‘วราวุธ’ กางโรดแมป Net Zero เร่งขับเคลื่อนสู่ COP 28

22 ธ.ค. 2565 | 06:20 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ธ.ค. 2565 | 13:21 น.

‘วราวุธ’ เร่งขับเคลื่อน Net Zero กางโรดแมปลดปริมาณปล่อยก๊าซเรือนกระจก สู่  COP 28 ที่ดูไบ จี้ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน กระตุ้นภาคธุรกิจ รับมือกำหนดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ เป็นภาคบังคับ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน พร้อมเร่งผลักดันป่าเศรษฐกิจ หวังเพิ่มรายได้ให้ประชาชน สร้างพื้นที่ดูดซับก๊าซ CO2

‘วราวุธ’ กางโรดแมป Net Zero เร่งขับเคลื่อนสู่ COP 28

 

ในเวทีการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 27 (COP 27) จัดขึ้นที่ประเทศอียิปต์ เมื่อวันที่ 11-17 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้แสดงจุดยืนในเวทีดังกล่าวอย่างชัดเจนที่จะสนับสนุนในการลดก๊าซเรือนกระจก โดยได้จัดส่งยุทธศาสตร์ระยะยาว ฉบับปรับปรุง ที่สอดคล้องกับเป้าหมายการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ( Carbon Neutrality) ในปี 2050 และบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสิทธิเป็นศูนย์ ( Net-zero Emission) ในปี 2065 รวมทั้งยกระดับเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด หรือ NDC (Nationally Determined Contribution) เป็น 40% บนพื้นฐานของการสนับสนุนจากต่างประเทศ

 

รวมถึงการเพิ่มการผลิต Zero-emission vehicles เป็น 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด ภายในปี 2030 เพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทนในการผลิตกระแสไฟฟ้าอย่างน้อย 50% ภายในปี 2050 และสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีเพื่อการดูดกลับก๊าซ CO2 ในเชิงพาณิชย์ก่อนปี 2040 รวมทั้งเพิ่มพื้นที่สีเขียว ทุกประเภทเป็น 55% ของพื้นที่ประเทศ เพื่อเพิ่มแหล่งกักเก็บก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2037

 

อีกทั้ง การผลักดันส่งเสริมโมเดล BCG เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว อย่างจริงจัง เพื่อนำไปสู่การเติบโตที่ยั่งยืน 

‘วราวุธ’ กางโรดแมป Net Zero เร่งขับเคลื่อนสู่ COP 28

 

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ประเทศไทยได้ประกาศเจตนารมณ์ในเวที COP 27 ไปแล้ว เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายดังกล่าว ก้าวต่อไปไทยจะต้องเตรียมความพร้อม ก่อนจะก้าวเข้าสู่การประชุม COP 28 ที่ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ช่วงปลายปี 2023 จะต้องมีแนวทางขับเคลื่อนที่สำคัญ ได้แก่

 

‘วราวุธ’ กางโรดแมป Net Zero เร่งขับเคลื่อนสู่ COP 28

 

การจัดทำแผนดำเนินการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับจังหวัด ที่มีความสำคัญไม่แพ้ระดับประเทศ โดยทางกองทุนสิ่งแวดล้อมได้สนับสนุนเงินงบประมาณระหว่างปี 2566-2567 รวม 90 ล้านบาท มีการเร่งปรับแผนลดก๊าซเรือนกระจกรายสาขาไม่ว่าจะเป็นพลังงานขนส่งการเกษตร เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย  NDC ที่จะลดการปลดปล่อยให้ถึง 40% ภายในปี 2030

 

อีกทั้ง การขับเคลื่อนนโยบายด้าน BCG ที่ต้องลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ ไม่เช่นนั้นจะกระทบกับเกษตรกรทั่วประเทศหลาย 10 ล้านคน ซึ่งจากนี้ไปภาคการเกษตรจะต้องปรับตัวทำนาวิถีใหม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม Thai Rice NAMA แบบเปียกสลับแห้ง จะทำให้ใช้ทรัพยากรน้ำลดลง ใช้พลังงานสูบน้ำเข้านาลดลง เพิ่มผลผลิต 20-30% ลดปล่อยก๊าซมีเทน 70%

 

การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอน หรือ CCUS มาใช้เชิงพาณิชย์ ภายในปี 2040 ที่จะต้องปรับปรุงระเบียบกฎหมาย คัดเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสม การส่งเสริมการลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อม สิทธิประโยชน์ทางภาษี การส่งเสริมปูนซีเมนต์ไฮดรอลิค เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงการพัฒนากลไกตลาดคาร์บอนเครดิต ที่มีการออกระเบียบเรียบร้อยแล้ว การเพิ่มแหล่งกักเก็บและดูดกลับก๊าซเรือนกระจก จากการปลูกต้นไม้ รวมถึงการผลักดันร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. … ที่คาดว่าจะนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ในต้นปี 2023

นอกจากนี้ จะจัดตั้งกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม(กรม Climate Change) ที่จะแสดงให้นานาประเทศเห็นถึงความตั้งใจ และความเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหา เพื่อรับมือความท้าทายด้าน Climate Change อย่างเต็มรูปแบบ

 

‘วราวุธ’ กางโรดแมป Net Zero เร่งขับเคลื่อนสู่ COP 28

 

นายวราวุธ ย้ำว่า ความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วน ในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม จะทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ โดยเฉพาะการเร่งพัฒนาศักยภาพของภาคธุรกิจ ในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพราะจากนี้ไปประเทศไทยจะต้องมีการกำหนด Carbon Footprint ให้เป็นภาคบังคับ การขับเคลื่อนจากนี้ไปทุก 1 ตันของก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกมานั้น จะต้องมีการสำรวจ และจำกัดการปล่อย การทำธุรกิจ หรือดีลซื้อขายกับต่างประเทศนั้น จะเริ่มมีมาตรการทางภาษีมากขึ้น เริ่มมีการกีดกันเข้ามามากขึ้น ซึ่งกฎหมายอย่าง Climate Change Act จะเข้ามามีส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทาง ว่าภาคเอกชนและภาคธุรกิจต่าง ๆ ต้องไม่เสียเปรียบในการดีลหรือการทำการค้ากับต่างประเทศ

 

ดังนั้น ภาคธุรกิจจะต้องมาดูเรื่องนี้อย่างจริงจัง ว่าแต่ละองค์กรจะมีการจัดการปัญหาอย่างไร จะปรับตัวอย่างไร ทุกภาคส่วนไม่ว่ารัฐหรือเอกชนต้องเดินหน้าไปพร้อมกัน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง การแก้ไขปัญหากต้องเป็นองคาพยพไปพร้อม ๆ กัน

 

รวมไปถึงต้องอาศัยการมีส่วนร่วม ภาคประชาสังคม  องค์การพัฒนาเอกชน(NGO) ประชาชนทุกคน ทุก ๆ ฝ่าย ในทุก ๆ เรื่อง เป็นภาคบังคับที่อยากให้เกิดขึ้นเป็นอย่างยิ่ง เพื่อการปรับตัวให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศ เชื่อว่าเวลามีไม่มาก แต่ถ้าร่วมมือกันไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้

 

นอกจากนี้ ที่สำคัญอีกสิ่ง เป็นเรื่องของการผลักดันการเพิ่มแหล่งกักเก็บและดูดกลับก๊าซเรือนกระจก จากการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ทุกประเภทเป็น 55% ของพื้นที่ประเทศ ภายในปี 2037 ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่จะเพิ่มพื้นที่ป่าธรรมชาติ 35% ป่าเศรษฐกิจ 15% และพื้นที่สีเขียวในเมืองอีก 5% ซึ่งป่าเศรษฐกิจขณะนี้มีอยู่ 32-33 ล้านไร่ จากเป้าหมาย 50 ล้านไร่ เท่ากับว่าวันนี้ยังขาดอีกเกือบ 16 ล้านไร่

 

‘วราวุธ’ กางโรดแมป Net Zero เร่งขับเคลื่อนสู่ COP 28

 

ทั้งนี้ การผลักดันป่าเศรษฐกิจ ถือเป็นแนวทางหนึ่งในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวทั้งในพื้นที่ป่าและในเมืองให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ ตามพระราชดำริของ องค์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่พระองค์ได้ทรงพระราชทาน ความคิดการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ที่ให้ทุกท่าน ได้กิน ได้ใช้ ได้ขาย สามารถรักษาต้นน้ำ รักษาระบบนิเวศ และยังสามารถแปรสภาพออกมาเป็นคาร์บอนเครดิตได้

 

“ป่าเศรษฐกิจมีศักยภาพในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าป่าสมบูรณ์ หรือว่าป่าธรรมชาติหลายเท่าตัว เนื่องจากเป็นไม้โตเร็วกว่า  ยกตัวอย่างเช่น ไม้ยาง หรือว่าไม้ในเขตป่าเศรษฐกิจที่เป็นไม้โตเร็ว ยิ่งโตเร็วเท่าไหร่ ยิ่งดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากเท่านั้น”

 

เมื่อสามารถเพิ่มพื้นที่ป่าเศรษฐกิจได้ตามเป้าหมาย จะเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง ดินถล่ม และอีกหลาย ๆ สิ่ง หลาย ๆ อย่าง ที่ล้วนแล้วเกิดมาจากมนุษย์ การที่จะส่งเสริม การปลูกป่า ไม่ว่าจะเป็นป่าเศรษฐกิจ หรือพื้นที่สีเขียวใด จะเป็นการบรรเทาความรุนแรงของภัยพิบัติ ที่กำลังจะเกิดขึ้น ฟื้นฟูระบบนิเวศ ได้ในอนาคต