การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อทะเลและชายฝั่งอย่างรุนแรง โดยเฉพาะการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและทรัพยากรสัตว์ทะเล ส่งผลต่อแหล่งอาหารของมนุษย์ การฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจึงเป็นสิ่งสำคัญในการรักษาความสมดุลของระบบนิเวศและความยั่งยืน
คาดกันว่า แม้อุณหภูมิของโลกจะเพิ่มขึ้นแค่ 1-2 องศาเซลเซียส สิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเล และชายฝั่งจะได้รับผลกระทบอย่างใหญ่หลวง ปะการังจะเกิดการฟอกขาว หรือภาวะสูญเสียสาหร่าย ซึ่งเป็นแหล่งอาหารสำคัญ และอาจทำให้ปะการังตายได้ ดังเหตุการณ์เกรตแบร์ริเออร์รีฟ (Great Barrier Reef) พืดหินปะการังที่ยาวที่สุดในโลกกว่า 2,000 กิโลเมตร ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศออสเตรเลีย สูญเสียปะการังถึง 2 ใน 3 เมื่ออุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น 1-2 องศาเซลเซียส
เช่นเดียวกับการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ โดยจะสูญเสียปริมาณสัตว์น้ำในทะเลมากขึ้น 0.8-1.5% และอาจสูงถึง 15% หากอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 3 องศาเซลเซียส ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนแหล่งอาหารมนุษย์ (Food Safety) ซึ่งทำให้ตัวเลขผู้หิวโหยอาจทะลุ 870 ล้านคน
สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ข้อมูลจากกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสิ่งแวดล้อม ระบุว่า ภูมิภาคเราเป็น 1 ใน ภูมิภาคที่เปราะบางที่สุดต่อภาวะโลกรวน (Climate Change) โดยเฉพาะชายฝั่งประเทศไทยที่อาจเจอภัยพิบัติรุนแรง
ทะเล และชายฝั่งเป็นแหล่งทรัพยากรที่สำคัญของมนุษย์ ทั้งในด้านห่วงโซ่อาหาร เศรษฐกิจ การค้า การป้องกันภัยธรรมชาติ และการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ การตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่ง จึงส่งผลต่อความยั่งยืนของชีวิตมนุษย์ และสิ่งแวดล้อม
เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ชุดเป้าหมายการพัฒนาระดับโลกที่ได้รับการรับรองจาก 193 ประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ ได้กำหนดให้การอนุรักษ์ และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน เป็นเป้าหมายที่ 14 (Conserve and sustainably use the oceans, seas and marine resources for sustainable development) ที่ทุกประเทศต้องเดินหน้าร่วมกันเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
เป้าหมายที่ 14 ยังระบุเป้าหมายย่อยที่ให้ความสำคัญกับทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่ง เพื่อเป็นตัวชี้วัดการพัฒนา อาทิ การลด และติดตามภาวะความเป็นกรดในมหาสมุทร การยุติการประมงแบบผิดกฎหมาย ไม่มีการรายงาน และควบคุม (IUU) หรือการเพิ่มพื้นที่อนุรักษ์ทางทะเล และชายฝั่งให้ได้ร้อยละ 10
สิ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก คือ ในเป้าหมายย่อย 14A หรือการเพิ่มความรู้ทางวิทยาศาสตร์ พัฒนาขีดความสามารถวิจัย และถ่ายเทคโนโลยีทางทะเล ได้รับการตอกย้ำให้เป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญเพื่อรักษาคุณภาพของทะเล และชายฝั่ง โดยเฉพาะบทบาทของภาคเอกชน ที่อาจหนุนเสริมองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีต่อภาครัฐ และทำงานร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร เพื่อนำเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้ อาทิ เทคโนโลยีการตรวจสอบและติดตามสภาพทะเล (Marine Monitoring Technologies) เพื่อติดตามและประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมทางทะเล เช่น มลพิษ น้ำทะเลร้อนขึ้น หรือสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นต้น หรือ เทคโนโลยีการฟื้นฟูแนวปะการัง (Coral Reef Restoration Technologies) อาทิ การเพาะเลี้ยงปะการังในห้องปฏิบัติการ และการปลูกในธรรมชาติเพื่อฟื้นฟูแนวปะการังที่เสื่อมโทรม และเทคโนโลยีการประมงยั่งยืน (Sustainable Fishing Technologies) อาทิ การใช้เครื่องมือประมงที่เลือกจับเฉพาะพันธุ์ที่สามารถทดแทนได้และการใช้เทคโนโลยีจับปลาอัตโนมัติที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
“SEACOSYSTEM เพื่อทะเลไทยที่ยั่งยืน” เป็นหนึ่งในโครงการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่งที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) สานต่อ ทั้งนี้เพื่อเป็นไปตามนโยบายการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ และพัฒนาชุมชนทั้งด้านสังคม และเศรษฐกิจไปพร้อมกัน โดยปัจจุบันได้ดำเนินการแบบบูรณาการร่วมกับพันธมิตร ครอบคลุมทั้งอ่าวไทย และอันดามัน 10 จังหวัด เช่น การสนับสนุนชุมชนชาวประมงใช้นวัตกรรมธนาคารสัตว์น้ำ (Seaco Incubator) พร้อมทั้งทำซั้งบ้านปลาเพื่อเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ หรือพัฒนา “กลุ่มชาวประมงต้นแบบด้านการอนุรักษ์” เพื่อยกระดับสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มประมงชาวบ้าน มีทุนหมุนเวียนสำหรับรณรงค์ใช้เครื่องมือประมงที่เหมาะสม จนทำให้มีชาวประมงพื้นบ้านมีรายได้เลี้ยงตัวเองมากกว่า 2,500 บาทต่อวัน ได้รับประโยชน์มากกว่า 5,500 ครัวเรือน
เครือเจริญโภคภัณฑ์ โดยบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ยังได้ร่วมมือกับ SeaBOS (Seafood Business for Ocean Stewardship) ดำเนินโครงการนำร่องเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยไม่ใช้ยาต้านจุลชีพ และสารเร่งเจริญเติบโต สินค้าจึงสามารถตรวจสอบย้อนกลับความโปร่งใสได้ นอกจากนี้ยังถ่ายทอดวิธีการทำประมงกุ้งแบบยั่งยืนให้กับกลุ่มเกษตรกรพันธมิตรด้วยเช่นกัน
ในด้านต่างประเทศ เครือเจริญโภคภัณฑ์ เวียดนาม ร่วมกับพันธมิตร ปรับปรุงประมงอวนลากสำหรับสัตว์น้ำหลากหลายสายพันธุ์ทางชายฝั่งด้านตะวันออกของเวียดนาม ที่ผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการของ MarinTrust องค์กรสากลด้านมาตรฐานปลาป่น และน้ำมันปลา ทำให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับความโปร่งใสการผลิตปลาป่นได้ 100% นับเป็นการต่อแบ่งปันความรู้ของหน่วยธุรกิจระหว่างประเทศ เพื่อสนับสนุนการทำประมงแบบยั่งยืน
การอนุรักษ์ทะเลและชายฝั่งเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่เพียงช่วยรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ แต่ยังเสริมสร้างความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจและชีวิตของชุมชนชายฝั่ง ท่ามกลางความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เทคโนโลยีและโครงการฟื้นฟูต่างๆ เช่น การฟื้นฟูปะการัง การจัดการขยะทะเล และการประมงยั่งยืน จึงมีบทบาทสำคัญในการสร้างสมดุลระหว่างการใช้ทรัพยากรและการอนุรักษ์ เพื่อให้แน่ใจว่า "อนุรักษ์ได้ กินอยู่ดี" เป็นแนวทางที่สามารถช่วยปกป้องสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมคุณภาพชีวิตของชุมชนอย่างยั่งยืน