ส่งผลให้ 2 เดือนแรก (มกราคม-กุมภาพันธ์ 2568) มีจำนวนการผลิตรถยนต์ทั้งสิ้น 222,590 คัน ลดลง 19.29% ส่วนการผลิตรถยนต์เพื่อส่งออกเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ผลิตได้ 78,535 คัน ลดลง 9.48% โดยช่วง 2 เดือนแรกปีนี้จึงผลิตเพื่อส่งออกได้เพียง 153,579 คัน ลดลง 15.56% โดยเฉพาะรถยนต์นั่งลดลงถึง 47.01% ตามยอดส่งออกที่ลดลง
ขณะที่จำนวนยานยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนสะสมประเภท BEV ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 มีจำนวนทั้งสิ้น 249,335 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 61.88% โดยเป็นประเภทรถยนต์นั่งและรถยนต์ประเภทต่าง ๆ มีทั้งสิ้น 176,747 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 65.33%
ตัวเลขดังกล่าว กำลังบ่งบอกถึงสัญญาณจุดเปลี่ยนธุรกิจยานยนต์ไทย หรืออุตสาหกรรมยานยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) ยากจะกลับไปสู่ยุครุ่งเรืองได้อีก หลังจากเทรนด์โลกกำลังมุ่งสู่รถยนต์พลังงานใหม่ (NEV)
Krungthai COMPASS คาดการณ์ว่า ในปี 2568-2569 ยอดการผลิตรถยนต์จะอยู่ในระดับต่ำที่ 1.47-1.53 ล้านคัน ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต (ปี 2562-2566) อยู่ราว 15% โดยมีแรงกดดันหลัก 3 ประการ ได้แก่ 1.ยอดขายรถยนต์ในประเทศที่เผชิญปัญหากำลังซื้อที่หดตัวลง จากภาวะหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ปัญหาด้านคุณภาพหนี้ที่แย่ลง ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการซื้อของผู้บริโภค
2.การส่งออกกำลังเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้าง เนื่องจากไทยยังเป็นฐานการผลิตรถยนต์ ICE ที่ผู้บริโภคในตลาดโลกเริ่มให้ความนิยมลดลง จากการถูกทดแทนด้วยรถยนต์พลังงานใหม่ (NEV) และ 3.การแข่งขันด้านราคามีแนวโน้มขยายตัวเป็นวงกว้าง จากภาวะสงครามการค้าสหรัฐอเมริกา-จีน ที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ NEV จีน
ข้อมูลของ Nikkei Asia รายงานว่ากำลังการผลิตรถยนต์ NEV ในจีนมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นไปแตะระดับ 36 ล้านคัน ในปี 2568 ตามแผนการขยายกำลังการผลิตของผู้ประกอบการ ซึ่งคาดว่าจะมีการผลิตที่ราว 23.4 ล้านคัน (CAP-U 65%) โดยคาดว่ากำลังซื้อในจีนอาจช่วยดูดซับได้ราว 17 ล้านคัน เท่านั้น
ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวจีนจะมีกำลังการผลิตส่วนเกินสูงกว่า 6 ล้านคัน ที่ต้องเร่งระบายออกสู่ตลาดโลก ถือเป็นปริมาณที่สูงกว่าการส่งออก NEV ในปี 2566-2567 ของจีนที่ 1.2 ล้านคัน และ 1.32 ล้านคัน ถือเป็นการซํ้าเติมปัญหา Over Supply และ กดดันให้สงครามราคาขยายตัวเป็นวงกว้างมากขึ้น
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมยานยนต์ เป็น 1 ในอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย สะท้อนจากมูลค่าตลาดที่สูงถึง 2.1 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนถึง 11% ของ GDP อีกทั้งยังมีจำนวนผู้ประกอบการ กว่า 2,400 บริษัท และมีการจ้างงานถึง 690,000 คน
จากสัญญาณดังกล่าว คาดว่าแรงงานกว่า 110,000 คน ซึ่งคิดเป็น 16.3% ของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย มีความเสี่ยงที่จะต้องย้ายไปทำงานในอุตสาหกรรม อื่น ๆ หาก 1.ปริมาณการผลิตรถยนต์ไทยอยู่ในระดับต่าอย่างต่อเนื่องเป็นระยะยาวเวลานาน ซึ่งอาจกระทบการจ้างงาน 103,500 คน หรือ 15% ของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย
และ 2.ผู้ผลิตชิ้นส่วนไม่สามารถปรับตัวให้สอดรับกับกระแส NEV โดยเฉพาะในพาร์ทที่มีความเสี่ยงจะถูก Disrupt สูง อาทิ เครื่องยนต์ ICE ระบบนํ้ามันเชื้อเพลิง ท่อไอเสีย และเกียร์ ซึ่งจะนำไปสู่ความเสี่ยงด้านการจ้างงาน 8,700 คน คิดเป็น 1.3% ของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย
ดังนั้น อุตสาหกรรมยานยนต์ในอนาคตจำเป็นต้องจับตา ว่าไทยจะยังสามารถรักษาฐานการผลิตรถยนต์ ICE ไว้ได้หรือไม่ ในขณะที่จีนได้รุกเข้ามาตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ BEV ในไทยมากขึ้น อีกทั้งผู้ผลิตชิ้นส่วน จะสามารถปรับตัวได้มากน้อยแค่ไหน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง