับตัวสูงขึ้น และความต้องการในประเทศที่เพิ่มขึ้นตามการใช้งบประมาณประจำปี รวมทั้งธุรกิจปิโตรเคมี มีกำไรขั้นต้นตามราคาตลาด (Market PTF) เพิ่มขึ้นจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กลุ่มสไตรีนิกส์กับวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจีนทำให้บริษัทฯ มีกำไรขั้นต้น จากการผลิตตามราคาตลาด (Market GIM) อยู่ที่ 3,650 ล้านบาท หรือ 5.72 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 จากไตรมาสก่อน
จากความกังวลต่อสภาวะเศรษฐกิจจีน สหรัฐอเมริกาและยุโรปที่ชะลอตัว ส่งผลราคาน้ำมันดิบปรับตัวลง ทำให้บริษัทขาดทุน สต็อกน้ำมัน 3,366 ล้านบาท หรือ 5.27 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และมีการปรับลดมูลค่าสินค้าคงเหลือให้เท่ามูลค่าสุทธิที่ได้รับ (NRV) 1,634 ล้านบาท หรือ 2.56 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล บริษัทฯ จึงขาดทุนสต๊อกน้ำมันสุทธิ 5,000 ล้านบาท หรือ 7.83 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ส่งผลต่อ EBITDA ไตรมาส 3/2567 อยู่ที่ -4,843 ล้านบาท เทียบกับไตรมาสก่อนที่ EBITDA 1,439 ล้านบาท อย่างไรก็ตามเงินบาท ที่แข็งค่าทำให้บริษัทฯ มีกำไรจากตราสารอนุพันธ์ทางการเงิน 763 ล้านบาท กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนจากเงินกู้ 182 ล้านบาท รวมทั้งกำไรบริหารความเสี่ยงน้ำมัน(ที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง) 575 ล้านบาท แต่มีค่าเสื่อมราคา 2,327 ล้านบาท และมีต้นทุนการเงินสุทธิ จำนวน 687 ล้านบาท ทำให้บริษัทฯ มีผลขาดทุนสุทธิ 4,880 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้น 4,148 ล้านบาท จากไตรมาสที่แล้ว
นายเทอดเกียรติ กล่าวต่อไปว่า “บริษัทฯ ได้ดำเนินโครงการ SOS (Save Overcome Strive) เพื่อลดต้นทุนการผลิตและ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานผ่านการบริหารจัดการการลงทุนและสินทรัพย์ พร้อมติดตามความผันผวนของปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบ ต่อผลประกอบการของบริษัทฯ อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนมาตรการต่าง ๆ ในการรับมือได้อย่างทันท่วงที”
IRPC มุ่งมั่นพัฒนาและยกระดับการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายการขับเคลื่อนธุรกิจอย่างยั่งยืน ด้วยการเชื่อมโยงการจัดการด้านสังคมกับการทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ย (Social – Linked THOR) กับธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงทางการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่กับการส่งเสริมด้าน ESG ที่ชัดเจนและวัดผลได้
นอกจากนี้ IRPC ร่วมกับกองทุน Innovation One ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) กองทุน Innovation One ที่ให้การสนับสนุน SMEs และสตาร์ทอัพสู่สากล พร้อมพัฒนา “ปุ๋ยหมีขาว REINFOXX" เสริมความยั่งยืนภาคเกษตร ด้วยความมุ่งมั่นนี้ IRPC ได้รับรางวัลนวัตกรรม เช่น Best Innovative Company จาก SET Awards 2024 และรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติอีก 4 รางวัล ได้แก่ 1. รางวัลองค์กรนวัตกรรมดีเด่น ประเภทวิสาหกิจขนาดใหญ่ มอบให้ IRPC ในฐานะองค์กรที่นำความรู้ เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์มาใช้สร้างคุณค่าและการเติบโตอย่างยั่งยืนตั้งแต่ระดับยุทธศาสตร์ กระบวนการ จนถึงโครงสร้างองค์กร 2. รางวัลเกียรติยศด้านนวัตกรรมแห่งชาติ สำหรับโครงการเม็ดพลาสติก ABS จากยางธรรมชาติ ซึ่งตอกย้ำบทบาทของ IRPC ที่ได้รับรางวัลนวัตกรรมมาไม่ต่ำกว่า 10 ปี และมีการนำไปใช้จริงพร้อมพัฒนาต่อยอดอย่างต่อเนื่อง 3. รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมจากผลงาน PP Phthalate Free Products นวัตกรรมที่สร้างประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงมีความโดดเด่นด้านรูปแบบผลิตภัณฑ์ และกระบวนการ 4. รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ด้านเศรษฐกิจ จากผลงาน UHMWPE for Battery Separator ที่แสดงถึงศักยภาพในการสร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์และประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน