มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ยกเครื่ององค์กรใหม่สู่ “ที่ปรึกษาด้านความยั่งยืน”

02 ม.ค. 2568 | 23:31 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ม.ค. 2568 | 01:33 น.

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ปรับองค์กรใหม่ สร้าง 4 New S-Curve รับโอกาสใหม่ ดันองค์ความรู้สู่ “ที่ปรึกษาด้านความยั่งยืน” เทียบ Baker McKenzie – BCG หลังลุยงานพัฒนาตาม "ศาสตร์พระราชา" และ "ตำราสมเด็จย่า" กว่า 36 ปี

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ เริ่มต้นการทำงานด้านพัฒนาภายใต้ "ศาสตร์พระราชา" และ "ตำราสมเด็จย่า" มาตั้งแต่ปี 2531 จนปัจจุบันได้สะสมองค์ความรู้งานพัฒนาด้านต่าง ๆ มายาวนานกว่า 36 ปี เพื่อช่วยเหลือประชาชนคนบนดอยสูง ที่อยู่ในภาวะ “เจ็บ จน ไม่รู้” ให้กลับมามีโอกาส มีอาชีพ และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีมากขึ้น ภายใต้โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงราย

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ดำเนินโครงการพัฒนาดอยตุงฯ โดยพัฒนาคุณภาพชีวิตของกลุ่มชาติพันธ์ทุกกลุ่มอายุ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม-วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม และขยายผลไปในพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ จนปัจจุบันได้สะสมองค์ความรู้ด้านการพัฒนามาอย่างมากมาย 

ล่าสุดมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เตรียมหยิบเอาจุดแข็งนี้มาปรับแผนองค์กรใหม่ จากเดิมที่เน้นโครงการพัฒนาในพื้นที่ต่าง ๆ ปรับมาเป็นการก้าวขึ้นเป็น “ที่ปรึกษาด้านความยั่งยืน” ของประเทศ เน้นร่วมกับภาคีเครือข่ายในการดำเนินงาน ให้เกิดผลกระทบเชิงบวกในวงกว้างรองรับบริบทใหม่ของโลกที่กำลังเผชิญปัญหาสารพัด ทั้ง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือความเหลื่อมล้ำทางสังคม ซึ่งปัญหาข้างต้นจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

ESG บริบทใหม่โลก คาดยอดโต 461%

ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้สัมภาษณ์กับทีมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจประจำทำเนียบรัฐบาล ว่า โจทย์หลักที่เห็น คือ ประเทศไทย บริษัทใหญ่ ประชาชน ตอนนี้มีกระบวนการจัดการกับความเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะเข้ามากระทบอย่างไร เช่น การทำการเกษตรแล้วผลผลิตลดลงจะทำอย่างไร 

อีกด้านคือโลกหันมามองเรื่องความยั่งยืน ESG SDGs หรือ Net Zero ซึ่งมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ อยู่ในจุดที่ดี เพราะมีองค์ความรู้ และกระบวนการที่สะสมมากว่า 36 ปี ที่จะเข้ามาจัดการกับสิ่งเหล่านี้ได้ไม่มากก็น้อย นี่จึงเป็นโอกาสกับการเป็นที่ปรึกษาด้านความยั่งยืน

 

ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์

 

ตัวอย่างหนึ่งที่กำลังเป็นบริบทใหม่ของโลก คือ แรงผลักดันเรื่อง ESG ค่อนข้างแรง เช่น เรื่องของกฎระเบียบและข้อบังคับในระดับประเทศและสากล ม.ล.ดิศปนัดดา ยอมรับว่า ขณะนี้ ประเทศไทยเตรียมเก็บภาษี Carbon Tax ภายในปี 2568 และในอีก 10 ปีข้างหน้าประเมินว่า การลงทุนในบริษัทที่ทำด้าน ESG จะเติบโตประมาณ 460.92% แสดงให้เห็นว่า เงินในอนาคตที่จะเข้าไปลงทุนสู่การเติบโตของธุรกิจจะเข้าไปในธุรกิจที่มีกระบวนการจัดการเรื่อง ESG เป็นอย่างดี

อีกทั้งยังพบว่า 50% ของบริษัทชั้นนำทั่วโลก ณ ปัจจุบันได้กำหนดเป้าหมาย Net Zero เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และกำลังเข้าสู่กระบวนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมาย พร้อมทั้งยังกำหนดเกณฑ์ด้านความยั่งยืนในการคัดเลือกคู่ค้าด้วย ขณะที่ในมุมความต้องการของผู้บริโภค พบว่า  ผู้บริโภค 60% ยินดีที่จะจ่ายเงินซื้อสินค้าแพงขึ้น หากสินค้าจากบริษัทเหล่านี้มีกระบวนการทำ ESG ที่โปร่งใสสอบทานได้ และตรวจสอบกลับได้ด้วย

ยกเครื่ององค์กรลุย 4 งานใหญ่

ด้วยเหตุนี้ในปี 2568 มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ จึงได้กำหนดพันธกิจใหม่ หรือการสร้าง New S-Curve ของตัวเอง โดยมีสิ่งที่ต้องดำเนินการหลัก 4 ด้าน นั่นคือ 

  1. งานพัฒนาคุณภาพชีวิต 
  2. ธุรกิจเพื่อสังคม (แบรนด์ดอยตุง) 
  3. การดำเนินงานเพื่อบริหารจัดการ ปกป้อง และฟื้นฟูระบบนิเวศอย่างยั่งยืน (การใช้ธรรมชาติแก้ไขปัญหาธรรมชาติ) หรือ Nature-based solutions 
  4. งานที่ปรึกษาด้านความยั่งยืน 

“ต่อจากนี้ไปโลกกำลังบังคับให้เราเดินบนถนนที่แคบลงเรื่อย ๆ นั่งจึงทำให้มูลนิธิฯ จะหยิบนำองค์ความรู้ที่มีมาตอบโจทย์นี้ได้ โดยการสร้าง New S-Curve ขึ้นมา จะเป็นสิ่งที่สร้างโอกาสในตลาดสูงมาก โดยเฉพาะในด้านที่ 3 และ 4 หลังจาก 1 ปีที่ผ่านมาได้เห็นทิศทางที่ชัดเจน เช่น การใช้คาร์บอนเครดิตมาเป็นเครื่องมือในการอนุรักษ์ระบบนิเวศ หรือฟื้นฟูป่า สร้างความเชื่อมโยงชุมชน เอกชน และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้มเข้าด้วยกัน” ม.ล.ดิศปนัดดา ระบุ

 

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ยกเครื่ององค์กรใหม่สู่ “ที่ปรึกษาด้านความยั่งยืน”

 

ปรับองค์การเป็นที่ปรึกษาด้านความยั่งยืน

สำหรับงานที่ปรึกษาด้านความยั่งยืนนั้น เบื้องต้นมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ พร้อมนำองค์ความรู้ด้านความยั่งยืนแบ่งปันให้กับภาคเอกชนและภาคส่วนอื่น ๆ ให้เกิดการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม (last mile implementation solution) ผ่านการเป็นที่ปรึกษาเชิงปฏิบัติการ โดยครอบคลุมประเด็น ดังนี้

1.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ผ่านการวางแผนและทวนสอบคาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กรและผลิตภัณฑ์ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การจัดการขยะสู่บ่อฝังกลบเป็นศูนย์ การทำระบบ Extended Producer Responsibility (EPR) หรือ การเรียกคืนบรรจุภัณฑ์ 

2.ความหลากหลายทางชีวภาพและการแก้ไขปัญหาที่อาศัยธรรมชาติ ผ่านการประเมินและฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ การปลูกป่าและฟื้นฟูป่า การจัดการน้ำ

3.การพัฒนาชุมชน ผ่านการทำความเข้าใจชุมชนและกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การทำโครงการพัฒนาชุมชนเพื่อสร้างรายได้และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี

“มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ มองโอกาสที่จะเกิดขึ้นเกี่ยวกับงานที่ปรึกษาด้านความยั่งยืน โดยตั้งเป้าหมายการทำงานในลักษณะคล้าย ๆ กับ Baker McKenzie หรือ Boston Consulting Group ที่เชี่ยวชาญงานด้านที่ปรึกษา แต่แม่ฟ้าหลวง จะเน้นเรื่องงานด้านความยั่งยืนทั้ง 3 เรื่องนี้เป็นหลัก เพราะเป็นเรื่องที่แม่ฟ้าหลวงเชี่ยวชาญ และเชื่อว่าแต่ละบริษัทต้องการใช้” ม.ล.ดิศปนัดดา กล่าว

 

ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์

 

ขยายพื้นที่คาร์บอนเครดิต 3 แสนไร่

ขณะที่งานด้านบริหารจัดการ ปกป้อง และฟื้นฟูระบบนิเวศอย่างยั่งยืน มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้ร่วมมือกับภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชนริเริ่ม “โครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ขึ้นทะเบียนเป็นโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program) ภาคป่าไม้ ขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.)  

สำหรับการดำเนินงานโครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนแบ่งออกเป็น 4 ระยะ (ระหว่างปี 2664 - ปัจจุบัน) ครอบคลุมพื้นที่ 258,186 ไร่ ร่วมกับป่าชุมชน 281 ชุมชน 11 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา แม่ฮ่องสอน กำแพงเพชร อุทัยธานี กระบี่ ยโสธร อำนาจเจริญ น่าน และลำปาง ประชาชนเข้าร่วมกว่า 150,000 คน และได้รับความได้รับความไว้วางใจจากหน่วยงานกว่า 25 แห่ง ทั้งภาคเอกชน และรัฐวิสาหกิจในการพัฒนาโครงการร่วมกัน

ทั้งนี้ในปี 2568 มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ มีเป้าหมายขยายพื้นที่ดำเนินการอีก 150,000 - 300,000 ไร่ ในพื้นที่ป่าชุมชน จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน น่าน แม่ฮ่องสอน และตาก โดยคาดว่าจะได้รับปริมาณคาร์บอนเครดิตปีละ 45,000-90,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อใช้ในการดำเนินงาน เพื่อให้โครงการมีประสิทธิภาพความโปร่งใส และแม่นยำสูงสุด

 

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ยกเครื่ององค์กรใหม่สู่ “ที่ปรึกษาด้านความยั่งยืน”

 

พัฒนากาแฟคุณภาพ - Biodiversity

ส่วนงานด้านการพัฒนาพื้นที่ ซึ่งเป็นงานเดิมที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ทำมานานกว่า 36 ปี ก็ยังทำต่อเนื่องและมีการขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ๆ โดยเฉพาะในต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีโครงการพัฒนาเชิงพื้นที่ต่างๆ ดังนี้

  • โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เชียงราย
  • โครงการร้อยใจรักษ์ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่
  • โครงการศึกษาและพัฒนาการปลูกชาน้ำมันและพืชน้ำมันอื่นๆ ตำบลเทอดไทย อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย
  • โครงการแปรรูปป่าเศรษฐกิจน่าน 
  • โครงการพัฒนาทางเลือกเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ยั่งยืน ไทย-เมียนมา พื้นที่หนองตะยา อำเภอพินเลา รัฐฉาน

เช่นเดียวกับธุรกิจเพื่อสังคม (แบรนด์ดอยตุง) โดยในปี 2568 ได้กำหนดเป้าหมายการดำเนินงานคือเน้นการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างรายได้ที่เติบโตและยั่งยืน โดยเฉพาะการพัฒนาองค์ความรู้กาแฟคุณภาพตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิต 

รวมทั้งงานด้านการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) ซึ่งเป็นประเด็นที่ภาคธุรกิจเริ่มให้ความสำคัญมาก เนื่องจากธรรมชาติและสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปกระทบต่อกิจกรรมของมนุษย์ในทุกภาคส่วน 

ทั้งนี้ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้เริ่มเก็บข้อมูลสิ่งมีชีวิตและการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติในพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุงฯ โดยในปี 2568 นี้ จะเปิดเผยข้อมูลทางธรรมชาติในรูปแบบของรายงาน TNFD : The Taskforce on Nature-related Financial Disclosures เพื่อแสดงให้เห็นความเสี่ยงจากปัจจัยทางธรรมชาติที่ส่งผลต่อการดำเนินกิจกรรมของมูลนิธิฯ รวมถึงแผนการเตรียมการรับมือ ปรับตัว และ แก้ไข ให้คนและป่าสามารถอยู่ร่วมกันได้ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงไปของธรรมชาติในปัจจุบัน

 

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ยกเครื่ององค์กรใหม่สู่ “ที่ปรึกษาด้านความยั่งยืน”

 

นอกจากนี้ยังร่วมมือกับ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) เพื่อนำพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุงฯ ขึ้นเป็นพื้นที่อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพนอกเขตพื้นที่คุ้มครอง หรือ Other Effective Conservation Measures (OECM) 

โดยใช้พื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุงฯ เป็นพื้นที่นำร่องในการศึกษาเรื่อง biodiversity credit เป็นการสนับสนุนแผนปฏิบัติการด้านความหลากหลายทางชีวภาพระดับชาติ ที่ประเทศไทยได้นำเสนอแผนนี้ในการประชุม COP 16  ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity) ที่เมืองคาลี ประเทศโคลัมเบีย